ไปที่อื่นมาก็เยอะแล้ว วันนี้เราไปแวะชมไดโนเสาร์ กันบ้างนะ
หากพูดถึงภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้วหลายๆ คงทราบดีว่าเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมต่างๆมากมาย วันนี้ทางผู้เขียนจะขอนำท่านมายัง ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น สถานที่แห่งนี้ เปิดให้บริการทุกวัน (ปิดวันจันทร์ ยกเว้นวันจันทร์ที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 8.30-17.00 น. โทร. (043) 438204-6
ท่านสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภายในตัวอาคารส่วนหนึ่งจัดแสดงเรื่องราวของการขุดค้นพบไดโนเสาร์ ที่จังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียง เพื่อเผยแพร่ผลงานของกรมทรัพยากรธรณีให้กับนักท่องเที่ยว ส่วนที่เหลือจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดโลก กำเนิดหิน แร่ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และสิ่งสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ และทางธรรมชาติของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ความรู้กับเยาวชน และผู้ที่สนใจ
ประวัติความเป็นมา จากเอกสารต่างๆที่ทางผู้เขียนได้เจอบอกไว้ว่า ฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกของไทยพบที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในปี 2519 โดยนายสุธรรม แย้มนิยม อดีตนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ขณะสำรวจแร่ยูเรเนียม ในหมวดหินเสาขัว ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยประตูตีหมา กระดูกชิ้นนี้มีความกว้างยาวประมาณ 1 ฟุต จากการเปรียบเทียบพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งมีขนาดใหญ่ยาวประมาณ 15 เมตร และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นส่วนปลายล่างสุดของกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์จำพวกกินพืช การสำรวจไดโนเสาร์ที่ภูเวียงได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2524 โดยนายเชิงชาย ไกรคง นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณี ได้พาคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย และฝรั่งเศสขึ้นไปสำรวจกระดูกไดโนเสาร์บริเวณยอดห้วยประตูตีหมา อำเภอภูเวียงคณะสำรวจพบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชขนาดใหญ่ รวมทั้งฟันจระเข้ กระดองเต่า ฟันและเกล็ดปลาโบราณ และจากการสำรวจในเวลาต่อมาได้พบกระดูกไดโนเสาร์อีกหลายชนิด ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงจัดตั้งขึ้น โดยความร่วมมือของกรมทรัพยากรธรณี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ สำหรับให้การศึกษาแก่เยาวชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น แหล่งขุดค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์
ภายหลังจากการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกแล้ว ต่อมาได้มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลรวมถึงรอยเท้าไดโนเสาร์ รวม 9 หลุม ดังนี้
หลุมที่ 1 (ประตูตีหมา) พบกระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่จำนวนมากเรียงรายอยู่ในชั้นหิน
หลุมที่ 2 (ถ้ำเจีย) พบกระดูกส่วนคอของไดโนเสาร์ซอโรพอดเรียงต่อกัน จำนวน 6 ชิ้น
หลุมที่ 3 (ห้วยประตูตีหมา) พบกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครงหลายชิ้น ของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่
หลุมที่ 4 (โนนสาวเอ้) พบฟอสซิลกระจายเป็นบริเวณกว้างกว่า 10 ตารางเมตร ประกอบด้วยกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ และที่อยู่ในวัยเยาว์ นอกจากนั้นยังพบเกล็ดปลาเลปิโดเทสและกระดองเต่า
หลุมที่ 5 (ซำหญ้าคา)
หลุมที่ 6 (ดงเค็ง)
หลุมที่ 7 (ภูน้อย) พบไดโนเสาร์ทั้งขนาดใหญ่และที่ยังเยาว์ และยังพบฟอสซิลของจระเข้ขนาดเล็กอีกด้วย
หลุมที่ 8 (หินลาดป่าชาด) พบรอยเท้าไดโนเสาร์ มากกว่า 60 รอยใน 10 แนวทางเดิน เป็นของไดโนเสาร์พวกกินเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งเดินด้วย 2 ขาหลัง
หลุมที่ 9 (หินลาดยาว) พบกระดูกสันหลังหลายชิ้นโผล่มาจากชั้นหินทรายสีแดงของหมวดหินเสาขัว และยังพบส่วนของสะโพกด้านซ้ายและกระดูกส่วนหางกว่า 10 ชิ้น ของพวกไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 6.5 เมตร