เท็จที่ว่าตลาดที่อยู่อาศัยส่งสัญญาณดีขึ้น
ที่มีสื่อลงข่าวว่าตลาดที่อยู่อาศัยกำลังไปได้ด้วยดี ส่งสัญญาณดีขึ้นนั้น เป็นข่าวเท็จไม่เป็นความจริง อย่าไปเชื่อ อาจนำไปสู่การลงทุนผิด ๆ และทำให้เจ๊งได้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ความเห็นแตกต่างจากหน่วยงานแห่งหนึ่งที่วิเคราะห์ว่าตลาดที่อยู่อาศัยส่งสัญญาณดีขึ้น โดยให้เหตุผลว่าอุปทานในไตรมาสของปี 2561ในแง่จำนวนโครงการ จำนวนหน่วย และมูลค่าการพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าตัวเลขของไตรมาสแรกปี 2560 ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นเท็จ เพราะในความเป็นจริงจำนวนโครงการ และจำนวนหน่วยที่เปิดในปี 2560 มีมากกว่าปี 2561 ถึง 13-14%
การที่หน่วยงานดังกล่าววิเคราะห์ผิดพลาดก็เป็นเพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงเข้าใจว่าการเปิดตัวโครงการในปีที่แล้วมีจำนวนน้อยกว่า อย่างไรก็ตามมูลค่าการพัฒนาในไตรมาสแรกของปีนี้มีมากกว่าปีที่แล้วจริง ทั้งนี้เป็นเพราะโครงการต่าง ๆ เน้นเปิดที่อยู่อาศัยในระดับราคาสูง ส่วนที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนระดับปานกลางและล่างเปิดน้อยกว่าเดิมมาก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อจึงตกต่ำ การหลงเชื่อข้อมูลที่ผิดอาจนำไปสู่การลงทุนที่ผิดพลาด ดร.โสภณจึงออกมาเตือนดังกล่าว
สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย กทม.และปริมณฑล | |||
รายการ | ไตรมาส 1/2561 | ||
2560 | 2561 | เปลี่ยนแปลง | |
จำนวนโครงการ | 112 | 96 | -14% |
จำนวนหน่วย | 28,924 | 25,026 | -13% |
มูลค่า | 95,390 | 103,443 | 8% |
ราคาเฉลี่ย | 3.298 | 4.133 | 25% |
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย | |||
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) |
ยิ่งกว่านั้นจะเห็นได้ว่า (https://bit.ly/2vRU9WQ)
1. ในแต่ละเดือนการจองซื้อที่อยู่อาศัยทุกประเภทในรอบ 12 เดือนล่าสุด (เมษายน 2560 - มีนาคม 2561) มีค่าอยู่ที่ประมาณ 15% - 48% ของหน่วยที่เปิดขาย และหากคิดเฉพาะโครงการอาคารชุด ซึ่งน่าจะขายดีกว่า จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 26% - 69% ถ้าดูเบื้องต้นตามนี้จะเห็นได้ว่ามีคนจองซื้อห้องชุดมากกว่าที่อยู่อาศัยแบบอื่น ห้องชุดมีแนวโน้มที่ขายดีกว่าที่อยู่อาศัยแบบอื่น
2. ถ้าดูจากเส้นแนวโน้มจะเห็นได้ว่า ในส่วนของที่อยู่อาศัยทุกแบบ (เส้นหนาสีน้ำเงิน) เส้นแนวโน้มค่อนข้างคงที่อยู่ที่ประมาณ 32% ของหน่วยขายทั้งหมดที่เปิดตัว ส่วนหากพิจารณาเฉพาะโครงการอาคารชุด จะพบว่ามีแนวโน้มขายได้เพิ่มมากขึ้นจาก 34% - 48% (เมษายน 2560 - มีนาคม 2561) เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้เป็นเพราะในเดือนกุมภาพันธ์มีสัดส่วนการขายสูงสุดถึง 69% ของการจองในเดือนแรก แต่ถ้าตัดเดือนกุมภาพันธ์ออก แนวโน้มจะเติบโตจาก 36% ในเดือนเมษายน 2560 - 41% ในเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งถือว่าไม่มากนัก แสดงว่าแม้แต่ในกรณีโครงการอาคารชุด ก็ไม่ใช่ว่าจะขายห้องชุดได้ในแนวโน้มที่มีอัตราการขายที่สูงขึ้นแต่อย่างใด
3. ดร.โสภณ ยังนำเสนอให้เห็นถึงเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average หรือ MV) ในกรณี MV จะพบว่า เส้นค่าเฉลี่ยทั้งสองเส้นของอัตราการขายได้หรือจองซื้อของที่อยู่อาศัยทั้งหมด และของห้องชุด ไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยิ่งหากเอาเส้นค่าเฉลี่ยมาทำเส้นแนวโน้มอีกรอบหนึ่ง คงจะเห็นแนวโน้มถดถอยลงด้วยซ้ำไป
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังไมได้ฟื้นตัว ทั้งนี้คงเป็นเพราะเศรษฐกิจของไทยยังชะลอตัวอยู่ ถึงแม้มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่ก็เป็นการเติบโตแบบ "ยกแผง" ทั้งอาเซียนและก็ยังต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไน) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ จะพยายามติดตามสถานการณ์มานำเสนออย่างใกล้ชิดต่อไป
ดร.โสภณ ยังแถลงว่าจากการสำรวจข้อมูลของศูนย์ฯ พบว่า ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2561 ปรากฏว่ามีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 109 แห่ง รวม 26,590 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 108,280 ล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละ 4.072 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากนำตัวเลขนี้ไปคูณด้วย 12 และหารด้วย 4 และบวกเพิ่มอีก 20% เพื่อให้ได้ตัวเลขประมาณการโดยรวมของทั้งปีโดยเกลี่ยกับการผกผันตามฤดูกาล แล้วนำผลนี้ไปเทียบกับปีที่แล้ว จะพบว่า ปีนี้น่าจะมีโครงการเปิดใหม่ 392 โครงการ 95,724 หน่วย รวมมูลค่า 389,808 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2557 จะพบว่า
จำนวนโครงการลดลง 4%
จำนวนหน่วยขายลดลง -16%
มูลค่าการเปิดตัวใหม่ ลดลง -12%
ราคาเพิ่มขึ้น 6%
การเปลี่ยนแปลงตลาดที่อยู่อาศัย กทม.และปริมณฑล พ.ศ.2560-1 | ||||
ปี | จำนวน | จำนวน | มูลค่า | เฉลี่ย/หน่วย |
โครงการ | หน่วย | (ล้าน บ) | (ล้าน บ) | |
4 เดือนแรกของปี 2561 | 109 | 26,590 | 108,280 | 4.072 |
คาดการณ์ปี 2561 | 392 | 95,724 | 389,808 | 4.072 |
พ.ศ.2560 | 410 | 114,477 | 441,661 | 3.858 |
การเปลี่ยนแปลง | -4% | -16% | -12% | 6% |
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย | ||||
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) |
การนี้ชี้ว่าภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกำลังหดตัวลง เพราะกำลังซื้อลดลงตามลำดับ การพัฒนาที่อยู่อาศัยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลมากเป็นพิเศษ