กรมอุทยานฯ ต้องมีวิสัยทัศน์ ดูป่าไม่ใช่เห็นแต่ไม้-สัตว์
มีข่าวว่าโรงแรมอนันตรา สิเกา จะถูกรื้อเซ่นการแพ้คดีในชั้นฎีกา เพราะอยู่ในเขตอุทยาน แต่ ดร.โสภณ ยกขอคิดเรื่องวิสัยทัศน์การจัดการทรัพยากรเพื่อชี้ให้เห็นว่าหากรื้อก็แสดงถึงการขาดวิสัยทัศน์ด้านการจัดการทรัพยากร กลายเป็นการเห็นต้นไม้ เห็นสัตว์ แต่ไม่เห็นป่า ไม่เห็นทรัพยากรในองค์รวม ท้องถิ่นควรร่วมกันเรียกร้องให้ทางราชการเห็นแก่ประโยชน์ต่อส่วนรวม
ดูวิดิโอ fb Live ได้ที่ลิงค์นี้: https://fb.com/dr.sopon4/videos/1600429940069586/
ดูวิดิโอ Youtube ได้ที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/NaLxCwEddAU
มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ให้ บจก.เจบีบีเจ้าของโรงแรมอนันตรา สิเกา รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่แพ้คดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชสั่งฟ้องในฐานที่เอกสารสิทธิ์ขนาด 37 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา ออกโดยมิชอบและอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม (https://bit.ly/2k9B8Gv) ต่อกรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ และผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ให้ความเห็นว่า อันที่จริงทางออกของกฎหมายก็มีช่องทาง โดยไม่ควรมองเฉพาะด้านกฎหมายอย่างเถรตรงจนเกินไป
ดร.โสภณ ให้ข้อคิดว่าการรื้อถอนโรงแรมเช่นนี้ นับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปเปล่าประโยชน์ และถือเป็นการมีอคติต่อการจัดการทรัพยากร แม้กรมจะมีหน้าที่เกี่ยวกับอุทยาน ไม่ได้เกี่ยวกับการโรงแรมโดยตรง แต่การมีรายได้มาเพิ่มเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดูแลอุทยาน ก็สามารถทำได้ อาจจะนำเงินส่วนหนึ่งมาอุดหนุนท้องถิ่น ปลูกป่า ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ปราบปรามการทำลายป่าหรือให้การศึกษาแก่ประชาชนก็ยังสามารถทำได้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในบริเวณใกล้เคียงน่าจะช่วยกันเรียกร้องให้กรมนำกลับไปพิจารณาให้ถ้วนถี่
ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2547 ระบุว่า
ข้อ 9 ระบุว่า "การขออนุญาต. . .ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกำหนดจุดที่ตั้ง จัดทำแผนผัง กำหนดจำนวนแปลงเพื่อกิจการต่าง ๆ แล้วรายงานกรม. . .สำหรับกิจการที่จะอนุญาต. . .มีดังนี้. . .ข.ที่พักอาศัยหรือกิจการอื่นที่จำเป็นแก่การท่องเที่ยว. . .
ข้อ 15 การรอนุญาต. . .ใบอนูยาตให้กำหนดอายุดังนี้. . .
ข. ที่พักอาศัย. . .
(1) ไม่เกิน 5 ปี สำหรับพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร
(2) ไม่เกิน 10 ปี สำหรับพื้นที่เกิน 2,000 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 8,000 ตารางเมตร
(3) ไม่เกิน 30 ปี สำหรับพื้นที่เกิน 8,000 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 32,000 ตารางเมตร
ข้อ 16 ในกรณีที่มีความจำเป็น. . .ให้มีสิ่งปลูกสร้างตามแบบที่อธิบดีเห็นสมควร โดยให้บุคคลอื่นซึ่งได้ยื่นขอคำอนุญาต. . .เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง. . .
โดยนัยนี้กรมฯ สามารถให้เช่าได้ แต่หากไม่ให้เช่า อาจถูกผู้ที่เกี่ยวข้องฟ้องร้องในฐานที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการก็อาจเป็นได้ กรมจึงควรพิจารณาให้ชัดเจน ที่ผ่านมา ในบางกรณีกรมเคยขอให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความการให้เช่า "ของกลาง" แต่สรุปว่าไม่ให้เช่า ให้ทุบทิ้ง กรณีนี้จึงอาจเป็นการขัดต่อระเบียบของกรมเอง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งประชาชนในท้องที่ควรเรียกร้องให้กรมได้พิจารณาใหม่
หากพิจารณาจากความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า
1. โรงแรมตั้งอยู่บริเวณเขตที่สภาพแวดล้อมของป่าค่อนข้างเสื่อมโทรม มีพื้นที่โล่งอยู่เป็นอันมาก ไม่ได้มีสภาพเป็นอุทยานทางทะเลที่สวยงามเช่นบริเวณอื่น เป็นทางสัญจรระหว่างชุมชน
2. ในเขตอุทยาแห่งชาติสิเกา ก็ยังมีโรงแรมอื่นอยู่หลายแห่ง แต่เจาะจงฟ้องแต่โรงแรมแห่งนี้หรืออย่างไร กรณีกรมควรมีคำชี้แจงเช่นกัน
3. สำนักงานอุทยานแห่งชาติสิเกา คงใช้ที่พักข้าราชการ มาดัดแปลงเป็นบ้านพักอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อันที่จริงสำนักงานควรใช้ทรัพย์สินให้ตรงวัตถุประสงค์ และควรหารายได้อย่างตรงไปตรงมาโดยนำโรงแรมอนันตรา สิเกานี้มาประมูลเพื่อใช้ประโยชน์นำเงินมาบำรุงประโยชน์ต่อประชาชนจะดีกว่านี้
กรมและทุกฝ่ายคงต้องการที่จะรักษาป่าไม้และอุทยาน แต่พึงพิจารณาด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่านี้ ไม่ใช่มองแค่การฟื้นฟูต้นไม้ แต่ทรัพยากรป่าและอุทยานนั้น ควรมีการจัดการทรัพย์สินที่ดีกว่านี้ เพื่อนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์เพื่อกิจการของกรมตลอดจนการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่านั่นเอง
ที่มา : http://bit.ly/2s6e1B2