ระวังผู้ป่วยจิตเวช “ดื่มน้ำเกิน 3 ลิตร” เกิดภาวะน็อคน้ำเกร็ง กระตุก ชัก หมดสติ
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นห่วงผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการรักษาและแพทย์ให้กินยารักษาควบคุมอาการป่วย ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยจิตเวชทั่วประเทศที่อยู่ในระบบการรักษาในปี 2560 แล้ว 2 ล้าน 6 แสนกว่าคน
ประมาณร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท ( Schizophrenia) ชนิดเรื้อรัง ซึ่งยาที่ใช้รักษาควบคุมอาการส่วนใหญ่อาจมีผลข้างเคียง ทำให้คอแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำได้
ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงดื่มน้ำมากเกินปกติ คือเกินวันละ 3,000 ซี.ซี. ซึ่งตามปกติร่างกายคนเราต้องการน้ำวันละ 1,500-3,000 ซีซี.หรือลิตรครึ่ง- 3 ลิตร ขึ้นอยู่สภาพอากาศของแต่ละท้องที่
หากผู้ป่วยดื่มในปริมาณมากกว่าวันละ 3000 ซีซี.ติดต่อกัน อาจจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าภาวะน้ำเป็นพิษได้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า น็อคน้ำ
ทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายคือเกลือโซเดียมในเลือดลดต่ำกว่าปกติ โดยภาวะน้ำเป็นพิษนี้สามารถพบได้ในคนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิตเภทแต่ดื่มน้ำมากเกินความต้องการร่างกายได้เช่นกัน
ผู้ป่วยจิตเวชที่มีภาวะน้ำเป็นพิษ มักจะปรากฏอาการตอนบ่ายหรือช่วงเย็นๆ เช่นกระวนกระวาย กระสับกระส่าย หงุดหงิด ก้าวร้าวมากขึ้น บางรายปวดศีรษะมาก มีนงง สับสน อาเจียนเป็นน้ำ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ทำให้ปัสสาวะราด
หากเป็นมากอาจเดินเซ เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจเกิดอาการชักเกร็ง กระตุก ถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงขอให้ญาติระมัดระวังดูแลเรื่องการดื่มน้ำของผู้ป่วยจิตเวชด้วย ในกรณีที่พบผู้ป่วยจิตเวชมีอาเจียนเป็นน้ำ มีนงง สับสน หรือชัก ให้รีบนำสั่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที และแจ้งประวัติผู้ป่วยให้แพทย์ทราบทุกครั้ง เพื่อการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้อง
นายแพทย์นพดล วาณิชฤดี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม.กล่าวว่า ปริมาณน้ำดื่มที่ควรดื่มในแต่ละวันนั้น สามารถคำนวณได้จากสูตรดังนี้
คือ น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมแล้วคูณด้วย 33 เช่นคนน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ปริมาณที่ควรดื่มต่อวันคือ 1,980 ซีซี. หรือประมาณ 2 ลิตร โดยพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงเกิดปัญหาดื่มน้ำมากผิดปกติที่พบได้บ่อยๆ มี 3 ลักษณะเด่นดังนี้
1 มักจะถือแก้วน้ำหรือขวดน้ำติดตัวบ่อยๆเกือบตลอดเวลา 2. เข้าห้องน้ำนานและเสื้อเปียกบ่อยๆ 3. ไม่ยอมกินอาหาร หรือกินอาหารน้อยลงแต่จะขอดื่มน้ำชนิดต่างๆแทน ที่ผ่านมาที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา พบผู้ป่วยจิตเวชเกิดปัญหาน้ำเป็นพิษเฉลี่ยเดือนละ 3-4 คน
หากพบว่าผู้ป่วยจิตเวชมีพฤติกรรมดื่มน้ำมากเกินปกติ ขอแนะนำให้ญาติควรพูดคุยด้วยความนุ่มนวลหลีกเลี่ยงการตำหนิ หรือการว่ากล่าวผู้ป่วยอย่างรุนแรง เนื่องจากอาจสร้างความเครียดให้ผู้ป่วย ทำให้อาการกำเริบได้
ขอแนะนำให้ดำเนินการต่อไปนี้ 1. ควรทำข้อตกลงและให้ผู้ป่วยค่อยๆปรับลดปริมาณน้ำดื่ม โดยให้จดบันทึกปริมาณน้ำดื่ม หากทำได้ อาจมีรางวัลให้ผู้ป่วย 2.อาจให้ผู้ป่วยจิบน้ำทีละน้อย หรือให้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆหรือเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลแทนก็ได้ จะทำให้ชุ่มคอ ช่วยลดอาการกระหายน้ำได้
3.ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่สำรองน้ำอัดลมหรือน้ำขวดทุกชนิดไว้ในบ้าน 4.หากิจกรรมเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ให้ผู้ป่วยหมกมุ่นกับการดื่มน้ำอย่างเดียว เช่น ชวนเล่นเกมง่ายๆที่ผู้ป่วยเล่นได้ หรือสนุกสนาน และ 5. หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารรสจัด เช่น เค็ม เผ็ด หวาน เนื่องจากจะกระตุ้นให้ดื่มน้ำมากขึ้น