สาวชุดไทยหน้าบึ้ง ต้องโทษนายจ้าง!
เห็นสังคมออนไลน์ประณามกันจังเรื่องสาวชุดไทยหน้าบึ้ง จนถึงขั้นไล่ออกไปแล้ว แต่ ดร.โสภณ ฟันธง ความผิดอยู่ที่บริษัทนายจ้าง ไม่ใช่สาวคล้องพวงมาลัย
ตามที่มีข่าว "ไล่ออกแล้ว! 2 สาวชุดไทยหน้าบึ้ง-คล้องมาลัยทัวร์จีน ช่างภาพโดนพักงาน 7 วัน" (https://bit.ly/2rvydv6) กรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะกรรมการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นส่วนตัวว่า ความผิดของสาวไทยทั้งสองก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่มาของปัญหา และความผิดอยู่ที่บริษัทต่างหาก
ที่มาของภาพ: www.youtube.com/watch?v=AxbHJwCBFH0
ก่อนอื่น ดร.โสภณ ชี้ให้เห็นว่าตามภาพที่ปรากฏสาวคนดังกล่าว ต้องคล้องพวงมาลัยไว้ที่แขนเป็นจำนวนมาก สภาพการทำงานแบบนี้ ควรได้รับการปรับปรุงเช่นกัน และหากมีการต้อนรับนักท่องเที่ยววันละ 2,000 คนจริง ในเวลาทำงาน 7 ชั่วโมง ก็เท่ากับต้องคล้องพวงมาลัยถึง 5 คนในเวลา 1 นาทีโดยเฉลี่ย จนดูคล้ายทำให้คนกลายเป็นหุ่นยนต์ไป การที่บริษัทนายจ้างให้ทำงานหนักเช่นนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขในการทำงาน โอกาสที่จะทำให้พนักงานทำงานโดยไม่เต็มใจจึงเกิดขึ้นได้
ยิ่งกว่านั้นหากพนักงานเหล่านี้ได้รับค่าจ้างคนละ 500 บาทต่อวัน ก็เท่ากับการคล้องพวงมาลัง 1 ครั้ง พวกเขาคงได้รับเงินเพียง 25 สตางค์เท่านั้น การจ้างงานในลักษณะนี้จึงถือเป็นการเอาเปรียบพนักงาน ความเต็มใจในการทำงานก็น้อย แต่พนักงานก็ต้องทนทำงานต่อไป เพราะถ้าลาออกก็คงไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว พวกเขาจึงคงต้องทำงานไปจนกว่าจะสามารถหางานใหม่ที่ดีกว่านี้ ภาวะความล้าจึงเกิดขึ้น
ในกรณีนี้นายจ้างควร
1. จ้างพนักงานเพิ่มเติมเพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำงาน ไม่ใช่ให้ทำงานคล้องวันละ 2,000 คนเช่นนี้ พนักงานจะได้ทำงานด้วยความเต็มใจกว่านี้ ไม่ใช่ทนทำงานเพื่อรองานใหม่
2. จัดสภาวะแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น เช่น มีถาดวางพวงมาลัย แทนที่จะต้องคล้องไว้ที่แขนเป็นจำนวนมากมายเช่นนี้ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจัดหาพวงมาลัยต้นทุนต่ำ ๆ มาให้บริการ
3. ให้ค่าจ้างและสวัสดิการเพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้สามารถคัดเลือกพนักงานที่มีจิตใจบริการมาทำงานมากขึ้น
4. จัดการตรวจสอบการทำงานเพื่อปรับปรุงบริการ ก่อนที่จะถูกนำไปล้อเลียนเช่นที่เกิดขึ้น
ดังนั้นในแง่นี้ บริษัทที่จ้างพนักงานมาทำงานจึงต้องได้รับการตำหนิมากกว่าพนักงานเสียอีก ค่าจ้างและสวัสดิการสำหรับคนทำงานคงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรายได้ของบริษัท บริษัทจึงควรเจียดมาให้พนักงานมากกว่านี้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง บริษัทดังกล่าวอาจได้รับจ้างงานมาในราคาถูกจากบริษัททัวร์ของจีน ทำให้ต้องกระเบียดกระเสียรจนเกินพอดี ในแง่นี้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ควรตรวจสอบและไม่ควรปล่อยให้บริษัทคนไทยถูกจีนเอาเปรียบจนเกินไปเช่นกัน
อย่าให้พนักงานสาวคล้องพวงมาลัยเป็น "แพะบูชายัญ"
ปล. กระแสสังคมออนไลน์ เป็นเพียงสิ่ง "ดรามา" ไม่ได้สะท้อนความเห็นของคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่สื่อมักนำมานำเสนอเพื่อขายข่าวเป็นสำคัญ ทุกฝ่ายพึงสังวร
ที่มา : https://bit.ly/2IuJ1nI