Geoffrey Bawa : สถาปนิกผู้ทำให้เราซึ้งถึงคำว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน”
>>> Geoffrey Bawa : สถาปนิกผู้ทำให้เราซึ้งถึงคำว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” <<<
.
Geoffrey Bawa เกิดใน Ceylon ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นศรีลังกาใน 1972 ในครอบครัวที่พ่อเป็นทนายความชาวมุสลิมที่ประสบความสำเร็จมากๆ ส่วนแม่ก็เป็นลูกครึ่งเยอรมัน สก็อตแลนด์ และสิงหล มีพี่ชายคนหนึ่งเป็นภูมิสถาปนิก
.
เขาเริ่มอาชีพแรกด้วยการทำงานกฎหมายในอังกฤษตามสายงานที่เรียนมา และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็กลับมาเป็นทนายที่บ้านเกิด เขาเริ่มความสนใจในเรื่องการจัดสวนและสถาปัตยกรรมในปี 1948 หลังจากการเสียชีวิตของแม่ และได้ออกเดินทางไปยังหลายๆ ประเทศทั่วโลกแต่ก็ยังไม่พบตัวเอง จนได้มาทำสวนยางพาราที่ Lunuganga แล้วคิดอยากจะทำสวนสไตล์อิตาเลียนจากต้นไม้เมืองร้อน จึงต้องการหาทักษะทางด้านภูมิสถาปัตย์เพิ่มเติม
เมื่อค้นพบความชอบในเรื่องสถาปัตยกรรม เขาก็ไปฝึกงานกับ HH Reid ออฟฟิศสถาปัตยกรรรมใน Ceylon และความตั้งใจอันแรงกล้านี้ ยังส่งให้เขาไปศึกษาต่อโดยตรงด้านสถาปัตยกรรมที่ Architectural Association ในลอนดอน และจบการศึกษาเมื่ออายุ 38 ปี เมื่อกลับมาบ้านเกิด เขาก็ร่วมกับเพื่อนๆ ที่ฝึกงานร่วมกันมาเปิดบริษัททำงานออกแบบ
.
ในความคิดและจินตนาการด้านงานออกแบบ เขาพยายามค้นหาสถาปัตยกรรมแบบศรีลังกา ด้วยการผสมผสานความเป็นพื้นบ้านเข้ากับงานโมเดิร์น ซึ่งก็เข้าตาศิลปินและสถาปนิกหลายๆ ท่านด้วยเอกลักษณ์ที่ผสมผสานความเป็นนานาชาติแบบโมเดิร์นให้เข้ากับวัฒนธรรม ศิลปะพื้นถิ่นและสภาพภูมิประเทศริมทะเลของศรีลังกาได้แบบลงตัว นับเป็นครั้งแรกที่มีการนิยามถึงคำว่า Tropical Modern ที่คูลมากๆ ในตอนนั้น
ตัวอย่างเช่น บ้าน Ena de Silva House ซึ่งผสมผสานการเปิดผังพื้นโอเพ่นแบบโมเดิร์นเข้ากับการตกแต่งในสไตล์ Colombo ของ Ceylon เช่นเดียวกันกับ Batujimbar Estate ที่ประยุกต์ความเป็นโมเดิร์นให้เข้ากับขนบแบบบาหลี ซึ่งสถาปัตยกรรมแบบนี้เป็นที่นิยมมากในการออกแบบโรงแรม ที่แต่ละที่ดินปลูกสร้างก็ให้ความเฉพาะกับอาคารในแต่ละที่ คือ โลเคชั่นที่ต่างกัน ก็มอบความรู้สึกของแต่ละอาคารที่แตกต่างกัน หรือที่ดังมากก็ Bentota Beach Hotel รีสอร์ตเปิดวิวธรรมชาติริมหาดเต็มที่ แต่ก็ยังใช้ชีวิตชิคๆ แบบโมเดิร์นได้
.
การพัฒนาแนวคิด Tropical Modernism ยังไม่หยุดยั้งแค่นั้น เขาพยายามศึกษาหาความงามแบบคราฟต์จากวัสดุและงานฝีมือพื้นถิ่นของศรีลังกาเพื่อให้ประยุกต์เข้ากับงานสถาปัตยกรรมจากศิลปินและนักออกแบบในท้องถิ่นหลายๆ คน จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมยุคใหม่หลังโคโลเนียลของศรีลังกา
.
เมื่อ Ceylon กลายมาเป็น ศรีลังกา รัฐบาลก็มอบหมายโปรเจ็คท์ใหญ่ๆ ให้กับ Bawa อย่างอาคารรัฐสภาศรีลังกา โดดเด่นด้วยการใช้หลังคาลาดเอียง และองค์ประกอบที่ดูเป็นพื้นถิ่นก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง นับเป็นโปรเจ็คท์ใหญ่ที่สุดของเขา และมีความเป็นนานาชาติในขณะเดียวกันก็มีความเป็นศรีลังกาจากวัสดุที่นำมาประดับตกแต่ง
นช่วงท้ายของการทำงานสถาปัตยกรรม Bawa เน้นไปทาง conceptual มากขึ้น ตัวอย่างงานช่วงนี้เช่น Kandalama Hotel และ Blue Water Hotel ที่ดูเป็นมินิมัลมากกว่างานชิ้นก่อนๆ หน้า แต่ก็เป็นความงามแบบเรียบเฉียบที่ผสมผสานเข้ากับธรรมชาติเขตเมืองร้อนได้อย่างลงตัว
.
สถาปัตยกรรมที่ Bawa ได้มอบให้กับวงการนั้น ไม่เพียงแต่สร้างคุณค่าให้กับศรีลังกาหรือกับประเทศในเขตร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการประยุกต์บริบทรอบข้างให้เข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันภายในอาคารอยู่อาศัยได้อย่างลงตัว คิดง่ายๆ สภาพอากาศหรือถิ่นที่อยู่เราบังคับมันไม่ได้ แต่สถาปัตยกรรมและการใช้ชีวิตต่างหากที่เราออกแบบได้
ขอบคุณข้อมูล และ ภาพถ่ายจาก : บ้านและสวน