ไม่เลือกตั้ง ไม่เจริญ
ถ้าไม่เลือกตั้ง ชาติไม่เจริญ ดัชนีความโปร่งใสบอกให้รู้ว่า ไทยยังไม่เป็นอารยะเพราะใช้ปืนคุม ความเจริญจึงไม่เกิด ยกเว้น "เจริญสิริวัฒนภักดี" กับ "เจริญโภคภัณฑ์"
ดัชนีความโปร่งใส หรือในอีกมุมหนึ่งคือ Corruption Perception Index (CPI) ออกมาแล้ว ปรากฏว่าไทยได้คะแนนต่ำเหมือนเดิม อันนี้แสดงว่าการทุจริตยังเหมือนเดิม ความโปร่งใสมีน้อย จากคะแนน 10 ยังต้วมเตี้ยมอยู่แถว 3.7 เรามาดูกันในรายละเอียดของค่าดัชนีความโปร่งใสนี้สักหน่อย กล่าวคือการที่ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใสอยู่ที่ 3.7 เต็ม 10 แสดงว่ายัง "สอบตก" (https://goo.gl/HCBgSF)
ถ้าเทียบกับประเทศในอาเซียนจะพบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 4 ร่วมกับอินโดนีเซีย รองจากสิงคโปร์ บรูไนและมาเลเซีย เฉือนชนะฟิลิปปินส์ และประเทศที่เพิ่งพัฒนามา คือ กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม อย่างไรก็ตามขณะที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2555-2560) คะแนนของประเทศไทยคงที่เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ แต่เมียนมา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซียกลับมีคะแนนถีบตัวสูงขึ้นอย่างเด่นชัด สิงคโปร์และมาเลเซียแม้มีคะแนนลดลงเล็กน้อย แต่ก็ยังสูงกว่าประเทศไทยมาก ประเทศที่ยังช้าในด้านความโปร่งใสกว่าเพื่อนก็คือกัมพูชา
จะสังเกตได้ว่ามีประเทศที่เคยได้คะแนนน้อยกว่าเราในปี 2555 แต่ขณะนี้ถีบตัวสูงขึ้นไปจนเท่ากับหรือสูงกว่าคะแนน 3.7 ของไทยเราแล้ว ได้แก่ กรีก ติมอร์เลสเต อาร์เจนตินา โดยเฉพาะอินเดีย และอินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศขนาดใหญ่กว่าไทยมาก ยังพัฒนาไปไกลกว่าไทยด้านความโปร่งใส ยิ่งถ้าเทียบกับจีน จีนก็ยังมีความโปร่งใสกว่าไทยโดยได้คะแนน 4.1 จาก 10
สาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยได้รับการประเมินที่เดิมคือ 3.7 คะแนนจากปี 2555 เทียบกับปี 2560 นั้น ก็เพราะประเทศไทยยังไม่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังปกครองด้วยกำลังอาวุธอยู่ จะสังเกตได้ว่าอินโดนีเซียหลังการเลือกตั้ง เศรษฐกิจก็เติบโต ฟิลิปปินส์ก็เช่นกัน แต่มีการโกง (กันมานาน) อยู่มาก เมียนมาก็เช่นกัน หลังเลือกตั้งก็ทำให้เศรษฐกิจกระฉูด มาเลเซียตกไปเพียง 4% (4.9 เป็น 4.7 คะแนนเทียบปี 2555 และ 2560) ก็อาจเป็นเพราะการเมืองที่ไม่โปร่งใสเช่นกัน
รัฐบาลได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นานา แต่ผลอาจไม่เกิดขึ้นชัดเจน ที่มีข่าวพาดหัวว่า "ฟันธง 3 ปัจจัยหนุน ศก ไตรมาสแรกโตเกินคาด" (กรุงเทพธุรกิจ 27 กุมภาพันธ์ 2561 https://goo.gl/FHBW4y) นั้น ปรากฏว่าในรายละเอียดว่าการส่งออกของไทยแม้จะโต แต่ก็ยังต่ำกว่าจีนและเวียดนามมาก แถมนำเข้าก็โต 24.3% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า แม้ยอดขายรถ และภาษีจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโต 0.7% เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่พึงวางใจ
การที่การขายอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเพราะ
1. เป็นการขายห้องชุดตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งมีโอกาสและศักยภาพที่สูงกว่า
2. เป็นการขายห้องชุดในราคาแพงเป็นสำคัญ จึงทำให้ได้ค่าธรรมเนียมสูง
3. เป็นการขายบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ย่านชานเมือง เพราะหลายรายเปลี่ยนมาทำบ้านแนวราบแทนบ้านแนวสูงซึ่งเริ่มขายได้ช้าลงโดยเฉพาะบริเวณที่ไกลจากรถไฟฟ้า เป็นต้น
จากการที่มีข้อมูลความโปร่งใส (คะแนน 1-10) และรายได้ประชาชาติต่อหัวของแต่ละประเทศจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (https://goo.gl/sr6Cvm) พบว่า มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรระหว่างความโปร่งใสกับรายได้ประชาชาติต่อหัว โดยเมื่อนำข้อมูลของประเทศต่าง ๆ 167 ประเทศที่มีข้อมูลทั้งสองชุดเข้ามาวิเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) พบว่า ค่า R Square อยู่ที่ 64.5% (ยิ่งใกล้ 100% ยิ่งดี) แต่เมื่อได้ตัดเอาข้อมูลที่เป็นค่าผิดปกติ (Outliers) ออกไปแล้ว จะเหลือประเทศที่นำมาวิเคราะห์ 126 ประเทศ
ค่าผิดปกติ อาจเป็นประเทศ เช่น ประเทศภูฏาน ที่มีรายได้ต่อหัวไม่มาก แต่มีความโปร่งใสมากเพราะอาศัยวินัยทางศาสนา เป็นต้น หรือประเทศบางประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูง แต่ความโปร่งใสต่ำ เช่น Mexico และหลายประเทศในอาฟริกา เป็นต้น หลังจากตัดประเทศที่มีข้อมูลผิดปกติออกแล้ว ทำการวิเคราะห์การถดถอยใหม่อีกครั้ง ก็พบว่าค่า R Square เพิ่มสูงถึง 77.8% ซึ่งแสดงว่าตัวเลขทั้งสองชุดนี้มีความสัมพันธ์กันมาก
สำนักงานความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี แถลงว่า "ประเทศไทยได้คะแนนซีพีไอ 37 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ไต่อันดับเป็น 96 จากเดิม 101 เมื่อปี 2559 ซึ่งไทยได้คะแนน 35 คะแนน . . . คะแนนที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก ในเชิงสถิติ ไม่นับว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น และรัฐบาลทหารไทยไม่ได้ดำเนินการปราบปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างที่ว่าไว้ตอนแรกสักเท่าไร ในตอนแรก ทางรัฐบาลทหารได้แสดงความปรารถนาที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาทุจริตของประเทศ อย่างไรก็ตาม เราแทบไม่เห็นการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง" (https://goo.gl/7evLGk)
ถ้ามีการเลือกตั้งจะเห็นว่าเศรษฐกิจดีขึ้น โดยมีตัวอย่าง เช่น
1. ฟิลิปปินส์ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีดูเตอร์เต เศรษฐกิจเติบโต 6.9% และ 6.6% เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 6.1%
2. อินโดนีเซีย หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เศรษฐกิจเติบโต 5.0% และ 5.2% เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 4.9%
3. เมียนมา หลังการเลือกตั้ง เศรษฐกิจเติบโตจาก 6.1% เป็น 7.2% เลยทีเดียว (https://goo.gl/sJFi)
อสังหาริมทรัพย์ในประเทศเหล่านี้ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ เพราะประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ต่างประเทศนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมจึงดีขึ้น ลำพังการ "แจกเงิน" (ให้ปลา) ซึ่งไม่ใช่ "ประชานิยม" (ให้เบ็ด) ย่อมไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ทำให้กำลังซื้อไม่ฟื้นเท่าที่ควร และโดยเฉพาะเมืองในจังหวัดภูมิภาค แทบไม่เกิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ยกเว้น ชลบุรี ระยอง หัวหิน-ชะอำ เชียงใหม่ และภูเก็ตเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ยิ่งช้าออกไปประเทศก็ยิ่งซึมลง ลำพังตัวเลขเศรษฐกิจที่จะได้จากการก่อสร้างภาครัฐก็เป็นเพียง "อัฐยายซื้อขนมยาย" เท่านั้น ที่ว่าต้องเร็วที่สุดเพราะเราประวิงเวลามาโดยตลอดจาก "ขอเวลาอีกไม่นาน" มาเป็นการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา 20 ปี โดยรัฐบาลหลังเลือกตั้งก็ต้องทำตาม โดยที่แผนดังกล่าวไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน เป็นเพียงการวางแผนของเหล่า "คนดี" ซึ่งก็ไม่อาจพิสูจนืได้ว่าดีจริง หรือไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าแผนยุทธศาสตร์นั้นสอดคล้องกับความจริง
ยิ่งถ้ามีแนวโน้มจะ "สืบทอดอำนาจ" ต่อไปเรื่อยๆ แบบกัมพูชา คะแนนก็คงจะถดถอยลงไปอีก และด้วยผลจากการโกง ก็ยิ่งทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่จำกัดลงไปอีก ศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยก็จะถดถอยได้ในอนาคต ประกอบกับการที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างพัฒนาเพิ่มขึ้น ไทยก็จะยิ่งเสียเปรียบ เราเคยพัฒนาระดับเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินเดีย แต่พวกเขาแซงไปหมดแล้ว ถ้าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์แซงไทยอีก จะเป็นอย่างไร ถ้าประเทศอินโดจีน "หายใจรดต้นคอ" เราได้ เราจะเหลือหรือ
"ลาออก" / "เลือกตั้ง" / "อย่าสืบทอดอำนาจ" คือทางออก!