"หมอหม่อง-รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์" ชี้ ผู้ใช้ ISDN ยาไนเตรทอมใต้ลิ้น ไม่เคยมีหลักฐานว่าลดอัตราตายหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Rungsrit Kanjanavanit ได้โพสต์ข้อความผ่านหน้าเพจ โดยมีใจความสำคัญว่า
จากเหตุการณ์ เสียชีวิตกระทันหันของผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพรักในสังคม
เห็นมีการแชร์กันมากในไลน์ เรื่อง แนะนำให้พกยาอมใต้ลิ้น ISDN เพื่อลดโอกาสเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ผมมีความลำบากใจบางประการ
แต่ผมขอชี้แจงเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดดังนี้ครับ
ยาอมใต้ลิ้น หรือ ยาไนเตรท นี้ เป็นยาขยายหลอดเลือด ช่วย ลดอาการ เจ็บหน้าอกได้ กรณีที่ไม่เป็นรุนแรง นั่นคือ หลอดเลือดตีบ แต่ไม่ถึงกับตัน เป็นการเจ็บหน้าอกแบบคงที่ (stable angina)
แต่กรณีที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันเลย
จนเกิด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ( acute myocardial infarction )
มันช่วยอะไรมากไม่ได้
อาจบรรเทาความเจ็บปวดลงได้เล็กน้อย
แต่ไม่เคยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า สามารถลดอัตราตาย หรือภาวะแทรกซ้อนได้
หากเจ็บหน้าอกรุนแรง
วิธีลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต ทำได้โดย รีบไปพบแพทย์ฉุกเฉิน (ควรใช้บริการ 1669) เพื่อให้แพทย์เปิดหลอดเลือดหัวใจให้เลือดกลับมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยเร็วที่สุดโดยไม่รีรอ
จะด้วยการใช้ยาละลายลิ่มเลือด fibrinolysis หรือทำ “balloon” ( primary coronary intervention) แล้วแต่ความเหมาะสม
หากจะมีการพกยา
คนที่มีความเสี่ยง อาจพก Aspirin
และเคี้ยวเวลาเกิดอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง
ยังจะมีประโยชน์มากกว่า พกและอมยาใต้ลิ้นตัวที่ว่านี้ครับ
นอกจากนี้ การติดความรู้ CPR ที่ถูกต้องให้กับประชาชนในวงกว้าง รวมถึงการเข้าถึงเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ได้ง่าย
เป็นกลไกสำคัญในการป้องกัน การเสียชีวิตกระทันหัน จากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ อันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันครับ