รู้หรือยัง!?! "ห้ามละเมิดอำนาจศาล วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ใช้ถ้อยคำ เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ระวังเสี่ยงนอนคุก ปรับ 5หมื่น
(23 พฤศจิกายน 2560) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ(สนช.) พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเอกฉันท์ เห็นชอบ 188 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง จากทั้งหมด 193 เสียง
สาระสำคัญๆ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ “สิทธิประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” และ “การห้ามละเมิดอำนาจศาล”
“สิทธิประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” มาจากมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ”
พ.ร.ป ฉบับนี้ได้กำหนดรายละเอียดเรื่องสิทธิประชาชนในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้
๐ การฟ้องให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหมวด 5
ประชาชนสามารถยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่รัฐไม่ปฏิบัติตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐ อำนาจนี้ปรากฎอยู่ในมาตรา 7 (3/1) ซึ่งเป็นมาตราที่กมธ.วิสามัญได้พิจารณาเพิ่มขึ้นมาจากร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
โดยวิธีการยื่นคำร้องตามหมวด 5 อยู่ในมาตรา 44/1 แต่ประชาชนจะฟ้องต้องยื่นร้องต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน หากหน่วยงานรัฐปฏิเสธ ไม่ดำเนินการภายใน 90 วัน ให้ประชาชนยื่นหนังสือโต้แย้งต่อหน่วยงานนั้นภายใน 30 วัน และให้ยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน หลังยื่นหนังสือโต้แย้งต่อหน่วยงานรัฐ และหากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไม่ครบถ้วน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอต่อคณะรัฐมนตรีสั่งการ เเต่ถ้าหากผู้ร้องเห็นว่าคณะรัฐมตรีปฏิบัติไม่ถูกต้อง จึงจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้
๐ การฟ้องคดีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ
ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพสามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฎอยู่ในมาตรา 7 (10) ซึ่งกมธ.วิสามัญได้แก้ไขมาตรา 46 บัญญัติเพิ่มเติมว่า การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นต้องเป็นการละเมิดสิทธิอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจของรัฐ และจำกัดว่าต้องไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล
โดยวิธีการยื่นคำร้อง อยู่ในมาตรา 47 ให้ยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน โดยให้แจ้งผลให้ผู้ร้องทราบภายใน 10 วัน หลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น ผู้ร้องจะต้องทราบผลภายใน 70 วัน แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องหรือไม่ทำตามเวลาที่กำหนด ผู้ละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง
"การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” ปรากฏอยู่ในมาตรา 38-39 ของร่างฉบับนี้
โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว
นอกจากนั้น มาตรา 38 วรรคสาม กำหนดไม่ให้ "วิจารณ์คำสั่งและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย ซึ่งกมธ.วิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความจากร่างฉบับเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่กำหนดไม่ให้ “วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น
การละเมิดอำนาจศาลมีบทลงโทษตามมาตรา 39 ตั้งเเต่ การตักเตือน การไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ กมธ.วิสามัญฯ ยังได้แก้ไขมาตรา 39 ด้วยการเพิ่มเติมวิธีการตัดสินลงโทษการละเมิดอำนาจศาล โดยการสั่งลงโทษนั้นต้องมีมติสองในสามจากตุลาการฯ ซึ่งเท่ากับตุลาการฯ 6 คน จากทั้งหมด 9 คน
๐ ร่าง พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ: ห้ามวิจารณ์และให้อำนาจแก้ 'เดดล็อคทางการเมือง' (ร่างเดิมจากกรธ.) https://www.ilaw.or.th/node/4657
๐ ร่าง พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว http://bit.ly/2A0TyR9