ย้ำ ห้องชุดยังไม่ล้น แต่ถ้ายังสร้างไม่หยุด จะพังทั้งแถบ!
ข่าวดีในขณะนี้ก็คือ อาคารชุดใจกลางเมืองตามแนวรถไฟฟ้ายังไม่ล้นตลาด อย่าได้ห่วงไป แต่ข่าวร้ายก็คือ ถ้าขืนยังสร้างไม่หยุด ไม่มีการคุมกำเนิด จะพากันพัง พากันลงเหวแน่นอน!
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวสรุปถึงภาวะตลาดที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดว่า จากการสำรวจอาคารชุดที่สร้างเสร็จเฉพาะช่วงเวลา 6-12 เดือน โดยที่สร้างเสร็จเกิน 1 ปีแล้ว คงจะมีคนย้ายเข้าอยู่มากพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ไม่นับที่เสร็จต่ำกว่า 6 เดือน เพราะยังอยู่ระหว่างการตบแต่งหรือเตรียมตัวย้าย การนำมาพิจารณาในขณะนี้ อาจจะไม่เหมาะสมและทำให้ภาพผิดเพี้ยนได้
จากการเจาะลึกเฉพาะกลุ่มอาคารชุดตามแนวรถไฟฟ้าที่มีห้องชุดที่สร้างเสร็จในช่วงเวลา 6-12 เดือนนั้นพบว่า
1. มีอยู่ 20,942 หน่วย และขายไปแล้วเหลือเพียง 3,192 หน่วย หรือ 15% เท่านั้นที่ยังไม่ได้ขาย แสดงว่าผู้ประกอบการพัฒนาอาคารชุดเหล่านี้ค่อนข้างจะหมดห่วงเรื่องอุปทานคงเหลือแล้ว
2. ในจำนวนทั้งหมดนี้ มีเข้าอยู่อาศัย 11,001 หน่วย หรือ 53% ของทั้งหมด ที่ (ยัง) ไม่เข้าอยู่มีอยู่ 9,941 หน่วย หรือ 47% แสดงว่าในช่วง 1 ปีแรกนี้ การย้ายเข้าอยู่ยังไม่มากนก ราว ๆ ครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งคงส่งสัญญาณที่ไม่ได้เป็นเชิงบวกนัก อย่างไรก็ตามสำหรับในปีที่ 2 และ 3 ของการสร้างเสร็จ ปรากฏว่ามีผู้เข้าอยู่มากจนไม่น่าเป็นห่วงแล้ว
3. อย่างไรก็ตามข้อที่เป็นการบ่งชี้ทางบวกที่ชัดเจนที่สุดก็คือ คนที่เข้าอยู่ส่วนใหญ่ถึง 78% เป็นคนซื้ออยู่ ที่เหลืออีก 22% หรือราวหนึ่งในห้า เป็นผู้เช่าอยู่
ความจริงข้างต้นชี้ให้เห็นว่าแสดงว่า หากดูตามแนวโน้มนี้แล้ว ที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดใจกลางเมืองตามแนวรถไฟฟ้า ยังเป็นที่ต้องการของตลาด หรือยังต้องตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ใช้สอยจริง (End Users) ที่จะซื้ออยู่อาศ้ยเป็นหลัก ขณะนี้ภาวะล้นตลาด หรือภาวะการเก็งกำไรยังมีไม่มากนัก การลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นของกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะเข้าใช้สอยเอง
อย่างไรก็ตามในขณะนี้เริ่มมีโครงการอาคารชุดที่เปิดตัวในใจกลางเมืองตามแนวรถไฟฟ้าที่ขายได้ดีเยี่ยมภายใน 1 วัน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนอยู่หลายโครงการที่น่าจะมาจากแรงซื้อของนักเก็งกำไร จึงอาจทำให้ต่อไปในอนาคต มีการเพิ่มขึ้นของฟองสบู่อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นอาจถึงเวลาที่ต้องมีการควบคุมอุปทานบ้าง หาไม่จะพากันเปิดตัวมากจนเกินไปจนล้นเกินความต้องการที่แท้จริงได้
นโยบายการควบคุมการเก็งกำไรจึงเป็นสิ่งจำเป็น