หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

โมเดลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอารยะสากล

โพสท์โดย doctorsopon

29 กันยายน 2560
เรื่อง โมเดลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอารยะสากล
กราบเรียน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ตามที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของคณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ส.น.ช.) และคณะกรรมาธิการได้ขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 กระผมในนามของผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนานาชาติ ขอนำเสนอโมเดลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอารยะสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติในนานาประเทศและประสบความสำเร็จได้ เพื่อให้ ส.น.ช. ได้พิจารณาต่อไป
1. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยปฏิรูปการเมือง
โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านการแก้ไขปัญหาการทุจริต และการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ตัดวงจรอุบาทว์การโกงกิน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นเงินภาษีที่จัดเก็บและใช้ภายในท้องถิ่น ไม่ผ่านรัฐบาลส่วนกลาง โอกาสที่จะรั่วไหลเพราะนักการเมืองใหญ่หรือเพราะข้าราชการประจำกังฉินระดับชาติ จึงไม่มี และโดยที่เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เก็บได้ จะถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเท่านั้น ประชาชนจึงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของภาษี ต่างจากในปัจจุบันที่รัฐบาลส่วนกลางส่งงบประมาณมาให้ส่วนท้องถิ่นใช้ คนในท้องถิ่นจึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงินดังกล่าว
เมื่อประชาชนในท้องถิ่นเห็นศักยภาพของตนเองในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อตนเองจากภาษีของตน คนดี ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาในท้องถิ่นก็จะอาสามาทำงานเพื่อส่วนรวมในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง โอกาสการผูกขาดตัดตอนของนักการเมืองท้องถิ่นเสือนอนกินหรือข้าราชการประจำที่ขี้ฉ้อ จึงมีน้อยลง
2. อัตราการจัดเก็บเบื้องต้น 1% ทุกประเภท
เพื่อเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลควรกำหนดให้มีการเสียภาษีที่ 1% ของราคาตลาดโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยเก็บตั้งแต่บ้านหลังแรก ยกเว้นกรณีพิเศษจริงๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ในเชิงสากล เช่น โรงเรียน สถานทูต เป็นต้น อย่างไรก็ตามในกรณีที่ดินว่างเปล่าควรจัดเก็บในอัตราสูงกว่านี้ แม้แต่ส่วนราชการก็ควรมีการจัดเก็บภาษีเพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยราชการต่าง ๆ ครอบครองที่ดินไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์เข้ากับหน่วยงานเอง
การที่ควรจัดเก็บ 1% เป็นจุดเริ่มต้นก่อนเพราะในปัจจุบัน การครอบครองทรัพย์ เช่น จักรยานยนต์คันหนึ่ง ราคา 30,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ปีละประมาณ 400-500 บาท หรือ 1% อยู่แล้ว การเก็บภาษีกับบ้านที่มีราคา 3 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยทุกประเภทในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นเงิน 30,000 บาท ก็เป็นเพียงเดือนละ 2,500 บาทเท่านั้น แต่การเก็บภาษีนี้จะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นปีละ 4-5% เพราะท้องถิ่นได้รับการพัฒนาดีขึ้น การเสียภาษีจึงคุ้มค่ามาก
ในกรณีโรงงานต่าง ๆ นั้น ที่ดินและอาคารอาจมีค่าเพียง 50% ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด ในการประกอบธุรกิจ ต้นทุนด้านที่ดินและอาคารคงมีสัดส่วนไม่เกิน 20% ของรายได้จากการประกอบธุรกิจในแต่ละปี การเสียภาษีบ้างย่อมไม่น่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมใด ๆ ยิ่งในกรณีโรงพยาบาลซึ่งในปัจจุบันมีกำไรมหาศาล ก็ยิ่งไม่น่าจะเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ และในอนาคตหากท้องถิ่นใดเล็กเห็นว่าอัตราการจัดเก็บที่แท้จริงควรมีการเปลี่ยนแปลง ก็สามารถทำได้
3. การใช้ราคาตลาดในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ดุลพินิจ และการเปิดช่องโหว่ให้มีการทุจริต ฐานของมูลค่าทรัพย์สินต้องเป็นไปตามราคาตลาด ไม่ใช่ราคาที่ทางราชการใช้เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งมักต่ำกว่าราคาตลาด แต่ไม่มีสัดส่วนแน่ชัดว่าต่ำกว่าเท่าไหร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท้องที่ ประเภททรัพย์สิน และการปรับแก้ของท้องถิ่นต่าง ๆ ในการประเมินค่าทรัพย์สินให้ได้ตามราคาตลาด อาจมีข้อขัดข้องเกิดขึ้น รัฐบาลก็ต้องมีหน่วยงานรับข้อร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรมของประชาชน โดยมีขั้นตอน เช่น
1 มกราคม หน่วยงานประเมินประกาศมูลค่าทรัพย์สินของบ้าน ที่ดินแต่ละแปลงในเมืองนั้น ๆ
15 มกราคม ส่งรายงานมูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินได้ไปยังเจ้าของทรัพย์สิน
15 กุมภาพันธ์ วันสุดท้ายของการอุทธรณ์มูลค่า หากเจ้าของไม่เห็นด้วย
15 มีนาคม วันสุดท้ายของการอุทธรณ์ (ขยายเวลา)
15 มิถุนายน วันที่ประกาศราคาสุดท้ายเพื่อให้เจ้าของทรัพย์สินไปเสียภาษี
15 กรกฎาคม ส่งใบเก็บภาษีไปยังเจ้าของทรัพย์สิน
15 สิงหาคม วันสุดท้ายของการนำส่งภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น
การใช้ราคาตลาดเป็นฐานนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการฉ้อฉลต่าง ๆ เช่น แสร้งนำที่ดินในเมืองที่มีราคาแพงไปทำการเกษตรกรรม หรือแสร้งนำที่ดินไปให้ทางราชการใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมชั่วคราวเพื่อเลี่ยงภาษีดังที่เปิดช่องไว้ในกรณีการเสียภาษีที่ดินที่ยังใช้อยู่ในเวลานี้
4. โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการประเมินค่า
รัฐบาลควรยกเลิกหรือลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือเก็บเพียงเล็กน้อย เช่น ไม่เกิน 1,000 บาท และมีมาตรการลงโทษในกรณีที่แจ้งราคาซื้อขายไม่เป็นจริง เพื่อให้เกิดภาวะที่ผู้ซื้อและผู้ขายหรือการทำนิติกรรมใด ๆ มีการแจ้งราคาซื้อขายจริง ยิ่งกว่านั้นสำหรับการซื้อขายที่มีราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท ทางราชการก็ต้องจัดส่งผู้ประเมินค่าทรัพย์สินออกไปประเมินให้แน่ชัดก่อนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ราคาที่แจ้งจดทะเบียนนี้เป็นราคาที่เป็นจริง
การแจ้งตามราคาจริงนี้ จะทำให้เกิดฐานข้อมูลเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลควรเปิดเผยราคาซื้อขายจริงของทรัพย์สินต่างๆ ต่อสาธารณชนเยี่ยงนานาอารยประเทศ อย่าได้เกรงว่าการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้จะส่งผลเสียให้ผู้ซื้อ-ขายถูกจี้ปล้นจากการขายทรัพย์สินได้ อาชญากรรมประเภทนี้ควรแก้ไขด้วยการจัดสวัสดิภาพสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งจะได้จากการมีงบประมาณท้องถิ่นจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั่นเอง การเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส และยังช่วยลดปัญหาการฟอกเงินได้อีกด้วย
5. ระบบการประเมินค่าทรัพย์สิน
เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่เป็นจริง ท้องถิ่นแต่ละแห่งก็จะสามารถประเมินค่าทรัพย์สินได้เองโดยไม่ลำบาก ทั้งนี้เป็นการประเมินตามราคาตลาด การที่ท้องถิ่นประเมินเอง ก็จะทำให้ลดภาระ และไม่เกิดภาวะรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง เป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง การประเมินของส่วนกลาง ก็มักจะล่าช้าไม่ทันการ ยิ่งกว่านั้นหากท้องถิ่นต้องการงบประมาณพัฒนาท้องถิ่นมากหรือน้อย ก็จะสามารถกำหนดอัตราการจัดเก็บได้เอง โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับอัตราที่กำหนดโดยส่วนกลางหรือโดยพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นการกำหนดที่ตายตัว อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ในอารยะประเทศ ท้องถิ่นอาจไม่ได้เป็นผู้ประเมินเองโดยตรง แต่ว่าจ้างบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินต่างๆ ออกไปประเมินให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยมีเจ้าหน้าที่ราชการควรควบคุมตรวจสอบ ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และมีต้นทุนที่ต่ำลง
6. จัดตั้งกองทุนจัดซื้อและพัฒนาที่ดิน
ในกรณีที่ดินตาบอด บ้านที่มีราคาสูงซึ่งอาจได้รับมรดกมาหรือประการใด แต่เจ้าของกลับมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเสียภาษีได้ กรณีเช่นนี้เจ้าของจะอ้างตนว่าไม่มีความสามารถในการจ่าย แต่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ราคาแพงไว้ไม่ได้ ในอารยะสากล เจ้าของทรัพย์ เช่น วังหรือคฤหาสน์ขนาดใหญ่ ก็จะต้องขายทรัพย์เพื่อปลดภาระการเสียภาษี หรืออาจยกให้ทางราชการเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตามในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลอาจจัดตั้งกองทุนรับซื้ออสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ตามราคาตลาด และนำที่ดินเหล่านี้ไปพัฒนาหรือขายต่อในอนาคตเพื่อนำเงินมาคืนกองทุนต่อไป
7. บทกำหนดโทษ
ในกรณีนิติบุคคลอาคารชุด หากผู้เป็นเจ้าของห้องชุด ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง ในยามที่จะโอนขายทรัพย์ ก็ต้องหักมาจ่ายค่าส่วนกลางก่อน ในทำนองเดียวกัน หากไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็อาจขายทรัพย์ในราคาที่เป็นธรรมให้กับกองทุนข้างต้นเพื่อจะได้เสียภาษี ทั้งนี้ควรมีการกำหนดที่แน่ชัด เช่น ภายในเวลา 3 ปีต้องขายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อขำระภาษี โดยไม่ต้องรอให้เจ้าของทรัพย์สินสามารถขายทรัพย์สินได้เอง เช่นในกรณีนิติบุคคลอาคารชุด
8. การรับฟังความเห็นของประชาชนและรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน
ในแง่หนึ่งเป็นการสมควรที่จะรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ใช่ว่าจะต้องรับฟังแบบไม่รู้จบ เพราะเจ้าของที่ดินบางส่วนที่ไม่เข้าใจ คงต้องการเลี่ยงภาษีหรือทำให้ภาษีนี้ประกาศใช้ล่าออกไปมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จะพบว่าในกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ยิ่งเป็นภาษีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยในอดีต แต่ก็ประกาศใช้เมื่อปี 2535 ครั้งนั้นรัฐบาลรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างขนานใหญ่ แต่ในกรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ไม่มีการรณรงค์เช่นนี้เลย ยิ่งนานวันยิ่งทำให้เกิดความสับสนมากยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็น
และหากไม่สามารถเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ ก็จะทำให้รัฐบาลต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ จะเป็นภาระแก่ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร แต่เมื่อซื้อสินค้าใด ๆ ก็ล้วนต้องเสียภาษีนี้ แตกต่างจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เก็บเฉพาะจากผู้ที่มีทรัพย์สินคือที่ดินและอาคาร ผู้ที่มีทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ก็ควรต้องเสียภาษีมากกว่า ณ อัตราเดียวกัน (1%) ยกเว้นที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ทำประโยชน์ควรเก็บภาษีในอัตราสูงกว่านี้เพราะที่ดินเหล่านี้มักตั้งอยู่ในเมืองที่มีสาธารณูปโภคมากมาย แต่ไม่ทำการพัฒนา เสมือนห้องชุดร้างในอาคารชุด ซึ่งควรต้องเสียภาษีเช่นกัน การที่ที่ดินเปล่าในเมืองไม่ได้ทำประโยชน์ทำให้อุปทานที่ดินมีจำกัด ทำให้ราคาที่ดินแพงขึ้นโดยใช่เหตุ เป็นผลเสียต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องมีต้นทุนที่ดินแพงขึ้น
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ด้วยความเคารพ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนานาชาติ
ที่มา: http://bit.ly/2k6vJD8

เนื้อหาโดย: doctorsopon
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
doctorsopon's profile


โพสท์โดย: doctorsopon
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
8 VOTES (4/5 จาก 2 คน)
VOTED: doctorsopon
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เปิดภาพ"น้องเนย" เด็กถือปืนขู่ลิงที่ลพบุรีปิดฉากรัก 18 ปี "แม่สิตางศุ์" ร่ำไห้เลิกผัว ลั่นแช่งทุกวันขอให้ตๅยเร็วๆ20 แคปชั่นวันพืชมงคล กวนๆ ฮาๆ เอาไว้โพสต์ลงรูปน่ารักๆ ในวันหยุด"จังหวัดที่มีป่าไม้"มากที่สุดในประเทศไทย"หนิง ปณิตา" ขี่ม้าขาวเตือนสติ "พีเค"โซเชียลแห่แชร์ภาพอาหารญาติโยมใส่บาตร ถูกทิ้งถังขยะหน้าร้านรับซื้อของเก่า?ความมักง่ายหรือเกมการเมือง ทิ้งยางรถยนต์ลงท่อ ทำให้น้ำท่วมกระบี่สรุปดราม่า "พีเค" หลังถอยกรูดสัมพันธ์นางแบบเหงียนชาร์จแบ็ตมือถือได้ไวขึ้น และลดโอกาศการเกิดความร้อน เมื่อทำแบบนี้จ้า...
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
สรุปดราม่า "พีเค" หลังถอยกรูดสัมพันธ์นางแบบเหงียนญี่ปุ่น จ่อล่า วาฬฟิน เชิงพานิชย์"จังหวัดที่มีป่าไม้"มากที่สุดในประเทศไทย"พีเค" ลุ้น! รีเทิร์น "โยเกิร์ต"..หลังมีดราม่ากับนางแบบสาวเวียดนาม
กระทู้อื่นๆในบอร์ด บ้าน คอนโด ที่ดิน
ห้องชุดราคาแพงที่สุดในประเทศไทยไอเดียแต่งสวนข้างบ้านรู้จักกับ บ้านดิน คืออะไร?8 เทคนิคเลือกบ้าน ช่วยให้อยู่แล้วไม่ร้อน
ตั้งกระทู้ใหม่