มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปลดล็อคบ้านๆ แหกกฏฉีกหน้าคนแถบเอเชีย ให้เด็กเอาสมุดหนังสือ โทรศัพท์ อุุปกรณ์ไอทีบลาๆ เข้าสอบได้ตามสบาย เอาที่สบายใจเลย
ขณะที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งยังห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบ แต่ผู้นำแห่งการเรียนรู้สมัยใหม่อย่างเอริค มาซัวร์ (Eric Mazur) คณบดีแห่งคณะฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกมากระตุ้นให้เหล่าครูบาอาจารย์อนุญาตให้นักศึกษานำแล็บท็อปและโทรศัพท์เข้าไปนั่งสอบด้วยได้แล้ว
ใครได้ยินก็อาจจะเลิกคิ้วว่า “เอางั้นเลยเรอะ!”
มาซัวร์เป็นเสมือนผู้บุกเบิก ‘flipped classroom’ ปฏิรูปการเรียนอันล้าสมัยมาเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ผนวกรวมโลกออนไลน์มาไว้ใช้สำหรับการสอน ศึกษาข้อมูล และแลกเปลี่ยนความเห็น โดยไม่มีเลคเชอร์ในชั้น แต่กลับใช้ห้องเรียนเป็นที่ที่ทุกคนมานั่งทำงาน เสมือนการสลับบทบาท เอาการบ้านมาทำในชั้นเรียนแทน
เขามองว่า เมื่อกูเกิลและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้รับความนิยมอย่างสูง นั่นหมายความว่าเราได้มาอยู่ในยุคที่เรา “ไม่จำเป็นจะต้องท่องจำอะไรอีกแล้ว”
ผลก็คือ ไม่เพียงแต่ ‘ไม่ห้าม’ นักเรียนนักศึกษานำแล็บท็อปและโทรศัพท์เข้าห้องสอบได้ แต่เขาสนับสนุนให้ทำอย่างนั้นด้วยซ้ำ เพื่อ “ค้นหาอะไรก็ตามที่คุณอยากหา และหามันเมื่อไรก็ได้ตามใจชอบ” โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ แทนที่จะทดสอบแค่ความสามารถในการดึงข้อมูลออกมาจากความทรงจำตัวเอง
แต่นั่นทำให้งานนี้ ความท้าทายไปตกอยู่ที่ผู้สอนและคนออกข้อสอบแทน
“นี่หมายความว่า คุณต้องออกแบบคำถามของข้อสอบให้ไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยการแค่ค้นกูเกิล แต่ต้องใช้ความพยายามสักหน่อย” มาซัวร์กล่าว เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงข้อสอบสมัยมัธยมฯ (หรือแม้แต่มหา’ลัย) ที่มักจะเป็นคำถาม ‘จำได้ไหม’ ที่ค้นกูเกิลปุ๊บก็เจอ บรรดาครูเลยกลัวอุปกรณ์สื่อสารกันใหญ่
“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงจำเป็นต้องสร้างข้อสอบที่ลึกซึ้งและมีความหมายมากขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของการทดสอบทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะด้านที่เราต้องการให้นักเรียนของเราพัฒนา”
เขายังแสดงความเป็นห่วงสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ไม่สามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดนวัตกรรมด้านการเรียนการสอน
“ในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยของผมด้วย แม้จะมีห้องทดลองที่กำลังวิจัยเกี่ยวกับประเด็นอันล้ำยุคล้ำสมัยอยู่ แต่ข้างๆ ห้องทดลองกลับเป็นห้องเรียนที่แสนคร่ำครึ และยังคงสอนด้วยวิธีการแบบเดียวกันกับเมื่อพันปีก่อน ... คนสอนเพียงแต่พ่นข้อมูลที่เขามีอยู่ออกมา นักเรียนก็จดจำเข้าไป แล้วนำสิ่งเดียวกันนี้ออกมาถ่ายทอดลงในข้อสอบ ทั้งหมดเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน”
เขาแนะนำว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจะสนับสนุนให้นักเรียนร่วมมือกันทำงานและสื่อสารกัน โดยอาจใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เช่น แพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่ไว้เรียนด้วยกันให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความเห็นและตั้งคำถามถามกันเองเพื่อต่อยอด
ถ้าเรียนรู้ให้เป็น บางทีอาจจะไม่ใช่แค่เอามือถือเข้าห้องสอบได้ แต่เราอาจจะไม่ต้องเข้าห้องเรียนเลยด้วยซ้ำ