มีเพียงพวกเขาที่มองไม่เห็น - ความอุดมสมบูรณ์ของเทพาที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายงาน EHIA
ผมยืนมองท้องทะเลจากหาดทรายที่ อ.เทพา แสงแดดยามเย็นแยงสายตาของผมที่จ้องมองชาวประมงขณะกำลังทยอยกลับบ้านพร้อมกับรอยยิ้มที่เปื้อนหน้า อีกไม่นานภาพเบื้องหน้านี้อาจจะถูกแทนด้วยท่าเรือขนส่งถ่านหิน พวกเราได้ยินมาว่ารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากำลังผลิต 2,200 เมกะวัตต์ จังหวัดสงขลานั้นละเลยที่จะระบุถึงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างโดยเฉพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ พวกเราจึงต้องพิสูจน์ความอุดมสมบูรณ์นั้นด้วยตาตัวเอง
“ที่นี่สมบูรณ์มากจนคนสามารถจับปลาด้วยมือเปล่าได้เลยนะ” เพื่อนร่วมทางเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของที่นี่อย่างภูมิใจ
“จับด้วยมือก็ปกตินี่พี่ ถ้าจับด้วยเท้าสิแปลก”
ชาวบ้านกำลังใช้เท้าเขี่ยทรายเพื่อหาหอย
พูดไม่ทันขาดคำ “บัง” ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ก็ใช้เท้าปาดทรายเป็นเส้นโค้ง เพียงช่วงเวลาต้มบะหมี่เดือดบังก็ได้หอยมาเต็มมือ บังบอกว่าในนี้มีหอยหลายชนิดแต่ถ้าอยากจะดูตัวใหญ่หน่อยเดี๋ยวจะใช้คราดมาหาให้ดู แน่นอนพวกเราย่อมอยากเห็น บังจึงเดินไปเอาคราดที่บ้าน คราวนี้บังเดินลงไปในน้ำที่ลึกกว่าเมื่อครู่เล็กน้อยปักคราดลงบนพื้นทรายแล้วเดินถอยหลังไปเรื่อย ๆ ไม่นานนักก็ได้หอยมา
หอยที่จับได้จากการใช้เท้าเขี่ยทราย
การหาหอยด้วยคราด
ชายทะเลริมหาดนอกจากหอยแล้วที่นี่ก็มีปลาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ในตอนกลางคืนที่นี่จะกลายเป็นแหล่งตกปลาของชาวบ้านในพื้นที่และคนจากภายนอกเข้ามาไม่เว้นวัน
ภาพบรรยากาศการตกปลายามค่ำคืนริมหาดเทพา
เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเรากลับมาที่ชายหาดอีกครั้ง เราเห็นชาวประมงกำลังยืนทอดแหอยู่ริมทะเล แม้จะเป็นทะเลตื้น ๆ แต่ก็หาปลาได้ไม่น้อย ภาพความอุดมสมบูรณ์แบบนี้ไม่พบได้บ่อยนักในปัจจุบัน และหากออกเรือไปอีกเล็กน้อยก็หาปลาได้มากขึ้นอีก แม้ว่าอากาศไม่ค่อยดีแต่วันนั้นบังก็จับปลาได้มาก บังสาวอวนอยู่นานจนถึงกับบ่นว่าปวดแขน
นอกจากปลาและหอยแล้ว ทีเด็ดอีกอย่างของทะเลเทพาก็คือกุ้งเคย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของกะปิเทพาสินค้าขึ้นชื่อของที่นี่ เราได้เห็นชาวประมงที่กำลังรุนกุ้งเคยอยู่ริมทะเล ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตัวเองก็คงยากที่จะเชื่อว่าทะเลเทพามีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอย่างมากมายถึงเพียงนี้
บรรยากาศการจับปลาในตอนเช้า
การรุนเคยตอนเช้ามืด
จะว่าไปก็อิจฉาคนที่นี่ที่มีอาหารทะเลดี ๆ สด ๆ กินกันทุกวัน ต่างจากคนเมืองอย่างพวกเราที่เรากินแต่อาหารสำเร็จรูป และถ้ายิ่งเป็นอาหารทะเลที่สดและปลอดภัยนั้นมันแทบจะหาไม่ได้
ช่วงสายพวกเราออกเรือสำรวจทรัพยากรใต้น้ำในพื้นที่ที่กำลังจะเป็นเส้นทางการเดินเรือขนถ่ายถ่านหิน แม้ว่าน้ำจะขุ่นมากเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและเป็นทะเลน้ำตื้น แต่เราได้พบฝูงปลาหลากหลายชนิด ทั้งปลาสลิดหิน ปลาสาก หรือแม้แต่ปลากระพง นอกจากนั้น บนแนวปะการังเทียมที่เราได้ไปดำน้ำยังเต็มไปด้วยหอยแครง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของชุมชน
แผนที่แสดงเส้นทางการการเดินเรือและขนส่งถ่านหิน
ฝูงปลากระพงข้างเหลืองในบริเวณใกล้เส้นทางการเดินเรือ
หนึ่งในฝูงปลาสลิดที่กำลังหาอาหารในแนวปะการังเทียม
กลับมาถึงชายฝั่งที่ระบุว่าจะเป็นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราเข้าไปสำรวจป่าชายเลนบริเวณคลองตูหยงซึ่งเป็นอีกหนึ่งในทรัพยากรอันทรงคุณค่าของที่นี่ เนื่องจากคลองในป่าชายเลนนั้นเป็นคลองที่ค่อนข้างตื้น เราจึงต้องเปลี่ยนมาเดินทางด้วยเรือขนาดเล็กและลงมาลากเรือบ้างในบางครั้ง
เราพบว่ามีการโค่นต้นไม้ป่าชายเลนที่อยู่ริมคลอง ชาวบ้านบอกว่าเป็นการกระทำโดยหน่วยงานรัฐเพื่อขยายพื้นที่คลอง ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่รู้จะขยายไปทำไม เพราะเรือที่ชาวบ้านใช้กันนั้นกว้างแค่เมตรกว่า ๆ เท่านั้น หรือมีคนจะพยายามทำให้ป่าชายเลนดูเสื่อมสภาพลง
ใบไม้แห้งลอยผ่านป่าชายเลนที่เพิ่งจะถูกโค่น
อย่างไรก็ตาม ป่าชายเลนที่นี่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก พรรณไม้ป่าชายเลนหลากหลายชนิดขึ้นกันอยู่อย่างหนาแน่นเป็นร่มเงาให้กับผู้สัญจรอย่างพวกเราและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิดไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงนกที่พวกเราพบเห็นอยู่ตลอดทาง
สภาพป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ริมคลองตูหยง
ในที่สุด เราก็ได้พบเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของคลองตูหยงแห่งนี้ นั่นก็คือการจับปลาด้วยมือเปล่าที่เรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ ชาวประมงเพียงเดินลุยน้ำพร้อมนำ อวนยาว ๆ ไปล้อมเป็นครึ่งวงกลมใกล้ ๆ โคนไม้โกงกาง จากนั้นก็นำตะกร้าหรือถุงตาข่ายเล็ก ๆ สำหรับใส่ปลาติดตัวแล้วเดินข้ามไปในแนวอวนที่ล้อมไว้แล้วจึงเริ่มจับปลากันด้วยมือเปล่า ครู่เดียวปลาก็เกือบจะเต็มถุงตาข่าย ชาวประมงทำอย่างง่ายดายจนพวกเราสงสัยว่ามันเป็นไปได้อย่างไรจึงลองเข้าไปจับปลาในแนวอวนบ้าง แต่ก็จับไม่ได้เพราะว่าปลาหลุดมือไปทุกครั้ง
ชาวประมงกำลังรวบถุงตาข่ายสำหรับใส่ปลาที่จับได้จากคลองตูหยง
“ช่วยหน่อยตัวใหญ่” เสียงชาวประมงคนหนึ่งตะโกนเรียกเพื่อนให้มาช่วยจับปลาตัวใหญ่ ไม่ทันจะขาดคำเพื่อนที่อยู่บนเรือก็ต้องกระโดดลงน้ำเพื่อมาช่วยกันจับปลาตัวนี้ ผมเองซึ่งไม่รู้จะช่วยอย่างไรก็ได้เอาใจช่วยและเฝ้าดูด้วยความสงสัยว่ามันคือปลาอะไรกันแน่จึงต้องใช้คนถึงสามคนในการนำปลาตัวนี้ขึ้นมา
ยื้อกันอยู่สักพักความสงสัยของผมก็หมดไปเมื่อปลากระพงขาวตัวใหญ่ราว ๆ 70 เซนติเมตร ถูกดึงขึ้นเรือ
ปลากระพงขาวขนาดใหญ่ขณะถูกนำขึ้นเรือ
ชาวประมงกำลังจับปลากระพงขาวด้วยมือเปล่า
นี่ไม่ใช่ปลากระพงตัวเดียวที่เราเจอในวันนี้ แต่ทำไมปลาเศรษฐกิจอย่างเช่นปลากระพงจึงไม่ถูกกล่าวถึงใน “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ในรายงานกล่าวถึงปลาเพียงห้าชนิดในคลองช่วงฤดูฝนซึ่งก็คือ ปลาหมอ ปลานิล ปลาช่อน ปลาเข็ม และปลากระดี่หม้อ! เพราะเหตุใดรายงานจึงมองข้ามความอุดมสมบูรณ์อันมากมายที่พวกเราได้พบเห็นระหว่างการสำรวจเพียงไม่กี่วัน พวกเขาแค่ไม่เห็นหรือพวกเขาเลือกที่จะไม่เห็น หากรายงานยังมีความบกพร่องมากถึงเพียงนี้ แล้วจะให้ชุมชนเชื่อได้อย่างไรว่าโครงการนี้จะไม่เป็นภัยคุกคามต่อวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเช่นนี้
ผลการสำรวจปลาและสัตว์น้ำบริเวณคลองเทพา คลองตูหยง และคลองเกาะแลหนัง ช่วงฤดูฝนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
ผมกลับมายืนบนชายหาดอีกครั้ง ภาพเบื้องหน้าในวันนี้ไม่ได้มีเพียงท้องทะเลที่ตัดกับเส้นขอบฟ้า แต่มันคือท้องทะเลและป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ น่าเสียดายที่คนไทยส่วนมากอาจไม่รู้ถึงสิ่งนี้ และอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนที่นี่กำลังจะถูกคุกคามจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความสมบูรณ์ของที่นี่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยมลพิษทางอากาศ มลพิษในแหล่งน้ำ สิ่งปนเปื้อนในอาหารทะเล จนถึงวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เทพาไม่ได้เป็นแค่ทรัพยากรของคนในพื้นที่แต่เป็นสมบัติของคนทั้งประเทศที่คนเป็นเจ้าของและมีสิทธิที่จะร่วมกันปกป้อง โปรดช่วยกันแชร์เรื่องราวนี้ออกไปเพื่อปกป้องชุมชน ธรรมชาติ และตัวคุณเอง
อ่านเพิ่มเติม:
- รายงาน ต้นทุนชีวิต โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย
- รายงาน หยุดยุคถ่านหิน: ชุดข้อมูลภัยที่แท้จริงของถ่านหิน
- แถลงการณ์กรีนพีซ กรณีคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) เห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา
- รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา
- รายงานชี้แจงเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ประกอบการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา
ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/-ehia/blog/60129