สาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดีออกอาละวาดไล่กินผู้คนในเมือง
ในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดีหลายเรื่อง มีการกล่าวถึงเมืองใหญ่กว้างขวางแต่กลับรกร้างไร้ผู้คน เพราะถูกสัตว์ป่าทั้งที่เป็นสัตว์ยักษ์และสัตว์หิมพานต์บุกเข้าไปภายในเมืองไล่ล่ากินผู้คนจนหมดทั้งเมือง(ซึ่งตามท้องเรื่องทั่วไปมักเหลือผู้รอดชีวิตที่ถูกซ่อนตัวไว้อย่างน้อย๑คนมาเล่าเรื่องราวเท้าความให้ฟัง) และโดยทั่วไปตามท้องเรื่องจะไม่ค่อยระบุสาเหตุที่สัตว์เหล่านี้อยู่ดีๆลงมาอาละวาดในเมืองด้วยเหมือนกับว่าจู่ๆก็มาพอกินหมดแล้วก็กลับไป
ทางเรานั้นเชื่อว่า การที่สัตว์เหล่านี้จู่ๆบุกเข้าอาละวาดไล่กินคนถึงในเมืองนั้น ต้องเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติอย่างแน่นอน เพราะตามปกติสัตว์ป่ามักไม่ยุ่งเกี่ยวรึโจมตีมนุษย์ก่อนอยู่แล้ว(ถ้าไม่นับกรณีของการเข้าใจผิดของสัตว์ที่นึกว่ามนุษย์เป็นศัตรูรึอาหารซึ่งกรณีนี้เองก็ไม่ใช่การบุกโจมตีกราดทั่วทั้งเมืองแต่จะมีการระบุเป้าหมายบุคคลไว้ชัดเจนแล้ว) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแท้จริงเริ่มต้นจากการกระทำของมนุษย์ก่อนทั้งสิ้น ซึ่งในนิทานบางเรื่องระบุไว้คร่าวๆว่า เป็นเพราะมนุษย์ในเมืองนั้น“ไม่ตั้งอยู่ในธรรม”ก่อนจนเป็นเหตุให้ถูกสัตว์ร้ายรุกราน
จากการค้นข้อมูลจากหลายแหล่งทำให้พบทฤษฎีที่พอจะช่วยอธิบายเรื่องการบุกโจมตีเมืองมนุษย์ของ สัตว์ยักษ์และสัตว์หิมพานต์ ไว้ดังนี้
๑.ถูกมนุษย์ทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง
เหตุการณ์นี้มักเป็นการโจมตีทางอากาศ เกิดจากกรณีที่นกยักษ์ ๒ ตัวบุกโจมตีเมืองมนุษย์ไล่กินคนจนหมดเมืองจากนั้นจึงบินกลับไปที่อยู่ของตน ซึ่งมีนิทานพื้นบ้านหลายเรื่องนิยมนำไปใช้อย่างแพร่หลาย แต่ก็ไม่ได้ระบุสาเหตอย่างเจาะจงลงไปว่าอะไรเป็นสาเหตุของการบุกโจมตี ในกรณีนี้ให้สังเกตจากข้อมูลบันทึกว่า“เป็นการบุกโจมตีของนก๒ตัว”ซึ่งหมายถึงนกที่อยู่กินกันเป็นคู่(พวกนกที่จับคู่ผสมพันธุ์) ซึ่งภายหลังจะถูกตัวเอกสังหารก่อนแล้วจึงบูรณะเมืองกลับมาตามเดิม แม้ว่าข้อมูลในนิทานพื้นบ้านจะมีอยู่น้อยมาก แต่เมื่อผนวกกับข้อมูลจากนิทานอาหรับราตรีแล้ว จะพบเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันอยู่เช่นกันคือ กรณีการบุกโจมตีเรือของนกร็อค(Roc)คู่หนึ่งซึ่งอยู่ในการเดินเรือเที่ยวที่ ๕ ของซินแบด(Sinbad) ซึ่งสรุปย่อไว้ ดังนี้
ซินแบดซึ่งเคยเผชิญกับนกร็อคมาแล้วในการเดินเรือเที่ยวที่ ๒ ก็ได้มาพบกับนกร็อคอีกครั้งในการเดินทางครั้งที่ ๕ นี้ เพราะว่าในการเดินทางครั้งที่ ๕ นี้ซินแบดได้ว่าจ้างนายเรือและกลาสีจำนวนหนึ่งเพื่อนำสินค้าจำนวนมากลงเรือไปขายยังแดนไกล เรือแล่นไปในทะเลกว้างหลายวันกระทั่งพบเกาะรกร้างว่างเปล่าแห่งหนึ่ง จึงลงไปหาแหล่งน้ำจืดพร้อมกับเหล่ากลาสีจนพบกับไข่นกร็อคเข้า ซึ่งไข่ใบนี้มีลูกนกอยู่ภายในกำลังพยายามเจาะเปลือกไข่ออกมา ซินแบดจึงเตือนพวกชาวเรือไม่ให้แตะต้องไข่นั้นเพราะกลัวแม่นกจะทำร้ายเอาแต่ชาวเรือทั้งหลายไม่เชื่อฟัง ต่างพากันเอาขวานจามทำลายไข่นกร็อคและลากลูกนกออกมาฆ่าแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำกลับไปทอดกินกันในเรือ ทว่ายังไม่ทันกินเนื้อลูกนกร็อคเสร็จพ่อแม่นกร็อคก็กลับมา ทั้งหมดจึงรีบออกเรือจากเกาะนั้นทันที
ขณะเรือล่องอยู่กลางทะเล พ่อแม่นกร็อคที่พบว่าูกของตัวตายแล้วก็คำรามลั่นและบินไล่ตามเรือนั้นมาทันที(คงได้กลิ่นคนจากจุดที่ลูกนกตายไม่ก็มีกลิ่นของลูกนกติดมากับตัวคนเลยบินตามมาถูก)พร้อมกับกรงเล็บที่คีบก้อนหินขนาดใหญ่ไว้ตัวละก้อน ซึ่งหินแต่ละก้อนมีขนาดใหญ่พอๆรึมากกว่าเรือทั้งลำ เมื่อนกร็อคบินมาถึงจุดเหนือลำเรือแล้วก็ทิ้งหินก้อนนั้นลงทันที แต่ยังโชคดีที่ผู้ขับเรือมีความชำนาญจึงหักหลบได้ทัน แต่แรงจากคลื่นกระแทกก็ทำให้เรือโคลงจนเกือบคว่ำ เมื่อรอดจากหินก้อนนั้นมายังไม่ทันจะดีใจนกร็อคอีกตัวก็ทิ้งหินขนาดพอๆกับก้บก้อนแรกลงมาอีกคราวนี้ตรงกลางลำเรือพอดีเรือจึแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย บ้างก็ตายคาที่เพราะถูกหินหล่นทับทันที บ้างก็จมน้ำตาย(คงถูกแรงดูดของน้ำตอนหินจมดึงตัวลงไป) เหลือเพียงตัวซินแบดเพียงคนเดียวที่รอดมาได้ ฯลฯ
จากข้อมูลการโจมตีของนกร็อคคู่ เมื่อเอามาปรับเนื้อหาเทียบเคียงกับในนิทานพื้นบ้านแล้วจึงพบว่า สาเหตุที่นกยักษ์บุกโจมตีเมืองมนุษย์นั้น น่าจะมาจากการที่คนในเมืองนั้นรึผู้ปกครองในเมืองนั้น เคยสังหารลูกของนกยักษ์เพื่อนำมากินก่อน นกยักษ์คู่จึงตามมาอาละวาดในเมือง ซึ่งก็คือ การที่มนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เข้าเบียดเบียนธรรมชาติก่อนจึงถูกผลย้อนกลับมาทำร้ายตนจนล่มสลายนั่นเอง(ในกรณีที่เป็นการบุกโจมตีของนกยักษ์ตัวเดียว อาจเป็นเพราะนกยักษ์อีกตัวซึ่งเป็นคู่ของนกยักษ์นั้นถูกสังหารจึงมาแก้แค้นแทนคู่ของตนที่ตายไป)
๒.การลงทัณฑ์จากเบื้องบน
มักพบจากการรุกรานภาคพื้นดิน คือ ถูกสัตว์ป่า เช่น งูยักษ์เข้ามาอาละวาดไล่กินคนจนกลายเป็นเมืองร้าง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ตามท้องเรื่องมักระบุว่า เป็นเพราะผู้ครองเมืองไม่ตั้งอยู่ในธรรม(เมื่อผู้นำไม่ตั้งอยู่ในธรรมแล้วพลเมืองจะไปเหลืออะไร) เทพเทวาทั้งหลายจากเบื้องบนจึงส่งสัตว์ยักษ์ดุร้ายลงมาไล่กินผู้คนจนหมดเมือง ซึ่งในเรื่องนี้มีประเด็นแยกย่อยอีก ๒ ประการที่ต้องอธิบายเสริมเพิ่มเติม คือ
๒.๑ เป็นข้อมูลเชิงอุปมา คือ ให้เทพเทวาที่เมืองนั้นๆนับถือเคารพบูชาเป็นสัญลักษณ์แทนผลสะท้อนจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรม การไม่ตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์หมายถึง การไม่เคารพเกื้อกูลธรรมชาติ ใช้และคิดค้นหาทุกวิธีการเพื่อกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของตนโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาซึ่งก็คือการเสียสมดุลย์ของธรรมชาติอันเป็นผลให้สัตว์ป่าทั้งหลายขาดแคลนแหล่งอาหารตามธรรมชาติเพราะถูกมนุษย์รุกรานจนหมดสิ้น จนเป็นสาเหตให้สัตว์ป่าเหล่านั้นต้องเข้าไปหาแหล่งอาหารใหม่ในเมืองมนุษย์แทน และยิ่งเป็นสัตว์ยักษ์ซึ่งกินเนื้อด้วยแล้ว มนุษย์ซึ่ง มีอยู่จำนวนมากและหาได้ทั่วไปในเมืองจึงตกเป็นเหยื่อแทน
คนโบราณได้อุปมาเทียบเคียงผลสะท้อนกลับของธรรมชาติที่ขาดสมดุลย์ด้วยน้ำมือมนุษย์ซึ่งมีวงจรที่ชัดเจนว่า เป็นเหมือนกับวงจรวิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงคือ เทพเทวา ซึ่งการให้ธรรมชาติมีความยิ่งใหญ่เทียมเทวาผู้สร้างเป็นเพราะธรรมชาติให้ในทุกสิ่งที่มนุษย์ต้องการ การที่มนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรมจึงหมายถึงการที่มนุษย์เบียดเบียนเอาเปรียบธรรมชาติจนธรรมชาติเสียสมดุลย์ และเมื่อถึงขีดสุดความพิโรธของเทพเทวาที่เคารพบูชาจึงเกิดขึ้นด้วยว่าหมดความอดทนต่อมนุษย์แล้วจึงส่งสัตว์ร้ายลงมากำจัดมนุษย์ที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรมและมีความประพฤติต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของมนุษย์จริง ซึ่งก็คือ การที่ธรรมชาติปรับความสมดุลย์อย่างรุนแรงเป็นการตอบโต้มนุษย์ที่กอบโกยทรัพยากรจนเสียสมดุลย์(มีการอธิบายอยู่ในทฤษฎีกายา[Gaia Theory]ซึ่งอธิบายถึงการปรับสมดุลย์ของธรรมชาติตามพฤติกรรมของมนุษย์คล้ายกับวงจรของสิ่งมีชีวิตที่เมื่อถูกทำร้ายก็จะมีการตอบโต้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆตามความรุนแรงที่ตนถูกกระทำ) ซึ่งนอกจากการรุกรานของสัตว์ป่าที่หลั่งไหลมาหากินตามเมืองมนุษย์อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังรวมถึงภัยธรรมชาตินานาชนิดที่ทยอยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยความรุนแรงและวงรอบที่ถี่ขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน
๒.๒ เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นเพราะเหล่าทิพยกายซึ่งดูแลเมืองนั้นอยู่เกินจะช่วยเหลือเยียวยาได้ คือ สภาวการณ์เหล่าเทวาผู้ปกปักรักษาเมืองที่มนุษย์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมนั้นไม่สามารถช่วยเหลือชาวเมือได้อีกต่อไป ด้วยอำนาจจากผลของกรรม(การกระทำ)ชั่วร้ายต่อธรรมชาตินั้นมีหนักมากเกินกว่าที่จะช่วยเหลือได้ เหล่าเทวาอารักษ์ทั้งหลายจึงจำต้งปล่อยให้เป็นไปตามกรรมนั่นเอง
แต่โดยทั่วไปทั้ง ๒ ข้อข้างต้นนี้จะมีสภาวะเกื้อกูลกันเองอยู่ในตัวด้วย เหล่าเทวาอารักษ์เองก็มีอำนาจในการเร่งผลกรรมให้เกิดภัยอันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆได้เช่นกัน
ข้อมูคร่าวๆเท่าที่ค้นพบ ณ ขณะนี้ มีเพียงเท่านี้แลฯ