“ประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน ธรรมชาติ” @ถ้ำตับเตา
“ประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน ธรรมชาติ” @ ถ้ำตับเตา
สถานที่ตั้ง : บ้านตับเตา ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
ถ้ำตับเตา เป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ภายในของวัดถ้ำตับเตา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และถือเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนเมืองไชยปราการที่มีอายุหลายร้อยปี ส่วนที่มาของชื่อ “ถ้ำตับเตา” นั้น เป็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านช่วยกัน “ดับเถ้า” ภาษาเหนือออกเสียงว่า “ดับเต้า” เป็นขี้เถ้าหลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ป่าครั้งนั้น แล้วเรียกกันจนเพี้ยนมาเป็น “ตับเตา” จนถึงปัจจุบัน
คำบอกเล่าของเจ้าอาวาสวัดถ้ำตับเตา พบสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏภายในถ้ำ นั่นก็คือ พระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ ที่สร้างด้วยรูปแบบศิลปะอยุธยา ท่านได้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างโดยสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อคราวยกทัพมาเพื่อโจมตีพม่า ในปี พ.ศ. 2135 โดยแยกออกเป็นสองทัพ เพื่อไปสมทบกับทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ได้ทรงยกทัพไปทางเชียงดาว และได้ตั้งค่ายหลวงพักแรมที่นั้นก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา
ถ้ำตับเตานี้แยกออกเป็น 2 ถ้ำ คือ ถ้ำแจ้ง กับ ถ้ำมืด
ถ้ำแจ้ง ถ้ำนี้มีความสว่างตามชื่อ ถือเป็นถ้ำลดโลกร้อน สามารถเที่ยวชมได้โดยไม่ต้องใช้แสงไฟประหยัดพลังงาน โดยมีแสงของธรรมชาติสอดส่องมาจากเพดานถ้ำ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระนอนองค์ใหญ่นี้มีพระสาวกนั่งประนมมือประหนึ่งว่ากำลังฟังคำสวดจากพระพุทธเจ้า จากคำสันนิษฐานของเจ้าอาวาสข้างต้น ทำให้ทราบว่าพระนอนองค์นี้สร้างโดยสมเด็จพระเอกาทศรถ ไว้เพื่อเป็นสิริมงคลในการออกศึก และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อไพร่พล แต่แล้วเหตุการณ์รบต้องจบลง เมื่อสมเด็จพระเอกาฯ ผู้เป็นพระอนุชาทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของผู้นำทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ถ้ำมืด จากเรื่องราวที่เล่าว่า พระอรหันต์ได้นิพพานที่ถ้ำแห่งนี้ จึงได้นำเอาอัฐิ หรือเถ้ามาก่อขึ้นเป็นพระเจดีย์ชื่อว่า "พระเจดีย์นิ่ม" ภายในถ้ำมืด มืดมิดสมชื่อ จำเป็นต้องใช้ตะเกียงเจ้าพายุ หรือไฟฉายส่องสว่างเข้าไป ภายในถ้ำมีเส้นทางที่คดเคี้ยว บางช่วงเป็นช่องแคบ ตัวถ้ำค่อนข้างลึก ต้องใช้เวลาเที่ยวชมประมาณ 1 ชั่วโมง สุดปลายถ้ำมีพระพุทธรูป และเจดีย์ให้ผู้มาเยือนได้กราบไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล