มลพิษทางอากาศ ของฟรีที่ต้องแลกด้วยชีวิต
บทความ โดย นันทิชา โอเจริญชัย
เวลาพูดถึงคุณภาพอากาศแย่ เราอาจจะนึกถึงกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เราอาจจินตนาการถึงควันดำ ฝุ่นโขมงหน้ากากกันฝุ่น เครื่องกรองอากาศ และแอพพลิเคชั่นมือถือใช้ตรวจเช็คมลพิษ ถึงแม้ว่าคุณภาพอากาศของประเทศไทยยังไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า อากาศของประเทศไทยในบางพื้นที่จะสะอาดพอให้หายใจอย่างเต็มปอด
จะดีกว่าไหมถ้าเรารู้ได้ว่าวันนี้อากาศดีหรือแย่ มีมลพิษมากน้อยแค่ไหน โดยอยู่บนฐานข้อมูลที่แม่นยำและครบถ้วน
ฝุ่นพิษ PM2.5 หรือฝุ่นที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หนึ่งในตัวร้ายของมลพิษทางอากาศซึ่งได้กลายเป็น “ฆาตกรล่องหน” ด้วยขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง ทำให้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเรา และผ่านต่อไปยังอวัยวะต่างๆในร่างกายโดยกระแสเลือดเป็นตัวนำพา ลองคิดดูว่าจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงแค่ไหน ตั้งแต่อาการภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิต จนไปถึงโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน
ในปัจจุบัน กรมควบคุมมลพิษของไทยได้กำหนดการคำนวนดัชนีคุณภาพอากาศจากค่าของโอโซนระดับพื้นดิน (O³) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx) ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ทั้งนี้ในประเทศไทยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอยู่ 61 แห่งทั่วประเทศใน 29 จังหวัด และมีแค่ 19 สถานีใน 14 จังหวัดที่มีการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5ไมครอน (PM 2.5)
จากการการจัดลําดับเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศ ปี 2559 ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 19 แห่ง ในปี พ.ศ.2559 มี 10 พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี (25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ตามข้อกำหนดของประเทศไทย และทั้ง 19 พื้นที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO (10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกยังเตือนว่า มลพิษทางอากาศได้กลายเป็นภัยต่อสุขภาพที่อันตรายมากกว่าโรคระบาดอีโบลาและเอชไอวี โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนราว 6.5 ล้านคนทุกปี จากรายงานของสหประชาชาติ ร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยสองในสามของจำนวนนี้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกฝั่งตะวันตก รวมแล้ว รายงานได้เผยว่าร้อยละ 92 ของประชากรโลก หรือราว 6.76 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
ถึงแม้ว่าจีนจะมีชื่ออ้างอิงในข่าวเรื่องมลพิษทางอากาศอยู่บ่อยๆ อันที่จริงแล้วมีหลายประเทศที่มีคุณภาพแย่กว่าหลายเท่าถ้าคำนึงถึงระดับฝุ่นพิษ PM2.5
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและสำนักงานพลังงานโลก (International Energy Agency) ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศซาอุดิอาระเบียมีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 สูงที่สุดในโลก โดยวัดได้ 108 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่าลืมว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดที่เฉลี่ยปีละไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังรวมไปถึงประเทศกาตาร์ อียิปต์ บังคลาเทศ คูเวต แคเมอรูน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ในขณะที่การปล่อยมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่จากประเทศตะวันออกกลางเหล่านี้ มีสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศมาจากอุตสาหกรรมน้ำมันที่เติบโต แต่ปัญหามลพิษทางอากาศในทวีปแอฟริกามีที่มาจากหลายสาเหตุจากแหล่งกำเนิดนับไม่ถ้วน ตั้งแต่การเผาขยะที่ไม่ถูกวิธี การเผาในที่โล่ง การคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้มลพิษทางอากาศในแอฟริกากำลังเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าที่อื่นและนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนในภูมิภาคนี้ มลพิษทางอากาศพรากชีวิตผู้คนไปแล้วถึง 712,000 ในแต่ละปี โดยมากกว่าจำนวน 542,000 คนที่เสียชีวิตจากน้ำสกปรก 391,000 คนจากสุขอนามัยที่ไม่ปลอดภัยและ 275,000 คนจากการขาดแคลนอาหาร
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้ระบุว่าจากจำนวน 20 เมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลกนั้น มีเมืองในประเทศอินเดียมากถึง 13 เมือง โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 อยู่ที่ 153 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และด้วยค่ามลพิษจากฝุ่นพิษ PM2.5 ที่สูงนี้ยังส่งผลกระทบถึงสุขภาพของประชากรอย่างเห็นได้ชัด โดย มีเด็กราว 4.4 ล้านคนในเมืองนิวเดลีซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับโรคปอดที่ไม่สามารถรักษาได้ นอกจากนั้น ยังมีทารกที่เกิดก่อนกำหนด นำ้หนักน้อยกว่าเกณฑ์ และมีความบกพร่องจำนวนเยอะขึ้น
ความต้องการออกซิเจนบรรจุขวด หน้ากากกันฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ และแอปตรวจสภาพอากาศที่มากขึ้นดังที่เรามักพบเห็นบ่อยในประเทศจีนนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแต่ไม่สามารถยุติปัญหามลพิษทางอากาศจากต้นตอได้จริง มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการสูญเสียที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนทั่วโลก แต่ยังรวมทั้งความเสียหายด้านเศรษฐกิจโลกอย่างน้อย 225 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากการสำรวจของธนาคารโลก แผนขยายตัวของโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าขณะนี้จะมีประชากรมากกว่า 20,000 คนแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรทุกๆปี เป็นผลมาจากการปล่อยมลพิษทางอากาศของการเผาเชื้อเพลิงถ่านหิน และจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จำนวนนี้จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 70,000 คนถ้าแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่วางไว้จะดำเนินต่อไป ปริมาณมลพิษทางอากาศที่ปล่อยในภูมิภาคจะสูงขึ้นร้อยละ 85 ระหว่างปี 2554 - 2578 พร้อมกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซียที่จะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว จาก 147 แห่งเป็น 323 แห่ง และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมียนมาร์ที่จะเพิ่มขึ้นห้าเท่าตัว จาก 3 แห่งเป็น 16 แห่ง ประเทศไทยเช่นเดียวกัน ที่จะมีการเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากแผนการขยายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้ตั้งไว้ แม้ว่าจะมีการคัดค้านจากหลายภาคส่วน
ดูเหมือนว่าปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางอากาศอันเกิดจาการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนอันเป็นต้นตอของปัญหาเหล่านี้กำลังพรากคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไป สิ่งที่รัฐบาลของประเทศได้ลืมตระหนักไปคือค่าความเสียหายที่มาพร้อมการก้าวหน้าทางเศรษฐกิจทั้งการสูญเสียชีวิตของประชาชน การสูญเสียทางด้านแรงงาน ค่ารักษาพยาบาล หายนะทางสิ่งแวดล้อมและบั่นทอนความมั่นคงของประเทศในที่สุด
ร่วมลงชื่อ ขออากาศดีคืนมา ได้ที่นี่
โดย นันทิชา โอเจริญชัย อาสาสมัครกรีนพีซ