ผืนผ้าปักบอกระดับขั้นขุนนางจีน ปู่จือ(补子)
"ปู่จือ(补子)" คือผ้าลายปักบนชุดเครื่องแบบขุนนาง ประกอบด้วยแบบกลมสำหรับเชื้อพระวงศ์ ติดประดับบนบ่าซ้ายขวาทั้งสองข้าง กลางหน้าอกและกลางแผ่นหลัง และแบบเหลี่ยมสำหรับขุนนางติดประดับชุด
การแบ่งแยกตำแหน่งขั้นขุนนางจีนสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง สามารถสังเกตดูได้จากผ้าลายปักบนชุดเครื่องแบบขุนนาง ที่จะใช้ภาพสัตว์แทนสัญลักษณ์แตกต่างกันไป โดยขุนนางฝ่ายบุ๋นจะเป็นรูปสัตว์ปีก ส่วนขุนนางฝ่ายบู๊จะเป็นรูปสัตว์สี่เท้า ซึ่งการติดผ้าปัก "ปู่จือ" บนเครื่องแต่งกายขุนนางนั้น มีเริ่มขึ้นในสมัยจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน(บูเช็คเทียน) เนื่องจากพระองค์ทรงประทานผ้าปักลวดลายเป็นรูปสัตว์มงคลทรงพลานุภาพ อาทิ กิเลน สิงโต กวาง ให้แก่ขุนนางทั้งหลาย บรรดาขุนนางที่ได้รับจึงนำผ้าพระราชทานนี้ติดบนชุด ซึ่งต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน ก็มีการติดผ้าปักบนชุดเช่นกัน แต่ราชวงศ์ที่นำมาเป็นสิ่งกำหนดระดับชั้นขุนนางอย่างแท้จริงนั้น เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง
เครื่องแต่งกายขุนนางชาย-หญิงสมัยราชวงศ์หมิงและชิง โดยปู่จือของฝ่ายหญิงจะมีขนาดเล็กกว่า ยึดลวดลายตามตำแหน่งขั้นของสามีหรือลูกชาย และถือเอาภาพสัตว์สัญลักษณ์ตามอย่างขุนนางฝ่ายบุ๋น เพื่อให้แลดูสวยงามไม่ต้องน่าเกรงขามอย่างฝ่ายชาย
รัชสมัยฮ่องเต้จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ทรงออกพระราชกำหนดว่า ให้ใช้ผ้าปักรูปสัตว์ปีก เป็นตัวแทนถึงความมีภูมิความรู้สำหรับขุนนางฝ่ายบุ๋น โดยกำหนดให้
ขั้นหนึ่ง(สูงสุด) เป็นภาพนกกระเรียนมงกุฎแดง
ขั้นสอง ไก่ฟ้าสีทอง
ขั้นสาม นกยูง
ขั้นสี่ ห่านป่า
ขั้นห้า ไก่ฟ้าหลังขาว
ขั้นหก นกกระยาง
ขั้นเจ็ด นกเป็ดน้ำ
ขั้นแปด นกขมิ้น
ขั้นเก้า นกกระทา
ลายภาพปักปู่จือบนชุดขุนนางฝ่ายบุ๋น
กำหนดให้ใช้รูปสัตว์สี่เท้า เป็นตัวแทนถึงความทรงพลังอำนาจสำหรับขุนนางฝ่ายบู๊
ขั้นหนึ่ง(สูงสุด)และขั้นสอง เป็นภาพสิงโต
ขั้นสาม และสี่เป็นภาพเสือและเสือดาว
ขั้นห้า หมี
ขั้นหก และเจ็ด แมวเสือ
ขั้นแปด –แรด
ขั้นเก้าม้าทะเล
ลายภาพปักปู่จือบนชุดขุนนางฝ่ายบู๊