เทียบชัดๆ ราคาที่ดินขึ้นเพราะรถไฟฟ้า
ดร.โสภณ พาพิสูจน์ราคาที่ดินขึ้นเพราะรถไฟฟ้าในรอบ 23 ปีที่ผ่านมา ใกล้รถไฟฟ้าราคาขึ้นมากกว่าที่อยู่ห่างไกลออกไปนับเท่าตัว เรามาดูตัวอย่าง 3 ทำเลสำคัญ ๆ ของกรุงเทพมหานครกัน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เปิดเผยถึงผลการสำรวจราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟฟ้าพบว่า
1. ทำเลรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT
ทำเล F5-1 รัชดาภิเษก-ห้วยขวาง ราคาที่ดิน ณ เดือนธันวาคม 2537 เป็นเงิน 200,000 บาท/ตรว.แต่พอถึงเดือนธันวาคม 2560 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 700,000 บาท/ตรว. หรือเพิ่มขึ้น 5.6%
ทำเล F5-2 พระราม 9 ห้วยขวาง ราคาที่ดิน ณ เดือนธันวาคม 2537 เป็นเงิน 165,000 บาท/ตรว.แต่พอถึงเดือนธันวาคม 2560 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 260,000 บาท/ตรว. หรือเพิ่มขึ้น 2%
จะเห็นได้ว่า ในปี 2537 ราคาที่ดินในทำเล F5-1 รัชดาภิเษก-ห้วยขวาง สูงกว่าราคาที่ดินในทำเล F5-2 พระราม 9-ห้วยขวาง เพียง 21% แต่พอถึงสิ้นปี 2560 ราคาสูงกว่าถึง 169% กลายเป็น 2.7 เท่า
2. ทำเลใจกลางเมือง
ทำเล I2-2 เยาวราช ราคาที่ดิน ณ เดือนธันวาคม 2537 เป็นเงิน 700,000 บาท/ตรว.แต่พอถึงเดือนธันวาคม 2560 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1,300,000 บาท/ตรว. หรือเพิ่มขึ้น 2.7%
ทำเล I2-4 สยามสแควร์ ราคาที่ดิน ณ เดือนธันวาคม 2537 เป็นเงิน 400,000 บาท/ตรว.แต่พอถึงเดือนธันวาคม 2560 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2,130,000 บาท/ตรว. หรือเพิ่มขึ้น 7.5%
ทำเล I4-2 สีลม ราคาที่ดิน ณ เดือนธันวาคม 2537 เป็นเงิน 450,000 บาท/ตรว. แต่พอถึงเดือนธันวาคม 2560 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1,770,000 บาท/ตรว. หรือเพิ่มขึ้น 6.1%
จะเห็นได้ว่าในปี 2537 ราคาที่ดินที่แพงที่สุดอยู่ในย่านเยาวราช ที่ 700,000 บาทต่อตารางวา แต่เพราะการมีรถไฟฟ้า 2 เส้นตัดผ่านที่สยามสแควร์ แถวนั้น ราคาจึงเพิ่มขึ้นกระฉูด จากที่แถวสยามฯ เคยมีราคาเพียง 57% ของเยาวราช กลับกลายเป็นมากกว่าย่านเยาวราชถึง 64% ส่วนที่สีลม ราคาก็เพิ่มขึ้นเพราะมีรถไฟฟ้า BTS "เลื้อย" เข้าไปหา ทั้งที่ควรผ่านเส้นสาทร
3. ทำเลสุขุมวิท-กล้วยน้ำไท
ทำเล I3-3 พระราม 4 กล้วยน้ำไท ราคาที่ดิน ณ เดือนธันวาคม 2537 เป็นเงิน 200,000 บาท/ตรว. แต่พอถึงเดือนธันวาคม 2560 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 450,000 บาท/ตรว. หรือเพิ่มขึ้น 3.6%
ทำเล I3-4 สุขุมวิท เอกมัย ราคาที่ดิน ณ เดือนธันวาคม 2537 เป็นเงิน 220,000 บาท/ตรว. แต่พอถึงเดือนธันวาคม 2560 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1,100,000 บาท/ตรว. หรือเพิ่มขึ้น 7.2%
จะเห็นได้ว่าในปี 2537 ราคาที่ดินใน 2 ทำเลนี้ห่างกันเพียง 10% (220,000 และ 200,000 บาทต่อตารางวา แต่ล่าสุด ณ ปี 2560 ห่างกันถึง 144% หรือเท่ากับ 2.45 เท่า
การที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงขนาดนี้เพราะอานิสงส์ของรถไฟฟ้า ก็เท่ากับภาครัฐเอื้ออำนวยแก่ภาคเอกชนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง จึงควรเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เผลอ ๆ การเสียภาษีนี้ จะทำให้เรามีเงินสร้างรถไฟฟ้าได้อีกหลายสายโดยรัฐไม่ต้องออกเงินสักบาท