รื้อด่วน บ้านบุกรุกป้อมมหากาฬมีแค่หยิบมือเดียว
คนที่ไม่ยอมย้ายออกจากสมบัติของแผ่นดินคือป้อมมหากาฬนั้น ความจริงมีเพียงน้อยนิด รีบรื้อด่วนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้ข้อมูลจากผลการสำรวจของนายชิตพล ศรีเมือง และนายสุนทร สังวาลย์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่สำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ว่า ชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบันนี้ เหลือแต่เพียงกลุ่มคนที่มีเอกสารแสดงการอยู่อาศัยในพื้นที่อยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน ส่วนคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินได้ย้ายออกไปแล้ว และเริ่มมีการปรับพื้นที่ในส่วนนี้เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะบ้างแล้ว
ตามการสำรวจของนักศึกษาพบว่า โซนที่มีการต่อต้านมีจำนวน 30 หลังคาเรือน เป็นบ้านร้าง 14 หลังคาเรือน ส่วนโซนที่ไม่มีการต่อต้านมีประมาณ 19 หลังคาเรือน เป็นบ้านร้าง 12 หลังคาเรือน บ้านในชุมชนป้อมมหากาฬพบว่าบ้านกว่าร้อยละ 60 มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทำส่วนมากจะทำจากไม้ทั้งหลัง แต่ก็มีบางบ้านมีการทำโดยใช้อิฐและปูนซีเมนในการสร้าง ยังมีความใหม่อยู่ประมาณ 4 หลัง ลักษณะของบ้านที่พบคือ บ้านเดี่ยวชั้นเดียว 18 หลัง บ้านเดี่ยว 2 ชั้นประมาณ 15 หลัง ห้องแถวจำนวน 37 บล็อก
จาการสอบถามบ้านจำนวน 19 หลังคาเรือนสำหรับการอยู่อาศัยนั้นโดยมากผู้อาศัย จะเป็นการสร้างที่อยู่เองจำนวน 12 หลัง และมีการเช่าบ้านอยู่ 7 หลัง แต่ปัจจุบันไม่มีการเก็บค่าเช่าแทบทุกหลังแล้วเนื่องจากเจ้าของบ้านไปรับเงินเวนคืนจาก กทม. แล้วชาวบ้านจึงไม่จำเป็นต้องเสียค่าเช่าให้เจ้าของบ้านอีก แต่มีอยู่ 1 หลังที่ยังจ่ายค่าเช่าเดือนละ1,000 บาท และหลังจากที่ กทม.ได้รื้อหลังจากนั้นมาหลายระลอก จำนวนบ้านก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก
ข้อค้นพบสำคัญในเดือนกรกฎาคม 2559 ก็คือ:
1. อาชีพของคนในชุมชนป้อมมหากาฬ พบว่าขายอาหาร 5 ราย ร้านค้าในชุมชน 3 ราย ร้านขาย พลุ 2 ราย ร้านซักอบรีด 2 ราย นอกนั้นเป็น ครู ค้าขายทั่วไป/ของมือสอง ปั้นฤษีขาย พนักงานบริษัท รับราชการ ร้านขายอาหารนก และเลี้ยงไก่ชนขายอย่างละ 1 ราย
2. จากการสำรวจข้อมูลทรัพย์สินของชาวบ้านจำนวน 19 ครัวเรือนพบว่า ส่วนใหญ่จะมีการใช้จักรยานยนต์สูงสุดอยู่ที่ 16 คัน มีการใช้เรื่องปรับอากาศ 6 เครื่อง และมีการใช้รถยนต์ 4 คัน ซึ่งยังพบว่ามีอยู่ 5 ครัวเรือนไม่มีการใช้ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และ เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากฐานะทางครอบครัวไม่เอื้ออำนวย
3. จากการสำรวจชาวบ้าน 19 หลังคาเรือนในเรื่องของการซื้อบ้านและห้องชุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีชาวบ้าน 6 หลังคาเรือนที่ได้ซื้อสินทรัพย์ไว้เก็งกำไร 13 ครัวเรือนไม่เคยซื้อสินทรัพย์ประเภทนี้
4. ชาวบ้านมีความคิดจะซื้อบ้านหรือคอนโดร้อยละ 47 โดยมีความต้องการทาวน์เฮาส์ สูงที่สุดร้อยละ 60 รองลงมาคือ บ้านเดี่ยว/บ้านแฝดร้อยละ 30 และตึกแถวร้อยละ 30 ซึ่งราคาที่ชาวบ้านจะซื้อได้เฉลี่ยอยู่ที่ 677,778 บาท สูงที่สุดอยู่ที่ 2,000,000 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 100,000 บาท และบริเวณที่ต้องการจะซื้ออยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ในย่านชุมชน ไม่ไกลจากชุมชนป้อมมหากาฬนักนัก เพราะ มีสิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทางง่าย และ สามารถประกอบอาชีพเดิมได้โดยมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว
5. ในแต่ละครอบครัวมีสมาชิก 4.8 คน มีคนทำงาน 2.5 คน รายได้ของหัวหน้าครอบครัวโดยเฉลี่ย 19,421 บาทต่อเดือน รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 25,895 บาท หรือคนละ 5,3395 บาทต่อเดือน
หากพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้ ประชาชนส่วนใหญ่คงไม่ได้ยากจนจนไม่สามารถที่จะหาซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยที่อื่นได้ หรือมีที่อยู่อาศัยอื่นอยู่แล้ว แต่หากรายใด ไม่สามารถช่วยตนเองได้ทางราชการก็ควรให้การสนับสนุน แต่จะให้ "นั่งทับที่" สาธารณะเช่นนี้ ทำให้ผลประโยชน์ของส่วนรวมเสียหายไม่ได้ รัฐบาลจึงควรจัดการรื้อย้ายชุมชนนี้โดยเร็วที่สุด