รถไฟไทยพัฒนาแค่ไหน?
หลักจากได้พูดถึงโครงสร้างพื้นฐานและความเข้าถึงของรถไฟไปแล้ว อีกโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งที่น่าสนใจก็คือความล้าหลัง/ความพัฒนาในการรถไฟ ซึ่งอาจจะสามารถวัดได้ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ ตัววัดอย่างหนึ่งที่อาจจะนำมาใช้ได้คือความกว้างของราง รางที่กว้างกว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแต่จะมอบการเดินทางที่สเถียรกว่าและรถไฟสามารถวิ่งได้เร็วมากกว่า อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถบ่งชี้ถึงการพัฒนาในการโดยสารรถไฟคือการเปลี่ยนมาเป็นหัวจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หัวจักรพลังงานไฟฟ้าเป็นหัวจักรที่มักจะให้ความเร็วที่สูงกว่า และ"สะอาด"กว่า (ในแง่ที่ไม่สร้างมลภาวะทางอากาศและเสียงในชุมชนแต่ไปสร้างที่โรงไฟฟ้าแทน) นอกจากนี้หัวจักรไฟฟ้ายังค่อนข้างเงียบและเดินทางได้นิ่งกว่า เหมาะแก่การโดยสาร ตัวเลขที่สามารถวัดการพัฒนาของรถไฟโดยสารได้คือสัดส่วนของรางที่ใช้รางขนาดกว้าง (standard gauge) เทียบกับรางขนาดแคบ (narrow gauge) และรางชนิดที่ใช้ไฟฟ้า (electrified rail) ประกอบกับความเร็วหัวรถจักรสูงสุด
จะเห็นได้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาแม้จะมีรางรถไฟมากแต่ไม่ค่อยมีการใช้ไฟฟ้า อาจจะเป็นเนื่องมาจากรถไฟส่วนใหญ่นั้นใช้ขนส่งสินค้าและการโดยสารโดยรถไฟยังไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนไปใช้หัวรถจักรไฟฟ้าเป็นจำนวนมากสอดคล้องกับความนิยมในการโดยสารที่สูง สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าความเร็วหัวรถจักรเรามีความเร็วที่ช้ามาก (ติดอันดับโลก) นอกจากนี้รางรถไฟของเราทั้งหมดเป็นแบบรางแคบและไม่มีกระแสไฟฟ้า (ยกเว้นแต่รถไฟสาย airport link ซึ่งคือจำนวน 29 กม.ที่เป็น standard guage ทั้งหมด) ไม่ว่าจะมองทางใด รถไฟของประเทศไทยนั้นนับจัดอยู่ในระดับที่เรียกว่า "ล้าหลังเป็นอย่างมาก"
จากข้อมูลของรายการ "จอโลกเศรษฐกิจ" ที่ทำเรื่องของการรถไฟไทย มีประเด็นที่เป็นใจความสำคัญดังนี้
- รางรถไฟในไทยกว่า 94% เป็นแบบรางเดี่ยว นั่นหมายถึงรถไฟไม่สามารถวิ่งสวนทางกันได้กว่า 94% ของประเทศ จึงมีลักษณะเป็นคอขวดทำให้เกิดการล่าช้า
- มีตู้ขบวนโดยสาร 1352 คัน ใช่ไม่ได้กว่า 500 คัน
- หัวรถจักรมี 256 คัน รุ่นเก่าสุดอายุ 45 ปี รุ่นใหม่สุดอายุ 13 ปี
- ความต้องการใช้งานหัวรถจักร 155 คันต่อวัน ใช้ได้จริง 137 คัน
อย่างไรก็ตามข้อมูลที่บ่งบอกถึงความ "ล้าหลัง" ที่สุดของรถไฟไทยได้ดีที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้คงจะมาจากประสบการณ์โดยตรงของทุกๆท่านกับรถไฟไทยของเราที่แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา หากผู้อ่านได้ลองนั่งรถไฟมาไม่นานนี้ (หรือเมื่อนานมาแล้วก็ตามที) จะพบว่าเรายังคงอนุรักษ์เอาไว้ซึ่งหัวรถจักรดีเซลที่เหม็น ส่งเสียงดัง สั่นสะเทือน ตารางเวลาที่ไม่เคยเป็นไปได้จริง ตู้รถไฟชั้นสามที่ร้อน เหม็นฉี่ และสกปรก