ซากบีอาร์ที เอาไว้ทำอะไรดี?
เมื่อรื้อบีอาร์ทีแล้ว จะเอาซากไว้ทำอะไรดีในระหว่างรอการพัฒนาใหม่ โดยเฉพาะช่วงถนนนราธิวาสราชนครินทร์ที่มีผู้ใช้บริการมาก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ความเห็นว่าตามที่มีผู้พยายามลงชื่อขอให้มีการคงใช้รถ BRT ต่อไปในอนาคต ข้อนี้คงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเพราะทางการขาดทุนปีละ 200 ล้านบาท รวมแล้วนับพันล้านบาท หากให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งก็คงมีผู้ได้รับประโยชน์ แต่เป็นการเอาเปรียบสังคมอย่างไม่สมควร
ที่ผ่านมาขาดทุนปีละ 200 ล้านบาท (http://bit.ly/1tbPFnc) หากไม่ต้องการให้ขาดทุนสำหรับผู้ใช้สอยวันละ 20,000 คน ก็คงต้องขึ้นราคาอีกเที่ยวละ 27.4 บาท จากที่เก็บค่าโดยสารปัจจุบัน 5 บาท กลายเป็น 32.4 บาท หรือเผื่อค่าดำเนินการต่าง ๆ ก็ควรเก็บ 40 บาทตลอดสาย และเพื่อหาเงินชดเชยที่ขาดทุนไปแล้วนับพันล้าน ก็คงต้องขึ้นราคาอีกเที่ยวละ 20 บาท รวมเป็นเงิน 60 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการขึ้นราคาที่ประชาชนผุ้ใช้บริการคงรับไม่ได้เพราะปัจจุบันราคาเพียง 5 บาท และค่ารถประจำทางในปัจจุบันก็มีค่าโดยสารที่ถูกกว่านี้
ตามตัวเลขข้างต้น การคงรถบีอาร์ทีไว้ คงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ควรดำเนินการในทางเลือกก็คือ
1. การสร้างรถไฟฟ้าวิ่งแทนเพราะคลองตรงกลางถนนสามารถสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าได้โดยไม่กระทบต่อการจราจรในปัจจุบันมากนัก ทั้งนี้ต้องมีการแก้ผังเมืองให้สามารถก่อสร้างพื้นที่อาคารในอัตราส่วนได้ถึง 15-20 เท่าของพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio) เพื่อเพิ่มปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้า
2. เส้นทาง BRT นี้ให้ใช้เป็นช่องจราจรพิเศษ เฉพาะช่วงเวลา 0630-0900 น. และช่วง 1630 - 19:00 น. เพื่อให้รถประจำทางวิ่งโดยเฉพาะ เพื่อการบริการแก่ประชาชน แต่นอกเหนือจากเวลานี้ ให้คืนพื้นที่จราจรให้กับรถอื่นๆ
จากประสบการณ์สำรวจบีอาร์ทีในต่างประเทศโดยเฉพาะที่กรุงจาการ์ตา ดร.โสภณ ในฐานะที่เคยไปทำงานให้กับธนาคารโลก และให้กับกระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย พบว่า บีอาร์ทีเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ที่ยังดำเนินการอยู่ได้ในกรุงจาการ์ตาเพราะยังไม่มีทางเลือกอื่นและเป็นวิสาหกิจผูกขาดคล้ายบีทีเอสของไทย แต่บีอาร์ทีก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเจริญโดยรอบได้เช่นกรณีรถไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามบีอาร์ทีถือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายทางหนึ่งก็ได้ เพราะเป็นกิจกรรมเพื่อการหาเสียง และทำให้รัฐเกิดความเสียหาย