หนังสือ "กรณีธรรมกาย" มุ่งให้ร้ายธรรมกาย?: วิพากษ์ความคิด ป. อ. ปยุตฺโต กรณีธรรมกาย 2
AREA แถลงฉบับนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย
บางคนเข้าใจว่าหนังสือ "กรณีธรรมกาย" เป็นเอกสารที่ยืนยันว่าธรรมกายสอนผิดอย่างถึงแก่น แต่ความจริงอาจไม่ใช่ อาจเป็นเพียงแค่เอกสารโฆษณาให้เกลียดชังธรรมกายมากกว่าบทวิเคราะห์ที่เป็นธรรม ลองมาวิเคราะห์กันดูเพื่อสังคมอุดมปัญญา
หนังสือ "กรณีธรรมกาย บทเรียนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทยฉบับเพิ่มเติม-จัดลำดับใหม่" เล่มนี้เขียนโดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในปัจจุบัน ฉบับพิมพ์ ครั้งที่ 24 - มกราคม 2551 หน้า 396-421 (http://bit.ly/VxBuIU) เผยแพร่ทางเว็บไซต์ให้ download ฟรีโดยวัดญาณเวศกวันของสมเด็จฯ เอง หนังสือนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2542 และพิมพ์ล่าสุด ครั้งที่ 31 เมื่อเดือนมีนาคม 2559
หนังสือเล่มนี้หนา 440 หน้า เมื่อรวมสารบัญอะไรต่าง ๆ ด้วยแล้วก็หนาถึง 456 หน้า บรรจุความรู้ต่างๆ เข้าไปมากเหลือเกินสมกับที่สมเด็จฯ เป็นผู้ได้รับการยกย่องถึงความรอบรู้ แต่ในหนังสือนี้กลับวิพากษ์วิจารณ์ถึง "เอกสารของวัดธรรมกาย" ซึ่งก็เป็นแค่บทความฉบับเดียวของพระสมชาย ฐานวุฑโฒ ที่ชื่อว่า "นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา" ที่เขียนเมื่อปี 2542 (และตีพิมพ์ในมติชนรายวัน 13 มกราคม 2542) และปรากฏในหนังสือกรณีธรรมกายฯ หน้า 272-282 นับเป็นเรื่องแปลกจริงๆ ที่สมเด็จฯ เขียนหนังสือถึง 456 หน้า โต้บทความสั้นๆ แค่ 11 หน้าแค่นี้
พระสมชาย (ฐานวุฑโฒภิกขุ) หรือพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (http://bit.ly/2ljbsXo) ในปัจจุบัน เคยเป็นนายแพทย์และกำลังเรียนปริญญาเอกในขณะนั้น ในวันที่เขียนบทความก็เพิ่งบวชเรียนมา 14 พรรษา อายุ 38 ปี และคงยังไม่ได้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมกายด้วยซ้ำไป ส่วนสมเด็จฯ ในขณะนั้นบวชเรียนมาแล้ว 38 พรรษา อายุ 61 ปี เรียกว่าเป็นการ "ชกข้ามรุ่น" ระดับพ่อ-ลูก
สำหรับเอกสาร 11 หน้าที่สมเด็จฯ เอามาวิพากษ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวนี้ จะถือว่าเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการของวัดธรรมกายก็ใช่ที่ สำหรับแนวทางที่ควร สมเด็จฯ น่าไปรวบรวมตำรา ข้อเขียน หรือเทปคำสอนของเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่ในวัดธรรมกาย มาวิพากษ์วิจารณ์จึงจะถือว่าเป็นการหาข้อมูลที่ถูกต้องสมควร ทั้งนี้ควรรวบรวมมาอย่างน้อยก็เป็นสิบเล่ม จึงจะทำการวิเคราะห์อย่างมีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือเพียงพอได้
การวิพากษ์ความเห็นของ "พระเด็ก" ในวัดธรรมกายที่เขียนแค่บทความชิ้นหนึ่งออกมา แต่สมเด็จกลับตอบโต้ถึง 440 หน้า อาจทำให้ดูไม่งาม และกลายเป็นการเขียนที่เยิ่นเย้อ แม้ผู้อ่านจะได้ความรู้เพิ่มเติมในหลายเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่องที่แม้เกี่ยวข้องแต่ไม่จำเป็นและควรที่จะกระชับให้ได้ใจความสำคัญ ยิ่งกว่านั้นท่านควรมีระเบียบวิธีวิจัยที่ดีกว่านี้คือ มีการกล่าวถึงปัญหาของวัดธรรมกายเป็นข้อ ๆ แสดงวิธีในการศึกษา แล้วลงมือวิเคราะห์ให้เห็นข้อผิดพลาดเป็นเปลาะๆ ไป แต่เสียดายที่หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาปนเป
ในบทความของพระสมชายที่สมเด็จฯ อ้างถึง มีความตอนท้ายว่า "อาจสรุปได้ประการหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถอาศัยหลักฐานทางคัมภีร์เท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบันมาสรุปยืนยัน (อย่างใดอย่างหนึ่ง) โดยไม่มีประเด็นให้ผู้อื่นโต้แย้งคัดค้านได้. . . เมื่อเราปฏิบัติจนสามารถเข้าถึงอายตนนิพพานนั้นได้แล้ว เราย่อมตระหนักชัดด้วยตัวของเราเองว่า นิพพานนั้นเป็นอัตตาหรืออนัตตา ดีกว่าการมานั่งถกเถียงกันโดยไม่ลงมือปฏิบัติ" ข้อนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าบทความนี้มุ่งเปิดกว้างเพื่อให้เกิดสังคมอุดมปัญญา ไม่ได้กล่าวสรุปเป็นตุเป็นตะว่าต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
ประเด็นเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตานั้น พูดไปพูดมา ชาวบ้านทั่วไปคงไม่ได้อะไรมากนัก เราอาจคุยกันได้ในเชิงหลักการ แต่ใครจะไปนิพพานยังไง คงนึกภาพได้ยาก อย่าว่าแต่ระดับตรัสรู้เลย ใครกล้าบอกว่าตนบรรลุแค่โสดาบัน ก็ยังไม่รู้จะเชื่อได้หรือไม่ ถ้านำเรื่องนี้ไปถามหลวงปู่ทวด ครูบาศรีวิชัย หลวงปู่มั่น หลวงพ่อคูณ ฯลฯ ท่านก็คงไม่มาถกจับผิดกันหรอก ท่านเหล่านั้นคงต่างมุ่งในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามในวงการศึกษา ก็ควรนำมาถกกันบ้างเพราะจะได้เป็นการศึกษาศาสนาพุทธให้ลึกซึ้ง เพียงแต่ไม่พึงพูดในเชิงให้ร้ายกัน
ในหนังสือ "กรณีธรรมกาย" นี้ เริ่มต้นยังทันได้วิเคราะห์ก็ "พาดหัว" คล้ายพิพากษาในเชิงลบให้ธรรมกายเสียหายอย่างหนักหนาสาหัสเสียแล้ว เช่น "กรณีธรรมกาย ถึงขั้นจ้วงจาบพระธรรมวินัย" (น.1) ". . .ทําพระธรรมวินัยให้วิปริต ร้ายยิ่งกว่า" (น.4) "ถ้าตีรวนพระไตรปิฎกได้ก็ถอนรากพระสงฆ์ไทยสําเร็จ" (น.28) ลักษณะการเขียนพาดหัวแบบนี้ตั้งแต่หน้าแรก ๆ โดยที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ ดูคล้ายไม่ได้มุ่ง "เพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทย" ดังชื่อหนังสือเสียแล้ว
นอกจากว่าสมเด็จฯ ไม่ได้ศึกษาหนังสือหรือตำราที่เป็นทางการของวัดธรรมกาย มาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแล้ว ยังเพียงเอาคำสัมภาษณ์ของพระรูปหนึ่ง (ไม่ได้อ้างชื่อ) ในมติชน อาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2542 น.7 ที่ว่า "ต่อมาทางวัดมีพระที่ออกมาพูดกล่าวตอบทํานองว่า เรายึดแนวพระพุทธเจ้าจะชนะด้วยความสงบนิ่ง . . ." สมเด็จก็เขียนวิพากษ์ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้ความสงบนิ่งมาเอาชนะเท่านั้น บางทีก็ใช้ฤทธิ์ หรืออย่างอื่นหลายๆ อย่าง ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ในกรณีนี้หากวัดธรรมกายเลือกใช้วิธีสงบนิ่งก็ถือเป็นสิ่งที่ดี จะสังเกตได้ว่ามีคนกล่าวหาวัดธรรมกายและเจ้าอาวาสมากมาย แต่พวกเขาก็แทบไม่เคยออกมาตอบโต้ใครเลย ข้อนี้นับเป็นสปิริตอย่างสูงก็ว่าได้
ในทางตรงกันข้าม สมเด็จกลับมองฝ่ายคุกคามธรรมกายในแง่บวก โดยสมเด็จฯ เขียนว่า "แม้บางท่านจะรุนแรงทางถ้อยคําบ้าง ก็อาจเป็นเพราะความที่รักพระพุทธศาสนาและบ้านเมืองมาก เมื่อเห็นอยู่ชัดเจนว่าคำสอนและการปฏิบัติของชาวสํานักผิดแผกแตกต่างหรือสวนทางไปไกลด้วยความรักต่อพระศาสนาและส่วนรวม จึงทําให้ท่านเหล่านั้นอดใจไม่ได้ต้องแสดงออกมารุนแรง แต่ก็เพียงด้วยวาจา" (น.251) การเขียนของสมเด็จฯ อย่างนี้อาจแตกต่างไปจากหลักอุเบกขาหรือไม่ อันที่จริงควรเตือนฝ่ายคุกคามให้เลิกก่อวจีกรรมต่อชาวพุทธชาวไทยด้วยกันเสียบ้าง
โดยภาพรวมแล้วหนังสือกรณีธรรมกายฯ ของสมเด็จฯ ไม่ได้วิเคราะห์อะไรเป็นพิเศษจากคำสอนของธรรมกาย มีเพียงอ้างหนังสือ “เดินไปสู่ความสุข” ของวัดที่หน้า 38 ว่าได้เล่าเรื่องครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 แม่ชีได้ปัดระเบิดไปตกฮิโรชิมา แต่เมื่อตรวจดูหนังสือดังกล่าว (http://bit.ly/2ljlMhZ) ก็ไม่พบเรื่องฮิโรชิมา แต่มีการปัดระเบิดในไทย ซึ่งเป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ที่ผมเองก็ไม่เชื่อ แต่เรื่องแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่เขียนในวงการพระไทยโดยทั่วไป สมเด็จฯ ไม่ควรเลือกเพ่งโทษเฉพาะธรรมกาย อย่างไรก็ตามพื้นที่ส่วนใหญ่ของหนังสือของสมเด็จฯ ก็เน้นไปในเรื่องอื่น เช่น ภาค ๒ บุญ–บารมีที่จะกู้แผ่นดินไทย (น.283-357) ส่วนหน้า 392-442 ผมได้วิพากษ์ไปแล้วก่อนหน้านี้ (http://bit.ly/2ldBU4w)
อาจกล่าวได้ว่าสมเด็จฯ มีฐานะที่สูงส่งเป็นพระผู้ใหญ่ สิ่งที่ท่านเขียนจึงมีคนเชื่อโดยไม่ได้วินิจฉัยเอง หรืออาจจะเชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ชัดเจนด้วยซ้ำไป อันที่จริงควรจัดเวทีถกเถียงเพื่อให้เกิดสังคมอุดมปัญญา แทนการเขียนอยู่ข้างเดียวแบบนี้ แถมมีการตีพิมพ์ซ้ำๆ ไปแล้วถึง 31 ครั้งในระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายวัดธรรมกายก็คงเห็นว่าการโต้แย้งไปก็ไร้ประโยชน์เพราะฝ่ายตรงข้ามเน้นแต่บริภาษเป็นหลัก การไม่ได้อ่านหนังสือของสมเด็จฯ ให้ชัดเจน จึงกลายเป็นการสร้างความแตกแยกไปเสียอีก
ถ้าเรารักพุทธศาสนา ก็ควรมีท่าทีที่เป็นมิตร และร่วมกันพัฒนาศาสนาพุทธให้ดีกว่านี้จะดีกว่านะครับ
หนังสือกรณีธรรมกาย 440 หน้า พิมพ์ถึง 31 ครั้งในรอบ 18 ปี เพื่อตอบโต้บทความ 11 หน้าของพระหนุ่มรูปหนึ่งที่บวชที่วัดธรรมกาย!?!
ถ้าเรารักพุทธศาสนา ก็ควรมีท่าทีที่เป็นมิตร และร่วมกันพัฒนาศาสนาพุทธให้ดีกว่านี้จะดีกว่านะครับ