หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

พญาช้าง(ฉัททันต์)ถูกตัดงา ๓ ครั้ง [สีลวนาคชาดก]

โพสท์โดย นาคเฝ้าคัมภีร์
จากข้อมูลในมิลินทปัญหา (โดยย่อ) ความว่า

ชาติหนึ่งเล่า พระบรมโพธิสัตว์เจ้าเป็นพระยาช้างฉัททันต์ พระเทวทัตนั้นเป็นพรานตามฆ่าเอางา
ชาติหนึ่งเล่า พระโพธิสัตว์เจ้าเป็นพระยาช้าง พระเทวทัตเป็นพรานชื่อว่าสุสามะตามไปเลื่อยงาถึง ๓ ครั้ง(ตามตำราเดิมว่า ๗ ครั้ง แต่พิจารณาแล้ว ควรเป็น ๓ ครั้งมากกว่า คาดว่าเกิดความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกตำรา)
เมื่อพระตถาคตเสวยพระชาติเป็นพระยาคชสารชื่อว่าฉัททันต์นั้น ยังมีพรานคนหนึ่งเห็นพระยาฉัททันต์นั้นกับบริวารนมัสการพระสมณะนุ่งห่มกาสาวพัสตร์โดยเคารพนับถือยิ่งนักหนา พรานป่านั้นจึงเอาผ้ากาสาวพัสตร์ย้อมฝาดนุ่งห่มเข้าแล้วก็ปลอมเป็นสมณะนั่งอยู่ที่ร่มไม้ ส่วนว่าหมู่ช้างบริวารกับพระยาฉัททันต์ก็อภิวันท์ไหว้พรานนั้นด้วยสำคัญว่าเป็นสมณะ ยกงวงจบแล้วพากันไป พรานนั้นจึงยิงช้างตัวหลังที่ล้าๆ อยู่นั้นคราวละตัวๆ จนบริวารพระยาฉัททันต์น้อยไป พระยาฉัททันต์ประกอบด้วยปัญญาจึงคิดคุมบริวารตามมาต่อภายหลัง ก็เห็นนายพรานกระทำดังนั้น พระยาฉัททันต์จึงเอางวงฉวยจับพรานนั้นได้ คิดว่าจะฆ่าพรานนั้นให้ตายแต่ได้เห็นกาสาวพัสตร์พันกายพรายอยู่ ก็มิได้ฆ่าพรานนั้นด้วยจิตสำคัญว่าผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นธงชัยพระอรหันต์อันเลิศ

กล่าวโดยสรุป จากมิลินทปัญหา จึงสรุปความได้ว่า พระโพธิสัตว์ได้เสวยชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์ ๓ ชาติ และถูกตัดงาถึง ๒ ชาติด้วยกัน
ชาติหนึ่งโดนตัดงาแล้วไม่เสียชีวิต คือเหตุการณ์ใน สีลวนาคชาดก
ชาติหนึ่งโดนตัดงาแล้วเสียชีวิต คือเหตุการณ์ใน ฉัททันตชาดก
ชาติหนึ่งไม่ถูกตัดงาไป คือเหตุการณ์ใน กาสาวชาดก
และจากข้อมูลจากมิลินทปัญหาที่ว่า ชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์เจ้าเป็นพระยาช้าง พระเทวทัตเป็นพรานชื่อว่าสุสามะตามไปเลื่อยงาถึง ๓ ครั้ง จึงสรุปได้ว่า เป็นเหตุการณ์จาก สีลวนาคชาดก นี้เอง
 
จากการสืบค้น ทางเราจึงสามรถชำระชาดกเพิ่มเติมได้ ดังนี้
 
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตพระองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลช้างฉัททันต์ ณ หิมวันตประเทศ พอคลอดจากครรภ์มารดา ก็มีอวัยวะขาวปลอด มีสีเปล่งปลั่งดังเงินยวง นัยน์ตาทั้งคู่ของพระยาช้างนั้น ปรากฏเหมือนกับแก้วมณี มีประสาทครบ ๕ ส่วนปากเช่นกับผ้ากัมพลแดง งวงเช่นกับพวงเงินที่ประดับระยับด้วยทอง เท้าทั้ง ๔ เป็นเหมือนย้อมด้วยน้ำครั่ง อัตภาพอันบารมีทั้ง ๑๐ ตกแต่งของพระโพธิสัตว์นั้น ถึงความงามเลิศด้วยรูปอย่างนี้
ครั้งนั้น ฝูงช้างในป่าหิมพานต์ทั้งสิ้นมาประชุมกันแล้ว พากันบำรุงพระโพธิสัตว์ผู้ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว พระโพธิสัตว์จึงมีช้างแปดหมื่นเป็นบริวาร อยู่อาศัยในหิมวันตประเทศด้วยประการฉะนี้ ภายหลังเห็นโทษในหมู่คณะ จึงหลีกออกจากหมู่ สู่ที่สงบสงัดกาย พำนักอาศัยอยู่ในป่าแต่ลำพังผู้เดียวเท่านั้น และเพราะเหตุที่ช้างผู้พระโพธิสัตว์นั้นเป็นสัตว์มีศีล จึงได้นามว่า "สีลวนาคราช" อันมีความหมายว่า พญาช้างผู้มีศีล
ครั้งนั้น พรานป่าชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่งชื่อว่า สุสามะ เข้าสู่ป่าหิมพานต์ เสาะแสวงหาสิ่งของอันเป็นเครื่องยังชีพของตน ไม่อาจกำหนดทิศทางได้ หลงทาง เป็นผู้กลัวแต่มรณภัย ยกแขนทั้งคู่ร่ำร้องคร่ำครวญไป
พระโพธิสัตว์ได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญของพรานผู้นั้นแล้ว อันความกรุณาเข้ามาตักเตือนว่า เราจักช่วยบุรุษผู้นี้ให้พ้นจากทุกข์ ก็เดินไปหาเขาใกล้ๆ เขาเห็นพระโพธิสัตว์แล้ววิ่งหนีไป พระโพธิสัตว์เห็นเขาวิ่งหนีก็หยุดยืนอยู่ตรงนั้น บุรุษนั้นเห็นพระโพธิสัตว์หยุดจึงหยุดยืน พระโพธิสัตว์ก็เดินใกล้เข้าไปอีก เขาก็วิ่งหนีอีก เวลาพระโพธิสัตว์หยุด เขาก็หยุด แล้วดำริว่า
ช้างนี้เวลาเราหนีก็หยุดยืน เดินมาหาเวลาที่เราหยุด เห็นทีจะไม่มุ่งร้ายเรา แต่คงปรารถนาจะช่วยเราให้พ้นจากทุกข์นี้เป็นแน่ เขาจึงกล้ายืนอยู่
พระโพธิสัตว์เข้าไปใกล้เขา ถามว่า
ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เหตุไรท่านจึงเที่ยวร่ำร้องคร่ำครวญไป
เขาตอบว่า
ท่านช้างผู้จ่าโขลง ข้าพเจ้ากำหนดทิศทางไม่ถูก หลงทาง จึงเที่ยวร่ำร้องไปเพราะกลัวตาย
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์จึงพาเขาไปยังที่อยู่ของตน เลี้ยงดูจนอิ่มหนำด้วยผลาผลอยู่ ๒-๓ วันแล้วกล่าวว่า
อย่ากลัวเลย ข้าพเจ้าจักพาท่านไปสู่ถิ่นมนุษย์แล้วให้นั่งหลังตน พาไปส่งถึงถิ่นมนุษย์
ครั้งนั้นแล พรานป่าเป็นคนมีสันดานทำลายมิตร จึงคิดมาตลอดทางว่า ถ้ามีใครถามต้องบอกได้ ดังนี้ นั่งมาบนหลังพระโพธิสัตว์ วางแผนกำหนดที่หมายต้นไม้ ที่หมายภูเขาไว้ถ้วนถี่ทีเดียว ครั้นพระโพธิสัตว์พาเขาออกไปจนพ้นป่าแล้ว หยุดที่ทางใหญ่อันเป็นทางเดินไปสู่พระนครพาราณสี สั่งว่า
ดูก่อนท่านผู้เจริญ ท่านจงไปทางนี้เถิด แต่ถ้ามีใครถามถึงที่อยู่ของเรา ท่านอย่าบอกนะ
ดังนี้ ส่งเขาไปแล้ว ก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตน
ครั้งนั้น บุรุษนั้นไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว ก็ไปถึงถนนช่างสลักงา เห็นพวกช่างสลักงากำลังทำเครื่องงาหลายชนิด จึงถามว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าได้งาช้างที่ยังเป็นๆ ท่านทั้งหลายจะซื้อหรือไม่?
พวกช่างสลักงาตอบว่า
ท่านผู้เจริญ ท่านพูดอะไร ธรรมดางาช้างเป็นมีค่ามากกว่างาช้างที่ตายแล้วหลายเท่า
เขากล่าวว่า
ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักนำงาช้างเป็นมาให้พวกท่าน
แล้วจัดเสบียงคือเลื่อยไปสู่ที่อยู่ของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์เห็นเขามาจึงถามว่า
ท่านมาเพื่อประสงค์อะไร?
เขาตอบว่า
ดูก่อนท่านผู้เป็นจ่าโขลง ข้าพเจ้าเป็นคนยากจนกำพร้า ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ มาขอตัดงาท่าน ถ้าท่านจักให้ก็จะถืองานั้นไปขายเลี้ยงชีวิตด้วยทุนทรัพย์นั้น
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า
เอาเถิดพ่อคุณ เราจักให้งาท่าน ถ้ามีเลื่อยสำหรับตัดงา
เขากล่าวว่า
ท่านผู้เป็นจ่าโขลง ข้าพเจ้าถือเอาเลื่อยเตรียมมาแล้ว
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า
ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเอาเลื่อยตัดงาเถิด แล้วคุกเท้าหมอบลงเหมือนโคหมอบ เขาก็ตัดงาคู่หนึ่งของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์จับงาเหล่านั้นด้วยงวง พลางตั้งปณิธานเพื่อพระสัพพัญญุตญาณว่า
ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ใช่ว่าเราจะให้งาคู่นี้ด้วยคิดว่า งาเหล่านี้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเราดังนี้ก็หามิได้ แต่ว่า พระสัพพัญญุตญาณอันสามารถจะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงเป็นที่รักของเรายิ่งกว่างาเหล่านี้ตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า การให้งานี้เป็นทานของเรานั้น จงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณเถิด
แล้วสละงาทั้งคู่ให้ไป
เขาถืองานั้นไปขาย ครั้นสิ้นทุนทรัพย์นั้นก็ไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์อีก กล่าวว่า
ดูก่อนท่านผู้เป็นจ่าโขลง ทุนทรัพย์ที่ได้เพราะขายงาของท่าน เพียงพอแค่ชำระหนี้ของข้าพเจ้าเท่านั้น โปรดให้งาที่เหลือแก่ข้าพเจ้าเถิด
พระโพธิสัตว์ก็รับคำแล้วยอมให้เขาตัด ยกงาอีกคู่หนึ่งให้โดยนัยเดียวกับครั้งก่อน ถึงเขาจะขายงาเหล่านั้นแล้วก็ยังย้อนมาอีก กล่าวขอว่า
ดูก่อนท่านผู้เป็นจ่าโขลง ข้าพเจ้าไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ โปรดให้งาส่วนที่เหลือแก่ข้าพเจ้าเถิด
พระโพธิสัตว์รับคำแล้วก็หมอบลงโดยนัยก่อน คนใจบาปนั้นก็เหยียบงวงอันเปรียบเหมือนพวงเงินของมหาสัตว์ ก้าวขึ้นสู่กระพองอันเปรียบได้กับยอดเขาไกรลาส เอาส้นกระทืบพลายงาทั้งสอง ฉีกเนื้อตรงสนับงา ลงมาจากกระพอง เอาเลื่อยตัดคู่งาแล้ว ก็หลีกไป
ก็ในเมื่อคนใจบาปนั้นเดินพ้นไปจากคลองจักษุของพระโพธิสัตว์เท่านั้น แผ่นดินอันทึบหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ถึงจะสามารถทรงไว้ซึ่งของหนักแสนหนัก มีขุนเขาสิเนรุ และยุคนธรเป็นต้น และถึงจะทรงไว้ซึ่งสิ่งที่น่าเกลียดมีกลิ่นเหม็น มีคูถและมูตรเป็นต้นก็เป็นเสมือนไม่สามารถจะทานไว้ได้ ซึ่งกองแห่งโทษมิใช่คุณของบุรุษนั้น จึงแยกให้ช่อง ทันใดนั้นเอง เปลวไฟแลบออกจากมหานรกอเวจี ห่อหุ้มคลุมบุรุษผู้ทำลายมิตรนั้น เป็นเหมือนคลุมด้วยผ้ากัมพลสีแดงอันเป็นของที่ตระกูลให้ก็ปานกัน
เวลาที่คนใจบาปเข้าไปสู่แผ่นดินอย่างนี้แล้ว รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ราวป่านั้น กำหนดเหตุว่า ถึงจะให้จักรพรรดิราชสมบัติ ก็ไม่อาจให้บุรุษผู้อกตัญญูนี้ ซึ่งเป็นผู้ทำลายมิตร พอใจได้ เมื่อจะแสดงธรรมให้กึกก้องไปทั่วป่า จึงกล่าวว่า

อกตญฺุสฺส โปสสฺสนิจฺจํ วิวรทสฺสิโนสพฺพญฺเจ ปฐวี ทชฺชาเนว นํ อภิราธเยติ

บุรุษผู้ไม่รู้คุณที่คนอื่นทำแก่ตน
มีความเที่ยง เป็นผู้มองหาช่องโอกาส(ในการทำชั่ว)อยู่ร่ำไป
แม้ให้แผ่นดินทั้งหมด
ก็ไม่สามารถจะให้บุคคลเห็นปานนี้ ยินดีได้เลย
เทวดานั้นแสดงธรรมสนั่นไปทั่วป่าด้วยประการฉะนี้
พระโพธิสัตว์ดำรงอยู่ตราบสิ้นอายุขัยได้ไปตามยถากรรม
 
เมื่อก่อนพระเทวทัตก็ประพฤติผิดในพระศาสดา
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า
“พระเทวทัตถึงฐานะประมาณเท่านี้ ไม่ทันได้เฝ้าพระศาสดา จมลงสู่แผ่นดินแล้ว”
พระศาสดาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตประพฤติผิดในเรา จมดินลงไปในบัดนี้เท่านั้น หามิได้, แม้ครั้งก่อน เธอก็จมลงแล้วเหมือนกัน”, เพื่อจะทรงแสดงความที่บุรุษหลงทาง อันพระองค์ปลอบโยนแล้ว ยกขึ้นหลังของตนแล้ว ให้ถึงที่อันเกษมแล้ว กลับมาตัดงาทั้งหลายอีกถึง ๓ ครั้ง ในวาระที่ ๓ เมื่อก้าวล่วงคลองจักษุแห่งมหาบุรุษแล้ว ก็จมแผ่นดิน ในกาลที่พระองค์เป็นพญาช้าง(ฉัททันต์) จึงตรัสชาดกนี้เป็นต้นว่า
“หากจะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญูผู้เพ่งโทษเป็นนิตย์ ก็ไม่ยังเขาให้ยินดีได้เลย”
 
วิเคราะห์ลักษณะ ช้างฉัททันต์(Chaddanta)
ตามอรรถกถาชาดกที่มีบันทึกในภาษาไทย ต่างบอกตามๆกันมาว่า ช้างฉัททันต์ มีงา ๑ คู่ ที่เปล่งแสง ๖ รัศมี ทว่า กลับไม่มีการขยายความว่า รัสมีนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่ง การแปลว่า มีงา ๑ คู่ ที่เปล่งแสง ๖ รัศมี นั้น เป็นการแปลเองโดยฝ่ายไทยเพียงข้างเดียว ไม่มีการเทียบเคียงกับหลักฐานอื่นใดจากต่างประเทศ ทั้งๆที่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาสากล (เคย)รุ่งเรืองอยู่ในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการค้นคว้า เราพบข้อมูลประกอบคำแปลที่แท้จริงของคำว่า ฉัททันต์ คือ ฉ แปลว่า ๖ / ทันต์ แปลว่า ฟัน ฉะนั้น ช้างฉัททันต์ตามความจริง จะต้องเป็นช้าง ๖ งา ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียกลักษณะช้างชนิดนี้ว่า White Elephant Six Tusks แปลว่า ช้าง ๖ งา อย่างตรงตัว ซึ่งชื่อนี้เป็นที่ยอมรับกันในสากล จะมีก็แต่ไทยเท่านั้นที่ยังคงยึดว่า ช้างฉัททันต์นั้น มีงา ๑ คู่ ที่เปล่งแสง ๖ รัศมี(หากมีประเทศอื่นอีกต้องขออภัย) ซึ่งหลักฐานเก่าแกชิ้นหนึ่งเป็นภาพหินแกะสลักจากถ้ำหมายเลข ๑๐ ของถ้ำอชันตา(Ajanta)ซึ่งมีอายุราว พุทธศตรรษที่ ๗ ซึ่งมีความเก่าแก่พอที่จะยึดได้ว่า เป็นหลักฐานยืนยันลักษณะของช้างฉัททันต์ที่เก่าแก่และถูกต้องมากที่สุด
 
ภาพจาก http://ignca.nic.in/jatak004.htm
 
 
ภาพวาด(พญา)ช้างฉัททันต์ จาก https://vidhaanam.com/2016/08/
 
 
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
12 VOTES (4/5 จาก 3 คน)
VOTED: เผลอหัวใจ, paktronghie, ประแสร์
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
นักศึกษา 22 ปี ช็อก! พบเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้ายจากอาหารยอดนิยม 3 อย่างที่ใครหลายคนมองข้ามเต้นงานบุญกฐินฝันหญิงแต่งสไบ ยืนในน้ำสวนยางพารา แบ็กโฮขุด อึ้ง!เจอต้นตะเคียนยักษ์หัวใจเต้นผิดจังหวะ...หรือเปล่า? เช็กอาการ เสี่ยงโรคหัวใจแบบไหน?5 วิธีจัดการกับความอิจฉา เปลี่ยนความรู้สึกให้เป็นพลังใจ5 อาชีพสายช่างมาแรง! Gen Z แห่เรียน สอดรับเทรนด์ New Collar Workforceพรรคเพื่อไทย" ลงพื้นที่ช่วย “ป๊อบ” หาเสียงนายก อบจ.อุดรธานี ศึกใหญ่วัดพลังฐานเสียงหวังชนะขาด เชื่อ "ทักษิณ" ลงมาช่วยได้กระแสบวก...มากกว่ากระเเสลบ
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ล่าสุดบรรดาคนที่ด่า ใหม่ ดาวิกา ออกมาโพสต์ขอโทษแล้วหลังทนายรับเรื่องเตรียมฟ้อง "บุกจับหลวงตา 'เวิร์คฟอร์มโฮม' สึกซ้ำรอบที่สาม!"ไล่หอยทากด้วยเปลือกไข่คั่วโอปอล ลั่นกลองรบ ! สวมชุดประจำชาติไทยสู้ศึกจักรวาล - แรงบันดาลใจจากสมเด็จพระสุริโยทัยฝันหญิงแต่งสไบ ยืนในน้ำสวนยางพารา แบ็กโฮขุด อึ้ง!เจอต้นตะเคียนยักษ์5 อาชีพสายช่างมาแรง! Gen Z แห่เรียน สอดรับเทรนด์ New Collar Workforce
ตั้งกระทู้ใหม่