นิยามรักแท้ในศาสนาพุทธ
ความหมายของรักแท้คืออะไรในศาสนาพุทธ? ในศาสนาพุทธ ไม่มีความรักใดที่จะเท่าความรักที่ตนเองมีให้แก่ตนเอง ความรักใดฯที่คนอื่นมีให้ตน หรือความรักที่ตนเองมีให้คนอื่นไม่เรียกว่ารักแท้ รักแท้มีได้เฉพาะตนเองมีให้ตนเองเท่านั้น
บางคนรักกันมาก สวีทกันมาก คนนี้ละใช่ ก็บอกว่านี้คือรักแท้ แต่ความรักนั้นมีเงื่อนไข เพราะถ้ารูปไม่สวย ฐานะไม่ร่ำรวย ร่างกายพิการ จะรัก จะรับกันได้ไหม? เพราะฉะนั้น เมื่อความรักมีเงื่อนไขแบบนี้ จึ่งไม่เรียกว่า "รักแท้" เป็นแค่ความรักใคร ความพอใจก็เท่านั้น
แต่ก็มีอยู่ที่ถึงแม้รูปจะไม่สวย ฐานะจะไม่ร่ำรวย ร่างกายจะพิการ แต่เขาก็ยังรักกัน ยังรับกันได้ มีให้เห็นอยู่ นี้ไม่เรียกว่ารักแท้หรอกหรือ? อันนี้ก็ยัง ไม่เรียกว่า "รักแท้" เป็นเพียงแค่ความรักใคร ความพอใจ อันมีความเกี่ยวข้องกับกรรมเก่าชึ่งทำให้ทั้ง
สองมีความพอใจ ยอมรับชึ่งกันและกันและ ได้มาอยู่ร่วมกันก็เท่านั้น แต่ไม่ใช่ "รักแท้"
แม้แต่ความรักที่พ่อแม่มีให้แก่ลูก ก็ยังไม่ใช่ รักแท้ แต่พ่อแม่เป็นผู้ที่มีอุปการะมาก มีพระคุณมาก ตอบแทนได้ยากมาก แต่ถ้าพูดในเรื่องของความรักที่มีให้แก่ลูก ความรักที่พ่อแม่มีให้นั้น ยังไม่ใช่รักแท้ เพราะพ่อแม่ก็สามารถทิ้งลูกได้ก็มี ทำสิ่งที่ไม่ดีต่อลูกก็มี ชึ่งมันไม่แน่นอน ไม่เที่ยงแท้
พระพุทธเจ้ารับรองให้แล้วว่า ความรักที่พ่อแม่มีให้แก่ลูกยังไม่ใช่รัก"แท้" ในครั้งนั้น มีเทวดาตนหนึ่ง กล่าวคาถานี้ในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า...
"ความรักเสมอด้วยบุตรไม่มี ทรัพย์
เสมอด้วยโคย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอ
ด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี สระทั้งหลาย
มีทะเลเป็นอย่างยิ่ง"
แต่สิ่งที่เทวดานั้นกล่าว ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง พระองค์จึ่งแก้ให้ว่า...
"ความรักเสมอด้วยตนไม่มี ทรัพย์
เสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี แสงสว่าง
เสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ฝนต่างหากเป็น
สระยอดเยี่ยม" (เล่ม 24 หน้า 80 บรรทัด 3)
จะเห็นได้ว่า เทวดานั้นกล่าวว่า "ความรักเสมอด้วยบุตรไม่มี" หมายความว่า ความรักที่พ่อแม่มีให้แก่บุตรนั้นหาความรักอื่นใดมาเปรียบไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าแก้ว่า "ความรักเสมอด้วยตนไม่มี" หมายความว่า ความรักที่ตนมีให้แก่ตนต่างหากที่เป็นความรักที่ไม่มีความรักใดเปรียบ ตนเท่านั้นที่จะรักตนเองได้โดยแท้
ทำไม่ "ความรักเสมอด้วยตนจึ่งไม่มี" หรือทำไม่ความรักที่ผู้อื่นมีให้ตนหรือตนมีให้ผู้อื่นมันถึงไม่สามารถเปรียบกับความรักที่ตนมีให้แก่ตน? พระองค์ตรัสคำนี้ได้ลึกมากถึงรากถึงโคนของความเป็นจริงโดยมีนัยว่า "ก็เพราะตนเท่านั้นที่จะดับทุกข์ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ผู้อื่นจะดับทุกข์ให้ได้" มันเป็นเรื่องเฉพาะตน จะดีหรือชั่วขึ้นอยู่ที่ตน เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ถ้าตนเองยังมีทุกข์ ตนเองเท่านั้นที่จะทำให้ตนเองดับทุกข์ได้ ไม่ใช่พ่อแม่ทำให้ ไม่ใช่ผู้อื่นใดมาทำให้ เมื่อผู้อื่นไม่สามารถทำให้เราดับทุกข์ได้ จึ่งกล่าวได้ว่า ผู้อื่นไม่สามารถรักเราได้โดย"แท้" ตนเองต่างหากที่จะรักตนเองได้โดยแท้ เพราะตนเองสามารถทำให้ตนเองดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น ตนเท่านั้นที่รักตนแท้ ส่วนความรักของคนอื่นที่มีให้ตนหรือตนมีให้คนอื่น ไม่ใช่รักแท้ เป็นแต่ความรัก แต่มันไม่ "แท้" เพราะฉะนั้น ท่านจึ่งตรัสว่า "ความรักเสมอด้วยตนไม่มี"
ผู้ที่ยังไม่นิพพาน ยังไม่เรียกว่าเป็นผู้ที่
รักตนเองโดยแท้ เพราะยังปล่อยให้ตนเองทุกข์ เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏอยู่ ผู้ที่รักตนโดยแท้คือผู้ที่นิพพาน ผู้ที่นิพพานคือผู้ที่รักตนแท้
พระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่รักตนเองโดยแท้ ความรักที่ท่านมีต่อตนเองเป็นความรักที่แท้เพราะความรักที่ท่านมีให้ตนเองนั้นทำให้ท่านนิพพาน หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เมื่อเรารู้จักรักตนเอง มันก็จะทำให้เรารู้จักรัก
คนอื่นไปในตัวด้วย เช่น พระพุทธเจ้าทำให้ตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ นี้เรียกว่ารักตนเอง ท่านนำเอาพระธรรมที่ท่านตรัสรู้ไปสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม นี้เรียกว่ารักคนอื่น
ถ้ายังไม่นิพพาน เรียกว่าไม่เที่ยงแท้ เพราะยังมีทุกข์อยู่ นิพพานแล้ว ไม่มีทุกข์ ความไม่มีทุก์นั้นเรียกว่าเที่ยงแท้ เมื่อตนเองทำให้ตนเองนิพพานได้ จึ่งเรียกว่าตนเองรักตนเองโดยแท้ จึ่งเรียกว่านี้คือ "รักแท้" เพราะเป็นความรักที่เที่ยงแท้ เพราะไม่มีทุกข์ แต่ความรักที่คนอื่นมีให้ตนหรือความรักที่ตนมีให้คนอื่น เป็นความรักที่ไม่เที่ยงแท้ เพราะประกอบด้วยทุกข์
โดยธรรมชาติ สัตว์ทั้งหลายจะรักตนเองมากกว่าสิ่งอื่นใด ดั่งนั้น พระพุทธเจ้าจึ่งตรัสในพระสูตรนี้ว่า "ผู้ที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนไม่มี"
"ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่บนปราสาทอันประเสริฐชั้นบน พร้อมด้วยพระนางมัลลิกาเทวี ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวีว่า ดูก่อนนางมัลลิกา มีใครอื่นบ้างไหมที่น้องรักยิ่งกว่าตน พระนางมัลลิกากราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า หามีใครอื่นที่หม่อมฉันจะรักยิ่งกว่าตนไม่ ก็ทูลกระหม่อมเล่ามีใครอื่นที่รักยิ่งกว่าพระองค์ เพค๊ะ
ป. ดูก่อนน้องมัลลิกา แม้ฉันก็ไม่รักใครอื่นยิ่งกว่าตน ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาทแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมแล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันอยู่บนปราสาทกับพระนางมัลลิกาเทวี ได้ถามพระนางมัลลิกาเทวีว่า มีใครอื่นที่น้องรักยิ่งกว่าตน เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ พระนางมัลลิกาเทวีกล่าวว่า พระพุทธเจ้าข้า หามีใครอื่นที่หม่อมฉันจะรักยิ่งกว่าตนไม่ ก็ทูลกระหม่อมเล่ามีใครอื่นที่รักยิ่งกว่าพระองค์ หม่อมฉันเมื่อถูกถามเข้าอย่างนี้ จึงได้ตอบพระนางมัลลิกาว่า แม้ฉันก็ไม่มีใครอื่นที่จะรักยิ่งกว่าตน
ลำดับนั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึง ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ใครๆ ตรวจตราด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว หาได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหนๆ ไม่เลย สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น" (เล่ม 44 หน้า 481 บรรทัด 4)
อ้างอิงพระไตรปิฎกจาก http://www.tripitaka91.com