แก้ทุจริต ประหยัดงบ: ห้าม ขรก.เป็นกรรมการ รสก.
ทางแก้ทุจริตและประหยัดงบประมาณแบบง่าย ๆ ที่สุดก็คือ การห้ามข้าราชการประจำไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย คาดว่าจะประหยัดงบประมาณปีละนับพันล้านบาท ทุจริตจะหมดไป บริการจะดีขึ้น แถมยังได้คนดีมีความสามารถมาบริหารแทน
ทางราชการพยายามรณรงค์ปราบทุจริต แต่ทุจริตหนึ่งอยู่ใต้ "ชายกระโปรง" ของทางราชการเอง นั่นก็คือการเลิกให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นข้อเสนอของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ CSR ที่แท้ (http://bit.ly/1MfpeQH) และเคยสอนเรื่องความโปร่งใส Soft Law ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-เอก
ปกติคำว่ารัฐวิสาหกิจ "หมายถึงองค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจการของรัฐในด้านสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งหน่วยราชการและเอกชนไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ได้ให้คำจำกัดความรัฐวิสาหกิจไว้ว่า เป็นองค์การของรัฐบาล หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ หรือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุน (ผู้ถือหุ้น) รวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ นั่นหมายความว่าหน่วยงานใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน หากรัฐถือหุ้นมากกว่าร้อยละห้าสิบแล้วจะถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ" (http://bit.ly/2jO7sAj)
ที่ผ่านมาพวกข้าราชการประจำมักจะได้รับการส่งเข้ามาควบคุมรัฐวิสาหกิจต่างๆ ในสังกัดของแต่ละกระทรวง เข้าทำนอง "แบ่งเค้ก" กันไป บุคคลเหล่านี้ก็จะได้รับ
1. เบี้ยประชุม
2. สวัสดิการต่างๆ
3. ผลประโยชน์อื่นๆ
4. โอกาสและช่องทางทุจริต
ในทางการแก้ไขทุจริตที่แท้สำหรับวิสาหกิจนั้นทำได้ไม่ยาก และได้ผลอย่างแน่นอนในการแก้ไขปัญหา "แดนสนธยา" หรือแหล่งรวมความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ด้วยการ:
1. ห้ามข้าราชการประจำมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจใด ๆ ทั้งสิ้น
2. ให้มีการคัดเลือกคณะผู้บริหารอย่างโปร่งใสเพื่อขจัดเส้นสาย และจะได้ผู้บริหารที่มีคุณภาพที่แท้จริง
3. ขายรัฐวิสาหกิจโดยเร่งแปลงให้เป็นบริษัทมหาชน แทนที่จะให้รัฐบาลอุ้มเอาไว้ และให้มีการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานสากล
อาจกล่าวได้ว่าการส่งข้าราชการประจำไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นการทุจริตที่ถูกกฎหมายไปแล้วโดยเฉพาะในประเทศที่ด้อยการพัฒนา มีการทุจริตอยู่เต็มไปหมด รัฐบาลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจึงควรเร่งปรับโครงสร้างใหม่ แต่สำหรับรัฐบาลที่ข้าราชการประจำเป็นใหญ่ อาจไม่สามารถดำเนินการสำเร็จได้เพราะ "หยิกเล็บเจ็บเนื้อ" เพราะพวกข้าราชการประจำเป็นฐานสำหรับการโกงของคนที่ใหญ่กว่านั่นเอง
เกรงแต่ว่า "ผ้าขี้ริ้วสกปรกย่อมไม่สามารถเช็ดโต๊ะให้สะอาดได้"