รถพยาบาลขับ 80 กม./ชม. ปลอดภัยหรือไม่ทันการณ์ ?
นโยบายจำกัดความเร็วรถพยาบาลขณะนำส่งผู้ป่วยว่าจะต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) ดูจะค้านกับความรู้สึกของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง เพราะในความรับรู้ตามปกติแล้ว ยิ่งนำตัวผู้ป่วยไปให้ถึงมือหมอเร็วเท่าใด ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากเท่านั้น ขณะเดียวกัน กฎหมายจราจรก็เปิดช่องให้รถพยาบาลสามารถใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนดได้
การประกาศกระทรวงสธ. จำกัดความเร็วไม่ให้เกิน 80 กม./ชม.จึงเกิดเป็นคำถามว่า จะทำให้การนำส่งตัวผู้ป่วยล่าช้าไม่ทันการณ์ ลดโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยหรือไม่ ?
ศ.นพ.รัชตะ ชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าว คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะปี 2557 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ของ สธ. เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างนำส่งผู้ป่วย สูงถึง 19 ราย
อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับอันตรายหากรถพยาบาลวิ่งช้า เนื่องจากอุปกรณ์กู้ชีพภายในรถพยาบาลมีเพียงพอ สามารถดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วยได้เต็มที่
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ออกมาหนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยระบุว่า จากสถิติในปีที่ผ่านมา รถพยาบาลฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุถึง 61 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 130 ราย มีการเสียชีวิตของบุคลากรและผู้ป่วยถึง 19 ราย ดังนั้นจึงต้องให้รถพยาบาลลดความเสี่ยงลง และนโยบายนี้ถือเป็นการเพิ่มความคุ้มครองในเรื่องสวัสดิภาพในการทำงานให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยบนถนนเมืองไทยที่มีความเสี่ยงสูง
นพ.อนุชา กล่าวด้วยว่า ตามหลักสากลรถพยาบาลฉุกเฉินในต่างประเทศก็มีการจำกัดความเร็วไว้ที่ 80 กม./ชม. เช่นกัน และการใช้ความเร็วระดับนี้จะไม่กระทบต่อการช่วยเหลือผู้ป่วย เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ โดยปีนี้มีหน่วยบริการเพิ่มขึ้นอีก 19.47% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเข้าถึงผู้ป่วยใช้เวลาสั้นลง
นพ.อัจฉริยะ แพงมา
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ นพ.อัจฉริยะ แพงมา อดีตผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินของ สพฉ. กลับไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว โดยมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลฉุกเฉินนั้นต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบ เช่น สภาพการบังคับกฎหมายให้รถทั่วไปบนท้องถนนให้ทางรถฉุกเฉิน รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัยอื่นๆ เช่น การจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ส่วนหลังของรถ ซึ่งในเมืองไทยทุกวันนี้ยังไม่มี หรือหากเป็นการส่งต่อ (refer) ผู้ป่วย ก็อาจใช้วิธีนำหมอและอุปกรณ์ไปรับถึงโรงพยาบาลต้นทาง แล้วค่อยๆขับมาโรงพยาบาลปลายทางก็ได้
“ถ้ามีคนและอุปกรณ์พอ ก็พอจะรักษาสภาพผู้ป่วยได้ มันก็ไม่จำเป็นต้องขับเร็ว ทีนี้บ้านเรายังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย รถฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐก็มีคนน้อย มีอุปกรณ์น้อย ก็เลยต้องขับเร็ว พอขับเร็วก็เกิดอุบัติเหตุ”นพ.อัจฉริยะ กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวด้วยว่า หากเป็นรถที่สแตนด์บายสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินควรพิจารณา response timeเป็นสำคัญ และการใช้ความเร็วรถ ก็ต้องพิจารณาตามระดับความหนักเบาของอาการ ไม่ใช่กำหนดไว้ที่ 80 กม./ชม.ทั้งหมด response time ที่จะไปถึงตัวผู้ป่วยก็ช้าตามไปด้วย หากเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย จะจัดลำดับความเร่งด่วนไว้หลายระดับ ถ้าป่วยฉุกเฉินระดับ 1 หรือระดับวิกฤติ ต้องไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที ฉุกเฉินระดับ 2-3 อาจจะใช้เวลา 15 นาที หรือหากไม่ฉุกเฉินก็อาจรอได้ถึง 2 ชั่วโมง เป็นต้น
ทั้งนี้ หากสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและบุคคลากรในแวดวงแพทย์ฉุกเฉินตามโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในเฟสบุ๊คของ สพฉ. เอง ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน อาทิ…
สิทธิชัย ใจสงบ : ทุกอย่างมันขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ทีมของ รพ. ที่พร้อมตามที่ท่านกล่าว มีแค่ไม่ถึง 50% ของทั้งประเทศด้วยซ้ำ ยิ่ง รพช. ไม่ต้องพูดถึง ไหนจะเรื่องบุคลากรที่ออกปฏิบัติการฉุกเฉินโดยที่ไม่ได้ผ่านการเรียนหรืออบรม ยังมีอีกมากครับ มิหนำซ้ำบางครั้งยังมาเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูงอีก
วิฑูรย์ ทองก้อน : ถ้าอย่างนั้นอย่าเอา time response มาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของหน่วยครับ ระยะทางสัมพันธ์กับเวลา กทม.เมืองแคบๆ รถหน่วยบริการเยอะ แต่เจอปัญหารถติดก็ยังทำเวลา 10 นาทีกันไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับต่างจังหวัด ที่หน่วยบริการอยู่ห่าง กัน 30 - 60 กิโล วิ่ง 120 km/ hr. 30 km ยังใช้เวลา 15 นาทีเลย
อย่าบอกว่านโยบายทุกท้องถิ่นต้องมีหน่วยบริการ ลืมตาดูโลกความจริงบ้างว่ามันพร้อมหรือยัง มันครอบคลุมหรือยัง แอร์มันเย็นคงมองเห็นปัญหาได้น้อย กระโดดมาเดินเตะฝุ่นแบบผมม่ะ จะนั่งอธิบายยาวๆให้ฟัง
ไอ้คำว่าความปลอดภัยน่ะ ผมเข้าใจ แต่ตามลงไปดูในแต่ละครั้งที่รถหน่วยชนบ้างมั้ยว่าใครผิดใครถูก คนขับตีนผีเกินไปหรือป่าว เอากันเป็นเรื่องๆ อย่าเหมารวม แก้ทีละเรื่ิอง เหมารวมแล้ว คนทำงานเขาลำบากใจ
แล้วถ้าคิดว่าออกคำสั่งให้วิ่งแค่ 80 เพื่อที่จะตัดหางไอ้พวกที่ฝ่าฝืนคำสั่งวิ่งเร็วเกินแล้วเกิดอุบัติเหตุให้รับผิดชอบความเสียหายทางละเมิดแล้วหล่ะก็ ผมนี่ปูเสื่อ กินป๊อบคอร์น รอดูเลย
ส.ข่าวภาพ สากเหล็ก : ผมก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุขณะนำส่งผู้บาดเจ็บ จริงๆ ทีมงานทุกคนขับรถนำส่งคนเจ็บคนป่วยด้วยความระมัดระวังอยู่แล้ว แต่ที่ประสบเหตุก็มาจากประชาชนไม่เห็นความสำคัญของรถฉุกเฉินเท่าที่ควร เลี้ยวตัดหน้าเราแบบกระชั้นชิด ไม่หลีกทางเราแถมขับแข่งเรา จริงๆ ควรออกกฏหมายเอาผิดกับผู้ใช้รถใช้ถนนกรณีทำให้รถฉุกเฉินประสบเหตุ เชื่อผมเถอะครับ
สุภาพบุรุษ ชุดดำ : ให้รถรีเฟอร์ วิ่งที่80 กม./ชม. แล้วรถทั่วไปล่ะคับ วิ่งกันร้อยกว่าทำไม่ควบคุม คนไข้บนรถมีหนักมีเบา หัวใจหยุดเต้นกลางทาง ยากที่ให้ขับ 80 ได้คับ แต่ลองคิดในทางกลับกันสิ ถ้าเป็นคนสำคัญในครอบครัวคุณ คุณยังจะให้ขับ 80 อีกเหรอ ผมขับรถฉุกเฉินคับ ไม่อยากขับเร็วเลย แต่ต้องดูสถานการณ์และคนไข้เป็นเคสอะไร ระยะทางที่ผมวิ่ง ไปกลับร่วม 200 กิโล ถ้าเป็นเคสสโต๊กฟาสแทรก ลองดูสิ วิ่ง 80 กับทาง 100 โลขาไป หรือคนไข้ใส่ tube หนักๆๆ ถึงขั้นปั้มกันกลางทาง ให้ผมวิ่ง 80 เหรอ ผมว่าเอาเวลาไปคิดอย่างอื่น เช่น รถที่ไม่หลบรถพยาบาลต้องมีโทษอะไร ขับตามจี้ หรือ แซงรถพยาบาลในทางคับขัน ต้องทำอย่างไร ผมว่าดุลพินิจของคนขับและประสบการณ์ของคนขับ อีกอย่างเวลาที่มาคิดเรื่องนี้ไปคิดอย่างอื่นนะครับ ทุกนาทีมีค่า และทุกๆๆกิโลเมตรคือชีวิตคน ดีที่สุดคือไม่ประมาท เร็วอย่างมีแบบแผนครับ ลองมาทำงานแบบผมดูสิ แล้วจะรู้ว่าทำไมผมถึงขับเร็ว นั่งโต๊ะจับปากกา ตากแอร์ ไม่รู้หรอกครับ
โจโฉ๋ ร่วมบางปู : ผมว่าเราต้องแก้ไขที่ประชาชนที่ใช้ถนนร่วมกันด้วยนะครับ บางครั้งเห็นรถฉุกเฉินวิ่งเปิดไฟเปิดเสียงมาไม่หลบแถมยังวิ่งแข่งอีกก็มี กลับรถยูเทินปาดหน้าก็มี บางครั้งบริเวณสี่แยกเห็นรถฉุกเฉินวิ่งมาแทนที่จะชลอความเร็วแต่กลับเหยียบคันเร่งส่ง มันเลยเป็นที่มาของอุบัติเหตุต่อให้วิ่ง 60 ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้เหมือนกันครับ
กู้ชีพกู้ภัย หัวใจยิ้มหวาน : 80 วิ่งได้ แต่เคสที่ต้อง CPR ถ้าเกิดถึง รพ. ช้าละ ญาติคนไข้เค้าติดใจเอาความละ ใครจะรับผิดชอบ คุณจะรับผิดชอบไหม แล้วถ้าขึ้นถึงศาลละ ใครจะมารับผิดชอบ
Surapong Maudsri : เรียนท่านผู้ออกกฎที่เคารพ ขับกันเป็นร้อย ไปถึงญาติยังด่าเลย เกรงว่า 80 กม/ชม ญาติคนไข้จะสรรเสริญบิดาและมารดาของผมเป็นแน่นอน ลองให้คนที่รอหรือคนที่อยู่บนรถเป็นญาติท่านดูนะครับจะได้รู้บ้างว่าเสียงร้องไห้ของญาติและน้ำตาทุกๆหยอดของพวกเค้ามีเจ็บปวดแค่ไหน #ไม่มีใครชอบการสูญเสียหรอกครับ แนะนำให้ไปออกกฎหมายจับคนไม่หลบรถพยาบาลจะง่ายกว่านะครับ ทีนี้ได้ภาษีเข้าประเทศอีกบานเลย
Anthony Quick : In America we drive as fast as is necessary, sometimes up to 140km/h when transporting critical emergency cases. Now in Thailand you decide to make emergency vehicles which should be the fastest on the road become the slowest. A law is a law, so if emergency vehicles are forced to drive 80km/h, you should force all motorists to drive 80km/h. Better yet, actually enforce speed regulations for everyone - and let emergency vehicles have the right-of-way to go at what speed they need to for the life of the patient. This 80km/h nonsense is completely idiotic. Thailand would be the only country with a law like this.
(แปล แอนโธนี ควิก : ที่สหรัฐอเมริกา เราขับรถด้วยความเร็วตามความจำเป็น บางครั้งก็มากกว่า 140 กม./ชม. หากต้องส่งเคสผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤติ แต่ที่ประเทศไทย คุณตัดสินใจที่จะทำให้รถฉุกเฉินที่ควรจะต้องเร็วที่สุดบนท้องถนนกลายมาเป็นรถที่ช้าที่สุด แต่กฎก็คือกฎ หากรถฉุกเฉินถูกบังคับให้วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม. คุณก็ควรที่จะบังคับรถทุกคันให้วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.ด้วย อันที่จริงสิ่งที่ดีกว่านั้น คือต้องกำกับให้ทุกคนทำตามนี้ และให้ทางรถฉุกเฉินได้มีสิทธิที่จะเร็วได้เท่าที่จำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของผู้ป่วย แต่เรื่องการจำกัดความเร็วรถฉุกเฉินที่ 80 กม./ชม.นี่เป็นเรื่องที่ไร้สาระอย่างที่สุด ไม่แน่ว่าไทยอาจจะเป็นประเทศเดียวในโลกก็ได้ที่มีกฎหมายแบบนี้)
พงศธร สมบูรณ์ : ถึงท่านผู้บริหาร กรณีห้ามขับรถพยาบาลเกิน 80 กม. แต่ท่านดันสร้างตัวชี้วัดมาสวนทางกับนโยบายเลยน่ะ ตัวชี้วัด respone time ภายใน 8 นาที ในผู้ป่วย emergency และอีกอย่างเวลารถพยาบาลตามขบวนท่านๆ ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย วิ่งตามขบวน 170-180 จะรีบไปตาม......ใครเหรอ แต่คนจะเป็นจะตายให้วิ่ง 80 Thailand only
Boonnak Boontan : กลัวญาติผู้ป่วยอาละวาด ตบคนขับครับ
Piyapong Dawan : ผมอยู่เดนมาร์ก เวลารถตำรวจ กู้ภัย หรือรถพยาบาล เปิดไซเลน รถที่อยู่ข้างหน้าต้องชิดขวาสุดๆ หรือหยุดเพื่อหลีกทางให้รถพวกนั้นผ่านไปได้ ปล. แล้วรถบลาๆๆ พวกนั้นวิ่งโคตรไว สาบานว่าไม่ใช่ 80 กม./ชม. แน่ๆ!!
Manoon Ngernsombat : ด้วยความเคารพ คุณหมอรัชตะ ผู้ออกคำสั่งนี้ครับ คุณหมอทราบมั้ยครับว่าการที่คุณหมอสั่งไม่ให้วิ่งเกิน 80 กม./ชม.น่ะ ในขณะที่มีผู้ป่วยไม่มีอาการหนักไปช้าๆ ก้อไม่มีปัญหา แต่กรณีฉุกเฉิน เช่น คนไข้อาการหนัก เลือดออกมาก ช็อคหมดสติ ผู้ป่วยโรคหัวใจ เส้นโลหิตในสมองแตก อุบัติเหตุร้ายแรงและอื่นๆ ที่ต้องไปให้ถึงมือหมอให้ทันเวลา ท่านคิดว่าถ้าเป็นญาติของท่าน ท่านยังยินดีที่จะให้ขับ 80 กม./ชม.อยู่มั้ย ปกติรถกู้ชีพพวกนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้คนไข้ถึงมือหมอโดยเร็วที่สุดและผู้ใช้รถใช้ถนนก้อมักจะหลีกทางให้ ท่านคงไม่อยากบอกญาติผู้ป่วยว่า "ถ้ามาถึงหมอเร็วกว่านี้คนไข้คงจะรอด" นะครับ ผมว่าท่านโหนกระแส และที่สำคัญ ความคิดของท่านห่วยแตกมากครับ
…นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนจากโลกออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ไม่อยากคิดว่าหากเกิดกรณีรถพยาบาลขับ 80 กม./ชม.แล้วคนไข้สิ้นใจก่อนถึงโรงพยาบาล จะมีดราม่าระหว่างญาติคนไข้กับโรงพยาบาลตามมาอีกมากมายขนาดไหน....