เกร็ดพระราชประวัติ น่ารู้ รวมภาพประทับใจของ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข
และถวายการปรนนิบัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ทรงตัดสินพระทัยเข้าสู่พิธีราชาภิเษกสมรส
"สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" "ราชินีผู้สิริโฉม" "นางแก้ว" คู่พระบารมี
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นคู่ศรีพระบารมี แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
*นางแก้วคู่พระบารมี*
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้สถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ พระอัครมเหสีขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" 28 เมษายน 2493 จึงเป็นวันที่พสกนิกรไทย ได้มีสมเด็จพระราชินี คู่พระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
*สู่การเป็น"พระบรมราชินีนาถ"*
สมเด็จพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงพระจริยวัตรอันคู่ควรแก่ความเป็นพระแม่อยู่หัวของชาวไทย เห็นได้เด่นชัดในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น *สมเด็จพระบรมราชินี* ทรงสง่าผ่าเผยและสำรวมพระองค์ในพระราชพิธีอันเป็นมงคลนั้น มิได้ทรงสะทกสะเทิ้น เขินอาย หรือทรงประหม่าแต่อย่างใด แม้ว่าเมื่อครั้งนั้นจะทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีที่มีพระชนมายุน้อยที่สุดในโลก
พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ในเบื้องต้นที่สำคัญ อันเป็นที่สรรเสริญของพสกนิกรทั่วไป คือ การเป็น "สมเด็จแม่" ของพระราชโอรส และพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ ทรงเอาพระทัยใส่ในการเลี้ยงดูด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดสนิทสนม
ทรงเป็นแบบฉบับในการเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงอบรมดูแลในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องของการศึกษา สุขภาพอนามัย กิริยามารยาท และการรู้จักหน้าที่ของตน จนพระราชโอรสและพระราชธิดาแต่ละพระองค์เจริญพระชนม์เติบใหญ่ ทรงสำเร็จการศึกษา และทรงรับราชการในหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติพระราชกิจและพระภาระหน้าที่ และยังถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาททุกพระองค์
พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีก คือช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวช ระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน 2499 ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ดำรงตำแหน่ง "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ทรงปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ตามรัฐธรรมนูญทุกประการ
ระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ทรงเป็นประธานการประชุมคณะองคมนตรี ได้ทรงลงพระนามาภิไธย ในพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งบางฉบับมีผลใช้บังคับมาจนทุกวันนี้
การที่ทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็น *สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ* จึงนับเป็นพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย
พระราชภารกิจแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติร่วมกัน คือ การเสด็จออกเยี่ยมราษฎร เพื่อให้ได้ทราบถึงความเป็นอยู่ของราษฎร สภาพปัญหาและการทำกิน ฯลฯ อย่างแท้จริง โดยเริ่มครั้งแรกจากจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 2-17 พฤศจิกายน 2498 ด้วยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีจิตรลดา และหยุดตามสถานีเพื่อให้ราษฎรได้เฝ้าฯ
นับแต่จังหวัดนครราชสีมาก่อน แล้วเสด็จฯต่อไปยังจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น เลย อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลฯ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์
การตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเยี่ยมเยียนราษฎร ทำให้ยิ่งนานวันความจงรักภักดีก็มีมากขึ้น ได้รู้จักประชาชนของพระองค์มากขึ้น
วันที่ 6 มีนาคม 2502 เป็นอีกวาระหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคใต้
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยพระราชทานสัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการเยี่ยมเยียนราษฎร ซึ่งได้ทรงดูแลประดุจลูกๆ ของพระองค์เอง ด้วยการนำแพทย์อาสาสมัครไปรักษาคนเหล่านั้น
"พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าคนเรานี่จะเป็นอะไรมันก็เป็น รับสั่งว่าโรคเรื้อนนี่มันติดยากจะตาย มันไม่ติดง่ายหรอก แล้วทูลว่าก็รู้ว่าติดไม่ง่าย แต่อดสะดุ้งไม่ได้ แต่เขาคงไม่เห็นหรอก ตอนหลังทรงสอน นี่หลายปีแล้ว ที่เป็นทีบี (วัณโรค) ก็เยอะ โดยมาก เขามีความทุกข์อะไร เขาให้คนอุ้มมาหา อย่างคนพิการใส่รถที่ลากน้ำแข็งมา ถือว่า รักษากับพระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องเสียตังค์ (ทรงพระสรวล)"
*กำเนิด"โครงการศิลปาชีพ"*
การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรนั้นต้องลำบากตรากตรำพระวรกาย ใช้พาหนะตามแต่สภาพของท้องถิ่น ต้องทรงพระดำเนินโดยพระบาทขึ้นเขาสูง ข้ามลำห้วยเป็นระยะทางไกล
สมเด็จพระนางเจ้าฯ เคยรับสั่งกับผู้ติดตามและนักข่าวที่ตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ในเรื่องของการแพ้ ว่าทรงแพ้ท่อไอเสียรถยนต์มากเหลือเกิน
"ใน 2 ชั่วโมงนี่ มันบวมขึ้นมาหมดเลย อย่างรองเท้านี่คับ กลายเป็นกัด เดินไม่ไหว รองเท้านี่เปลี่ยนไซซ์เรื่อยเลย ที่ตัดมานี่ใส่ไม่ได้ เดินไม่ไหว รองเท้าโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เท้านี่ ถ้ากดลงไป บุ๋มไม่ขึ้นเลย แต่ก่อนนี้นิ้วฉันไม่เป็นอย่างนี้ นิ้วนี่แตก ข้อนี่ใหญ่"
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พัฒนาและจัดสรรที่ดินหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ให้ราษฎรที่ยากจนเข้าทำกิน ตลอดจนจัดระบบส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเกษตรได้ผลดีขึ้น เมื่อ พ.ศ.2505
ครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสังเกตเห็นว่ามีเด็กที่ยังอยู่ในวัยเรียนจำนวนมากที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ทราบว่าชาวนาชาวไร่ไม่ได้ส่งลูกเข้าโรงเรียนเพราะต้องอาศัยช่วยกันทำมาหากิน จึงทรงริเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือโดยเฉพาะสตรีชาวนาให้มีอาชีพเสริม โดยใช้เวลาว่างจากการทำนาทำไร่ มาทำหัตถกรรมในครัวเรือน เริ่มจากการใช้ป่านศรนารายณ์ พืชพื้นบ้านขึ้นในดินทรายในแถบจังหวัดเพชรบุรี และขอครูจากกรมส่งเสริมการอุตสาหกรรมไปช่วยฝึกอบรม ออกแบบสินค้า ตลอดจนหาตลาดให้
โปรดเกล้าฯให้ก่อตั้งเป็นรูปของมูลนิธิเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 พระราชทานนามว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" มาเปลี่ยนชื่อเป็น "มูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ในปี 2528
ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ มีจำนวนลดน้อยถอยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยปัญหานี้ และทรงวิตกว่า ประเทศชาติกำลังสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญไป พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้งโครงการที่จะช่วยเหลือราษฎรมีอาชีพที่สุจริต มีรายได้โดยไม่ตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งโครงการนี้ คือ "โครงการป่ารักน้ำ"
เริ่มทดลองเป็นครั้งแรกที่บ้านน้ำติ้ว ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2525 เป็นโครงการเพื่อปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้ที่เติบโตเร็ว โดยราษฎรเป็นผู้ลงแรงปลูกและดูแลบำรุงเลี้ยง บนพื้นดินที่ทรงซื้อและทรงเช่าพระราชทาน รวมทั้งเงินเดือนที่พระราชทานแก่ราษฎรผู้ยากจนที่เข้าโครงการ
บ้านเล็กในป่าใหญ่
วันที่ 4 มีนาคม 2534 ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เพื่อไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่บ้านห้วยหล่อดูก ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทอดพระเนตรเห็นผืนป่าในเขตอำเภออมก๋อยที่กว้างใหญ่แม้จะยังมีสมบูรณ์ของป่า แต่ก็มีหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านน้อยตั้งเป็นหย่อมๆ แทรกอยู่ในความหนาทึบของป่าไม้ ทรงห่วงใยต่อผืนป่าใหญ่ของประเทศที่เหลืออยู่น้อยแห่ง ขณะเดียวกันก็ทรงคิดถึงราษฎรที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้มานานแล้ว จึงได้มีพระราชกระแสว่าเขาเคยอยู่อย่างไรก็ให้เขาอยู่อย่างนั้น แต่เราเข้าไปส่งเสริมคุณภาพชีวิต
"...ถ้าเราสามารถร่วมกันจัดระบบได้ดี คน กับ ป่า ก็คงจะอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องทำลายซึ่งกันและกัน และแผ่นดินที่เสื่อมโทรมผืนนี้ ก็จะกลับคืนมาเป็นประโยชน์มหาศาลแก่พวกเรา..."
โครงการ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" คือการจัดระบบหมู่บ้านให้อยู่ร่วมกัน และพัฒนาให้มีความเจริญในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร เพาะปลูกพืชต่างๆ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา การรับจ้างปลูกป่า และรายได้จากศิลปาชีพโดยได้เลือก หมู่บ้านห้วยไม้หก ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง เป็นหมู่บ้านตัวอย่างของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่
โครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
ปีพุทธศักราช 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ ซึ่งยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงมีพระราชดำรัสว่า
"พื้นที่บนภูเขาเป็นที่ราบสูง กว้างขวาง มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ และยังมีสัตว์อยู่ มากมายหลายชนิด เหมาะสมที่จะอนุรักษ์ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และพัฒนาให้เป็นสวนสัตว์ป่าเปิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต
การที่จะดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จนั้น จะต้องยับยั้งไม่ให้ประชาชนบุกรุกป่า และล่าสัตว์ โดยพัฒนาหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงภูเขียวทั้งหมด ให้มีความเจริญ พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพ ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ อย่างมีความอยู่ดีกินดี ส่งเสริมให้ประชาชน มีความรับผิดชอบ รักป่าและสัตว์ป่า จะได้ช่วยกันดูแล ป้องกันมิให้ราษฎร จากหมู่บ้านอื่นๆ ขึ้นไปล่าสัตว์ป่าด้วย"
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนองพระราชดำริ โดยในวันที่ 28 กรกฎาคม 2530 ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเพื่อจัดทำแผนงาน "โครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว" ขึ้นที่บริเวณรอยต่อ อำเภอหนองบังแดง อำเภอคอนสาร อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกระทำพิธีปล่อยสัตว์ป่า ที่บริเวณทุ่งกะมัง เมื่อ 21 ธันวาคม 2535 ในพิธีดังกล่าว มีประชาชนในหมู่บ้านรอบภูเขียว จำนวนมากมอบอาวุธล่าสัตว์ป่า และกล่าวปฏิญาณตนว่าจะไม่เข้าไปล่าสัตว์ป่า และบุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป
ฟาร์มตัวอย่าง
ป่าไม้เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดความชุ่มชื้น แล้วค่อยๆ ระบายลงน้ำเป็นธารน้ำ ลำคลอง และแม่น้ำ ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงมาท่วมบ้านเรือนไร่นาได้รับความเสียหาย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการรุกพื้นที่ป่าทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น ทรงมีพระราชดำริจัดทำ "ฟาร์มตัวอย่าง"
ดังที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุลคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2544
"ที่ข้าพเจ้าตั้งฟาร์มตัวอย่างขึ้นใหม่ ก็ใช้เงินศิลปาชีพที่ท่านทั้งหลายทั่วประเทศไทย ช่วยอุดหนุนส่งเงินมาให้สมทบทุน มูลนิธิศิลปาชีพ ข้าพเจ้าก็ซื้อที่ดินจำนวนหนึ่งบนเขาที่เชียงใหม่ ที่มีชาวเขาที่ยากจนมากมาย และเขาเสพฝิ่นอยู่แต่อาหารการกินเขาแย่ เขามาพูดกับข้าพเจ้าว่า ถ้าแม่หางานให้หมู่บ้านเฮาได้ หมู่เฮาจะฟันทั้งหมดเลยพวกฝิ่น จะตั้งหน้าตั้งตาทำงาน
สอนชาวบ้านให้สะสมอาหารเพิ่มขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องอาหารการกิน และต้องการให้ทุกๆ คนที่ข้าพเจ้าพบปะได้มีอาชีพ ได้มีทางทำมาหากิน คือรับเขาเข้ามาและจ่ายเงินให้เขาเป็นลูกจ้างในฟาร์มตัวอย่างนั้น ในเวลาเดียวกันเขาก็เห็นวิธีเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงแกะ เลี้ยงอะไรทั้งหลายแหล่ และต่อไปถ้าเขาจะแยกตัวออกไปเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ทำฟาร์มของเขา ก็จะเป็นผลดี เขาได้มาฝึกทำที่นี่แล้ว"
ด้านสาธารณสุขกับสภากาชาดไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯเยือนต่างประเทศ ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ
นอกจากปวงชนชาวไทยแล้ว บรรดาเพื่อนบ้านที่ต้องลี้ภัยอพยพมายังแผ่นดินไทย ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยไปให้ความร่วมมือกับกาชาดสากลในการช่วยเหลือผู้อพยพ และพระราชทานครูเข้าไปสอนวิชาชีพให้แก่ผู้อพยพ กิจการดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนองค์กรระหว่างประเทศต่างพากันยกย่องและทูลเกล้าถวายรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมาก
สื่อต่างชาติถวายสดุดี"ราชินีผู้สิริโฉมงดงามที่สุดในโลก"*
นอกจากจะทรงช่วยเหลือราษฎรในประเทศแล้ว ในการต่างประเทศยังทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช 2503
ทรงเป็นที่สนใจของสื่อต่างประเทศ ไม่เพียงต่างสดุดีด้วยคำถวายพระเกียรติอย่างจริงใจ และศรัทธาว่าพระองค์ทรงมี พระบุคลิกภาพ และพระราชจริยวัตรอันงดงามยิ่ง และเป็นที่อัศจรรย์ต่อความที่ไม่ย่อท้อของพระองค์ที่แม้จะยังเยาว์ชันษาแต่ทรงพระราชกรณียกิจอย่างเข้มแข็ง ทุกครั้งที่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ทรงมีรอยแย้มพระสรวลปรากฏบนพระพักตร์เสมอ
"ไม่เกิดประโยชน์อะไรที่จะมานั่งคิดอีกว่า ฉันจะมีชีวิตอย่างไร ถ้าฉันไม่ได้เป็นพระราชินีประเทศไทย ฉันเป็นผู้ช่วยสามีมาหลายปีแล้ว และฉันตั้งใจแน่วแน่ที่จะอุทิศชีวิตให้แก่งานนี้ตลอดไป ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีเหตุที่ทำให้ยิ้มแทบไม่ออก ก็ยังต้องฝืนยิ้มอยู่ดี เพราะประชาชนหวังจะได้เห็นจึงยิ้ม…"
พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่กราบทูลถามถึงพระราชกรณียกิจว่าทรงหนักเพียงไร ในฐานะทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งถ้าทรงเป็นเพียงนักเปียโนคอนเสิร์ต ดังที่เคยทรงหวังไว้เมื่อยังทรงพระเยาว์ คงจะไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายอย่างที่ทรงเป็นอยู่ทุกวันนี้
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะทุรกันดารเพียงไหน โดยมิได้คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
พระจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์อเมริกันว่า
"สมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นที่ปรึกษาที่ดีเยี่ยม และเป็นแม่ที่ดีของลูกๆ"
พระเกียรติคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ไม่เพียงสถิตในใจของชาวไทย แต่ยังก้องกังวานไกลถึงต่างแดน เมื่อคราวพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1960 นอกจากเป็นหนทางที่ทำให้นานาประเทศได้รู้จักประเทศไทยดียิ่งขึ้นแล้ว ทั่วโลกต่างเปล่งเสียงสดุดีเช่นเดียวกันว่า "พระราชินีของไทยทรงพระสิริโฉมงดงามที่สุดในโลก"
แม้แต่ในแวดวงดีไซเนอร์ชื่อดังของโลก 2,000 คน ได้ลงคะแนนให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็น 1 ใน 10 ของ "สตรีที่แต่งพระองค์งามที่สุดในโลก"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พระนามาภิไธยของพระราชินีปรากฏอยู่ในหอแห่งเกียรติยศ นครนิวยอร์ก ในฐานะทรงเป็น 1 ใน 12 สตรีที่แต่งกายงามที่สุดในโลก
ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ รองราชเลขาฯในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ถวายงานใกล้ชิดเล่าให้ทีมข่าวดีไลฟ์ฟังว่า
"ความจริงแล้ว พระองค์ไม่ค่อยสนพระทัยในแฟชั่นมากนัก พระองค์ไม่ค่อยโปรดทอดพระเนตรนิตยสารแฟชั่น แต่ทรงโปรดการอ่านเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่า โดยเฉพาะในนิตยสารไทม์ หรือนิวส์วีก แล้วตัดบทความที่น่าสนใจเก็บไว้
แต่พระองค์ทรงพิถีพิถันการเลือกฉลองพระองค์มากเป็นพิเศษ ต้องเหมาะสม โดยพระองค์ต้องทราบหมายกำหนดการล่วงหน้าก่อน เพื่อจะได้เลือกฉลองพระองค์แบบไหนถึงจะเหมาะสมกับงานนั้น ๆ พระองค์ต้องการรักษาหน้าตาประเทศไทย ไม่ให้คนต่างชาติมาดูถูกประเทศไทยได้ เพราะฉลองพระองค์ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องศักดิ์ศรีของประเทศ
โดยเฉพาะการเสด็จฯเยือนต่างประเทศ พระองค์จะทรงผ้าไทยมาตลอด เป็นการโฆษณาผ้าไทย แต่งกายแบบไทย และเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปพร้อมกันด้วย"
*รางวัลเชิดชูและสดุดีเฉลิมพระเกียรติ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ*
้ด้วยพระราชกรณียกิจที่เป็นที่ประจักษ์ และทรงช่วยเหลือปวงประชาชนชาวไทยและผู้เดือดร้อนไม่แบ่งแยกชนชั้น และเชื้อชาติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงได้รับรางวัลเชิดชูต่างๆ ทั้งจากองค์การรัฐบาลในประเทศไทย และรัฐบาล-องค์การเอกชนต่างประเทศ
1. องค์การรัฐบาลในประเทศไทย
มหาวิทยาในประเทศไทย ทูลเกล้าฯ ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ รวม24 ปริญญา
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 ปริญญา
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3 ปริญญา
3. วิทยาลัยวิชาการศึกษา 1 ปริญญา
4. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ปริญญา
5. สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ 1 ปริญญา
6. มหาวิทยาลัยรามคำแหง 4 ปริญญา
7. มหาวิทยาลัยมหิดล 2 ปริญญา
8. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 1 ปริญญา
9. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 2 ปริญญา
10. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 ปริญญา
11. มหาวิทยาลัยของแก่น 1 ปริญญา
12. มหาวิทยาลัยศิลปากร 1 ปริญญา
2. รัฐบาลและองค์การเอกชนต่างประเทศ
ทูลเกล้าฯถวายรางวัลเชิดชูและสดุดีเฉลิมพระเกียรติ มากมาย
• 11 พฤษภาคม 2522 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)ทูลเกล้าฯถวาย “เหรียญเซเรส” ในพระฐานะที่พระองค์ทรงเป็นสตรีดีเด่น ทรงอุทิศพระองค์พัฒนาสตรีและประชาชนในชนบท และทรงสนับสนุนพระราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หันในการเกษตรและที่ดินทำกิน
ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญเซเรส แด่พระองค์ท่าน โดยด้านหลังของเหรียญเซเรสมีคำจารึกว่า TO GIVE WITHOUT DISCRIMINATION แปลเป็นภาษาไทยว่า ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
อันเป็นคติธรรมประจำพระทัยของพระองค์ที่ทรงให้ทุกคนเสมอเหมือนกันหมด ทุกคนคือลูกของทั้งสองพระองค์ท่าน
• 9 พฤศจิกายน 2524 สหพันธ์พิทักษ์เด็ก นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯถวาย “รางวัลเกียรติคุณ”ในวาระฉลองครบรอบ 50 ปี ขององค์การ ในพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชนบทผู้ลี้ภัยและเด็กพิการ
• 12 พฤศจิกายน 2524 เลขาธิการองค์การสหประชาชาติทูลเกล้า ถวายเหรียญ “The First Thai Proof Coins In Series Commemorating The International Year of The Child-IYC”
• 19 มิถุนายน 2524 โครงการจัดการทำเหรียญที่ระลึกปีเด็กสากล ขององค์การยูนิเซฟทูลเกล้าฯถวาย “เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกปีเด็กสากล ”
• 14 มีนาคม 2528 สมาคมเอเชียทูลเกล้าถวายฯรางวัล “ด้านมนุษยธรรม” เป็นรางวัลแรกของสมาคมนับแต่ก่อตั้งมา ด้วยพระราชกรณียกิจทรงยกฐานะสตรีให้สูงขึ้นทางการศึกษา เศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติ
• 19 พฤศจิกายน 2529 World Wildlife Fund ทูลเกล้าฯถวาย ประกาศนียบัตรเทิดพระเกียรตินักอนุรักษ์ดีเด่นด้านาการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า
• 1 พฤษภาคม 2531 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งกรุงลอนดอนทูลเกล้า ถวาย สมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ ของราชวิทยาลัย ด้วยทรงประกอบพระราชภารกิจนานาประการ ยังให้เกิดผลดีทางการแพทย์และสาธารณสุข
• 29 มีนาคม 2533 ศูนย์ศึกษาการอพยพ (CMS) ทูลเกล้า ฯถวายรางวัล ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยประจำปี ทั้งนี้ด้วยทรงส่งเสริมด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยนับล้านคน ที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2518
• 1 พฤศจิกายน 2534 กลุ่มผู้สนับสนุนพิพิทธภัณฑ์เด็กแห่งกรุงวอชิงตัน D.C.ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ประจำปี 2534 เป็นรางวัลที่ชาวต่างประเทศได้รับเป็นครั้งแรกของรางวัลนี้
• 30 มกราคม 2535 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ทูลเกล้า ฯ ถวาย เหรียญทองโบโรพุทโธ เนื่องในพิธีเปิดงาน “มรดกสิ่งทอเอเชียหัตถกรรมและอุตสาหกรรม” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
• 2 สิงหาคม 2534 องค์การระหว่างประเทศ 2 องค์กร ได้แก่ องค์การกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทย จัดงานเฉลิมพระเกียรติ ชื่อ “งานนานาชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ” องค์การระหว่างประเทศทั้ง 2 องค์การ ได้ทูลเกล้าถวายรางวัลสดุดีดังต่อไปนี้
- องค์การยูนิเชฟ ทูลเกล้าฯถวาย “เหรียญ UNICEF Special Recognition Award” ซึ่งเป็นเหรียญที่เคยมอบให้แก่กาชาดสากล ไม่เคยมอบให้แก่บุคคลใดและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นพระองค์แรกที่ทรงได้รับเหรียญนี้ ในฐานะทรงอุทิศพระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นผลให้แม่และเด็กนับล้านได้รับบริการขั้นพื้นฐาน
- องค์การยูนิเฟม ทูลเกล้าฯถวาย “UNIFEM Award of Excellence” เป็นรางวัลดีเด่นที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นสนับสนุนบทบาทสตรีไทยในการพัฒนาประเทศ
• 14 พฤษภาคม 2536 ครั้งล่าสุด มหาวิทยาลัยจอร์ทาวน์ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวาย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษย์ศาสตร์
• 26 พฤษภาคม 2536 เวลาใกล้เคียงกัน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เช่นกัน ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “สตรีแห่งปี 1993” ในฐานะที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของส่วนร่วมเสมอมา
***********************************
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ปวงชนชาวไทยทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจึงได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา
เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา ปวงข้าพระบาทขอถวายพระพรให้ทรงพระเจริญ ทรงพระสำราญ มีสุขภาพพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ อยู่เป็นมิ่งขวัญ เป็นพระบารมีคุ้มเกล้าพสกนิกรชาวไทย และเป็นคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อไปชั่วกาลนาน
*************************** **
แหล่งที่มา: http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/29651
เรียบเรียงข้อมูลและภาพจาก
http://board.postjung.com/778188.html#
http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readarticle&id=910
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1344728968
http://www.baanmaha.com/community/thread13410.html
http://topicstock.pantip.com/woman/topicstock/2009/08/Q8239890/Q8239890.html