ไอ้โหดแทงคอชิงไอโฟน กับคุกเอกชน
คุกก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกามีบริษัทคุกอยู่หลายแห่ง บางแห่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีคุกอยู่นับร้อยแห่ง
ประเด็นสำคัญร่วมสมัยก็คือ ประเทศไทยไม่ควรประหารไอ้โหด (แทงคอชิงไอโฟน) ตามอารมณ์ โลกจะประณามเถื่อน อาชญากรรมไม่ลด ต้องไม่มีการลดโทษ และสร้างคุกเพิ่ม ใช้งบฯ น้อยกว่าซื้อเรือดำน้ำ 1 ลำ
ตอนนี้ในโลกโซเชียลกำลังเมามันกับการยุให้ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ประหารไอ้โหด ถ้าประหารจริงคงสะใจ เพราะญาติมิตรใคร (แม้แต่ของ ดร.โสภณ) โดนอย่างนี้ก็ย่อมแค้นใจ แต่แม้กรณีนี้จะดูโหดร้ายมาก แต่ก็ยัง "น่าโกรธ" น้อยกว่ากรณีการข่มขืนฆ่าอย่างอุกอาจในหลายครั้งที่ผ่านมา บ้างอาจคิดไปไกลถึงกระทั่งนำอวัยวะของไอ้โหดไปบริจาคให้ผู้จำเป็นต้องใช้ด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม สังคมไม่ควรหลงประเด็น ขืนลงโทษด้วยการประหารชีวิต จะส่งผลให้
1. โลกจะประณามว่าไทยเถื่อน สังคมอารยะไม่รับ ทำไทยเสียหายทางการค้ามาก หากถูกกีดกันทางการค้า คงมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท คงไม่คุ้มกับการประหารอาชญากรคนเดียว ซึ่งกรณีอย่างนี้คงไม่เกิดบ่อย
2. ผลวิจัยชี้ตรงกันว่าการลงโทษตาย ไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรรมลด "ไม่ได้ยับยั้งอาชญากรรมรุนแรง หรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม การที่รัฐอนุญาตให้มีการประหารบุคคลแสดงถึงการสนับสนุนต่อการใช้กำลัง และการส่งเสริมวงจรการใช้ความรุนแรง บัน คีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า 'ไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้เลยว่าโทษประหารชีวิตช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้' ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบ 2 ประเทศ ที่มีลักษณะคล้ายกัน ทั้งจำนวนประชากร การศึกษา ภาวะเศรษฐกิจ. . ." http://bit.ly/2i4iCit)
สำหรับทางออกที่สมควรก็คือ
1. การไม่มีการลดโทษ ติดคุกนานเท่าไหร่ก็ต้องติดตามนั้น
2. มีระบบคัดครองที่ดินในการอภัยโทษ ไม่ปล่อยให้เข้าๆ ออกๆ โดยเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์และคดียาเสพติด ที่เข้ามาแล้วก่อคดีซ้ำบ่อยๆ
3. ที่สำคัญเราต้องสร้างคุกเพิ่ม เก็บอาชญากรไว้ในคุก
มีบางคนบอกว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวน ‘คนคุก’ สูงที่สุดในโลก จากข้อมูลพบว่า สหรัฐอเมริกามีคนคุกสูงถึง 738 คนต่อประชากร 100,000 คน สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 15 มี 350 คน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 32 มี 256 คน หากพิจารณาดูตัวเลขเพียงเท่านี้ก็คิดว่าสหรัฐอเมริกามี GDP สูง แต่สังคมไม่สงบเพราะมีคนคุกมาก แต่ในความเป็นจริง หากเรามาพิจารณาประเทศที่มีคนคุกจำนวนน้อยที่สุดในโลก จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศ ‘ด้อยพัฒนา’ และไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย เช่น แองโกลา คองโก ซูดาน ชาด มาลี แกมเบีย อินเดีย ไนจีเรีย ฯลฯ มีใครอยากไปอยู่ประเทศเหล่านี้ไหม ความจริงที่พึงทราบประการหนึ่งก็คือ การกวาดเก็บอาชญากรไว้ในคุกย่อมดีกว่าปล่อยให้เดินเล่นอยู่บนถนนทั่วไป (http://bit.ly/1Prh1hG)
อย่างไรก็ตามกรมราชทัณฑ์มีงบประมาณล่าสุดปี 2560 เพียงปีละ 11,958 ล้านบาท (http://bit.ly/2io1Rg6) ปกติก็ราวๆ 10,000 ล้านบาท ส่วนงบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็แค่ราาวๆ 10,000 ล้านบาทเช่นกัน น้อยกว่าค่าซื้อเรือดำน้ำเพียงลำเดียวด้วยซ้ำ (http://bit.ly/2jnsEgC) ถ้าตัดงบฯ ซื้ออาวุธ มาพัฒนาประเทศ จะดีต่อชาติมหาศาล เราจึงควรใช้จ่ายงบประมาณให้สมดุลกว่านี้ ใช้ด้านการจัดสวัสดิการสังคมและราชทัณฑ์ไม่ถึง 0.5% ของงบประมาณแผ่นดิน แล้วสังคมจะได้รับการคุ้มครองที่ดีได้อย่างไร
ในแคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย มีคุกเอกชนมานานแล้ว เช่น Corrections Corporation of America (CCA), GEO Group, Inc. Management and Training Corporation และ Community Education Centers ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา CCA มีกำไรเพิ่มขึ้น 500% กิจการคุกเอกชนมีมูลค่าถึง 180,000 ล้านบาทต่อปีและกลายมาเป็นบริษัทมหาชนเสียอีก เฉพาะ CCA มีเตียงคนคุกถึง 80,000 เตียงในคุกเอกชน 65 แห่ง ส่วน GEO มีคุก 57 แห่ง รับคนไข้ได้ 49,000 รายในสหรัฐอเมริกา และยังรับดำเนินการในประเทศอื่นด้วย โดยมีคุกรวม 100 แห่งรับนักโทษได้ 73,000 ราย (http://bit.ly/2i8kTJR)
ในยุคสมัยใหม่นี้รัฐบาลไทยน่าจะลองเชิญบริษัทมหาชนกิจการคุกเหล่านี้มาให้บริการในประเทศไทยบ้าง