หนึ่งในหลักเกณฑ์ตรวจสอบว่าบุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์หรือไม่
เมื่อมีคนอ้างว่าท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ควรชมเชย ไม่ควรคัดค้านกับคำกล่าวอ้างนั้น แต่ให้ตรวจสอบบุคคลนั้นด้วยการเทียบเคียงตามหลักฐานในพระธรรมวินัย มีอยู่หลักเกณฑ์หนึ่งที่ผมใช้อ้างอิงว่าบุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์หรือไม่นั้นก็คือ "พระอรหันต์ไม่กราบรูปปั้น" เพราะการกราบรูปปั้นเป็นสิ่งที่งมงายเห็นผิด พระอรหันต์ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่หลุดพ้นแล้วจากโมหะ จะไม่ลุอำนาจโมหาคติแน่นอน
"ดูก่อนสุตวะ ครั้งก่อนและบัดนี้ เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระแล้ว มีประโยชน์แห่งตนอันบรรลุแล้วโดยลำดับ มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อประพฤติล่วงฐานะ ๙ ประการ คือภิกษุผู้ขีณาสพไม่ควรแกล้งฆ่าสัตว์ ๑ ไม่ควรถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมย ๑ ไม่ควรเสพเมถุนธรรม ๑ ไม่ควรกล่าวเท็จทั้งรู้ ๑ ไม่ควรทำการสั่งสมบริโภคกามคุณเหมือนคฤหัสถ์ในกาลก่อน ๑ ไม่ควรลุอำนาจฉันทาคติ ๑ ไม่ควรลุอำนาจโทสาคติ ๑ ไม่ควรลุอำนาจโมหาคติ ๑ ไม่ควรลุอำนาจภยาคติ ๑ ดูก่อนสุตวะ ครั้งก่อนและบัดนี้ เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระแล้ว มีประโยชน์แห่งตนอันบรรลุแล้วโดยลำดับ มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อประพฤติล่วงฐานะ ๙ ประการนี้" (37/731/3)
ดั่งนั้น การที่พระอรหันต์จะไปกราบรูปปั้นนั้น ผมว่าไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้ และพระอรหันต์เป็นผู้ที่มีความเห็นที่ตรงตามความเป็นจริง พระอรหันต์จะไปมีความเห็นว่า รูปปั้นคือตัวคน หรือรูปปั้นคือตัวแทนพระศาสดา แล้วเอามาเคารพกราบไหว้บูชานั้นไม่ใช่ฐานะ เพราะความเห็นนั้นเป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง และเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมก็คือ ควานเห็นอันตรง ถ้ามีความเห็นไม่ตรง ก็ไม่สามารถดำเนินไปสู่นิพพานได้ เพราะความเห็นอันตรงคือเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม
"ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงยังเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์ก่อน เบื้องต้นของกุศลธรรมคืออะไร คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดีและควานเห็นตรง เมื่อใด ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดีและความเห็นของเธอจักตรง เมื่อนั้น เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔..." (30/379/19)
บุคคลที่จะหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์นั้น ต้องถือพระรัตนตรัยอย่างถูกต้อง ดำเนินไปตามอริยมรรคองค์แปด อันมีสัมมาทิฏฐิเป็นประทาน เพราะถ้ายังกราบรูปปั้นอยู่ ก็คือยังเห็นผิดอยู่ ถ้ายังเห็นผิดอยู่จะกำจัดราคะ โทสะ โมหะเป็นที่สุดไม่ได้
"ดูก่อนอานนท์ สัมมาทิฏฐิที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วมีการกำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด" (30/12/4)
และถ้ายังมีทิฐิผิดแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ ก็ไม่สามารถจะบรรลุผล
"ดูก่อนภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการนมสด แสวงหานมสด จึงเที่ยวเสาะหานมสด แต่รีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน ถ้าแม้ทำความหวังแล้วรีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน เขาก็ไม่สามารถจะได้นมสด ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วรีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน เขาก็ไม่สามารถจะได้นมสด ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วรีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อนเขาก็ไม่สามารถจะได้นมสด ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ความไม่หวังก็มิใช่แล้วรีดเอาจากเขาแม่โคลูกอ่อน เขาก็ไม่สามารถจะได้นมสด นั่นเพราะเหตุไร ดูก่อนภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะได้นมสด โดยวิธีไม่แยบคาย ฉันใด ดูก่อนภูมิชะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งที่มีทิฐิผิดฯลฯ มีสมาธิผิดถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ทำความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ทำทั้งความหวังและความไม่หวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ความไม่หวังก็มิใช่แล้วประพฤติพรหมจรรย์เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร ดูก่อนภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย" (23/103/19)
ในครั้งพุทธกาล พระอรหันต์ในครั้งนั้น ก็ไม่ได้กราบรูปปั้น เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้กราบ และท่านก็ไม่งมงายที่จะกราบ อันเป็นการลุอำนาจโมหาคติ เพราะฉะนั้น ผมจึ่งเชื่อว่า ผู้ที่เป็นพระอรหันต์จะไม่กราบรูปปั้นอย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันนี้ ยังมีการอ้างถึงบุคคลว่าเป็นพระอรหันต์อย่างมากมายชึ่งยังกราบรูปปั้นอยู่
แต่ก็มีหลักฐานอยู่ว่า พระอรหันต์คิดผิดพลาดก็มี เพราะไม่ฉลาดในเรื่องนั้นฯ ดั่งเช่น ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าประณามภิกษุอาคันตุกะ ประมาณ 500 มีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า เพราะภิกษุเหล่านั้นพูดคุยกันเสียงดัง จึ่งได้ถามพระสารีบุตรว่า "เธอคิดอย่างไร สารีบุตร เมื่อภิกษุสงฆ์ถูกเราประณามแล้ว" ดังนี้ พระสารีบุตรเกิดความคิดขึ้นว่า "เราถูกพระศาสดาประณาม เพราะไม่ฉลาดเรื่องบริษัท ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจะไม่สอนคนอื่นละ" จึงได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ามีความคิดอย่างนี้ว่า "ภิกษุสงฆ์อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประณามแล้ว บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า จักทรงขวนขวายน้อย ประกอบทิฐธรรมสุขวิหารธรรมอยู่ แม้เราทั้งสองก็จักขวนขวายน้อย ประกอบทิฐธรรมสุขวิหารธรรมอยู่" ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะทรงยกข้อตำหนิของพระเถระที่มีความเห็นที่ผิดเพราะไม่ฉลาดในเรื่องนั้น จึ่งตรัสว่า "เธอจงรอก่อนดูก่อนสารีบุตร เธอจงรอก่อนดูก่อนสารีบุตร เธออย่าพึงให้จิตเห็นปานนี้เกิดขึ้นอีกเลย"
“ดูก่อนสารีบุตร เมื่อเราประฌามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของเธอได้มีอย่างไร ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของข้าพระองค์ได้มีอย่างนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ แม้เราทั้งหลายก็จักมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ในบัดนี้ ดูก่อนสารีบุตรเธอจงรอก่อนดูก่อนสารีบุตร เธอจงรอก่อน ดูก่อนสารีบุตรเธออย่าพึงให้จิตเห็นปานนี้เกิดขึ้นอีกเลย…” (20/380/10)
เพราะการที่จะไม่สอนผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดั่งนั้น พระเถระจึ่งถูกตำหนิในเรื่องนี้เพราะคิดผิด แม้แต่พระอรหันต์ก็ยังคิดผิดพลาด นอกจากนี้ พระอรหันต์ สอนผิดพลาดก็มี ในพระสูตรนี้ พระสารีบุตรให้ศีลแก่คนที่ไม่ขอศีลเลย และไม่ต้องการจะรักษา ดั่งนั้น จึ่งเป็นการสอนที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือต้องให้ศีลแก่ผู้ที่ขอหรือผู้ที่ต้องการจะรักษาเท่านั้น
"ได้ยินว่า พระเถระให้ศีลแก่คนทุศีลทั้งหลาย มีพรานเนื้อและคนจับปลาเป็นต้น ที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งท่านได้พบได้เห็นเท่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงถือศีล ท่านทั้งหลายจงถือศีล ชนเหล่านั้น มีความเคารพในพระเถระ ไม่อาจขัดขืนถ้อยคำของพระเถระนั้น จึงพากันรับศีลก็แหละครั้นรับแล้วก็ไม่รักษา คงกระทำการงานของตน ๆ อยู่อย่างเดิมพระเถระเรียกสัทธิวิหาริกทั้งหลายของตนมาแล้วกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลายคนเหล่านี้รับศีลในสำนักของเรา ก็แหละครั้นรับแล้วก็ไม่รักษาสัทธิวิหาริกทั้งหลายกล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านให้ศีลโดยความไม่พอใจของชนเหล่านั้น พวกเขาไม่อาจขัดขืนถ้อยคำของท่านจึงรับเอา ตั้งแต่นี้ไป ขอท่านอย่าได้ให้ศีลแก่ชนทั้งหลายเห็นปานนี้ พระเถระไม่พอใจต่อถ้อยคำของสัทธิวิหาริก ภิกษุทั้งหลายได้สดับเรื่องราวนั้นแล้วก็สนทนากันขึ้นในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ได้ยินว่าพระสารีบุตรให้ศีลแก่คนที่ท่านได้ประสบพบเห็นเท่านั้น พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบว่า เรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้นแม้ในกาลก่อน พระสารีบุตรนี้ก็ให้ศีลแก่คนที่ตนได้ประสบพบเห็นซึ่งไม่ขอศีลเลย แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก…” (58/751/12)
จากข้อที่ยกมาอ้างอิงนี้ว่า พระอรหันต์คิดผิดพลาด ทำผิดพลาดก็มี ก็อาจมีการยกเอาข้อนี้มาเปรียบเทียบกับกรณีการกราบรูปปั้นก็ได้ ว่าพระอรหันต์กราบรูปปั้นก็มี และอ้างเหตุผลเดียวกันว่า เพราะพระอรหันต์คิดผิดพลาดบ้าง ศึกษามาน้อยบ้างก็มี แต่ผมมีความเข้าใจว่า พระอรหันต์ก็มีคิดผิดพลาดบ้าง ทำผิดพลาดบ้าง แต่เกิดจากความไม่ฉลาดในเรื่องนั้นฯ และท่านก็ไม่ใช่สัพพัญญู ก็ย่อมมีผิดพลาดเป็นธรรมดา หรือเป็นเพราะด้วยอำนาจแห่งความเคยชินที่ท่านเคยทำมาแต่ปางก่อน แต่ข้อผิดพลาดนั้นฯ ไม่ใช่เกิดจากอำนาจโมหาคติที่มีผลต่อการหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ของท่าน หมายความว่า ข้อผิดพลาดนั้นฯไม่มีผลต่อมรรค ผล นิพพานของท่าน ส่วนเรื่องการกราบรูปปั้นนั้นมีผลแน่นอนต่อมรรค ผล นิพพาน เพราะบุคคลที่ยังกราบรูปปั้นอยู่ ก็คือยังงมงายเห็นผิดอยู่ เมื่อยังงมงายเห็นผิดอยู่จะนิพพานไม่ได้ และบุคคลผู้เป็นอรหันต์แล้วจะลุอำนาจแห่งโมหะคติไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผมมีความเห็นว่าจะเอาเรื่องนั้นและเรื่องการกราบรูปปั้นมาเปรียบเทียบเป็นกรณีเดียวกันไม่ได้
ผมยังเชื่อว่าพระอรหันต์ไม่กราบรูปปั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ไม่กราบรูปปั้นจะเป็นพระอรหันต์ด้วยเหตุเพียงแค่ไม่กราบรูปปั้น แน่นอนก็ต้องได้ตรวจสอบเทียบเคียงดูข้ออื่นฯ ผมยังเชื่อว่า พระอรหันต์มีความเห็นตรงตามความเป็นจริง เมื่อมีความเห็นตรง พระอรหันต์จะไปเห็นว่ารูปปั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ท่านต้องเห็นว่ารูปปั้นคือรูปปั้น และก็ไม่มีแก่นสารสาระอะไรที่จะไปกราบ