ฮิลลารี คลินตัน พูดได้น่าคิด
โรคระบาด ชื่อ "ข่าวลวง"
นางฮิลลารี คลินตัน อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เปรียบการแพร่กระจายข่าวเท็จ หรือข่าวลวงในโลกโซเชียลมีเดียทุกวันนี้เหมือน 'โรคระบาด'
เพราะมันแพร่หลายอย่างรวดเร็ว และกว่าที่จะมีใครออกมาแก้ข่าว หรือให้ข้อเท็จจริง มันก็ได้สร้างความเสียหายเรียบร้อยไปแล้ว คนนับแสนนับล้านที่ร่วมกันแชร์และกระจายข่าว ก็ได้ทำหน้าที่พิพากษาไปแล้วโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ส่งต่อๆ กันไปนั้น มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่
แน่นอนว่า 'โรคระบาด' ที่คลินตันพูดถึง ไม่ได้กำลังสร้างปัญหาให้กับสังคมอเมริกันแต่เพียงที่เดียว แต่บังเอิญเธอเพิ่งจะตกเป็นเหยื่อของข่าวปล่อยและข่าวที่กุกันขึ้นมาในโลกโซเชียลมีเดียในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เธอจึงอาจมีความรู้สึกมากเป็นพิเศษ
คลินตันเสียท่าให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเลยแม้แต่น้อยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป คนไม่น้อยเชื่อว่าความพ่ายแพ้แบบช็อกโลกของเธอ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เธอตกเป็นเป้าของขบวนการปล่อยข่าวเท็จและข่าวลวงในโลกโซเชียลมีเดีย
เมื่อข่าวเท็จหรือข่าวลวงถูกขยายความและบอกต่อ โดยเฉพาะเมื่อสื่อกระแสหลักกระโดดลงมาเล่นกับเขาด้วย มันก็เลยถูกทึกทักว่าเป็นเรื่องจริง
เพราะฉะนั้นเมื่อคลินตันบอกว่ามันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าข่าวหลอกสามารถสร้างความเสียหายในโลกที่เป็นจริงได้ เธอกำลังพูดจากประสบการณ์โดยตรงของเธอเอง
ถึงแม้คลินตันจะไม่ได้พูดตรงๆ แต่ความหมายของเธอคงไม่ต่างจากความเห็นของคนในเมืองไทยไม่น้อยที่มองโซเชียลมีเดียเสมือนหนึ่งเป็น 'ศาลเตี้ย' ที่เป็นเวทีให้ใครก็ได้ทำตัวเป็นผู้พิพากษาชี้ถูก-ชี้ผิด
เป็น 'ศาลเตี้ย' ที่ทำให้คนดีๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ กลายเป็นคนร้ายหรือคนเลวได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที หรือไม่กี่วินาทีด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียมีด้านที่ดีมากมาย ทำให้ผู้คนสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลและความรู้อย่างที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อน และไม่เพียงแต่รับรู้ข้อมูลข่าวสารแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนมีสิทธิรายงานเหตุการณ์หรือแสดงความเห็น จนทำให้เกิดคำพูดที่ว่า ในยุคนี้ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้
เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโซเชียลมีเดียกำลังเป็นช่องทางการสื่อสารที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก จนทำให้ที่ยืนของสื่อกระแสหลักที่เคยผูกขาดการรายงานข่าวสารและแสดงความคิดเห็น ค่อยๆ หดหายไป
ในเวทีเสวนาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในหัวข้อ 'ศาลเตี้ยออนไลน์.คนโพสต์จ่อคุก.เหยื่อทุกข์ระทม' เราได้ยินคำเตือนจากทั้งนักกฎหมาย คนทำสื่อและนักวิชาการถึงอันตรายที่มากับโลกออนไลน์
ปัญหาใหญ่คือคนไทยไม่น้อย (และคงจะเหมือนกันในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก) มีแนวโน้มจะเชื่อทุกอย่างที่เห็นหรือได้ยินโดยไม่ตั้งคำถาม
ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่โดนใจ หรือเรื่องหวือหวา หรือเรื่องที่อยากจะเชื่ออยู่แล้ว ก็ยิ่งพร้อมจะเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัย และไม่ใช่แค่เชื่อแต่เพียงอย่างเดียว แต่พร้อมจะช่วยกันกระจายข่าวผ่านการโพสต์ข้อความต่อ
และยิ่งไปกว่านั้นยังแถมด้วยความเห็นส่วนตัวในเชิงตัดสินทางใดทางหนึ่ง และถ้าแย่กว่านั้นก็บวกด้วยข้อความประณามหรือภาษาหยาบคาย
เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นโลกที่ความจริงมีความหมาย หรือความสำคัญน้อยกว่าเรื่องที่สะใจ หรือเรื่องราวที่เป็นดราม่า
แต่ยิ่งดราม่าเท่าไหร่ เรื่องราวทั้งหลายก็ยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้น อารมณ์ก็จะอยู่เหนือเหตุผล และ 'ศาลเตี้ย' ก็จะทำหน้าที่แบบไม่ต้องมีเหตุมีผล
นักวิชาการด้านสื่อเปรียบโซเชียลมีเดียเหมือนโลกที่เต็มไปด้วยเสียงอื้ออึง และหลายๆ ครั้งสื่อกระแสหลักก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเสียงอื้ออึงนี้ไปด้วย
ในบ้านเราทำไปทำมาทุกวันนี้สื่อกระแสหลัก ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวาระข่าว กลับถูกกระแสในโลกโซเชียลมีเดียชี้นำด้วยซ้ำ หลายครั้งข่าวเท็จหรือข่าวปล่อยในโซเชียลมีเดีย ถูกสื่อกระแสหลักเอาไปแพร่กระจาย หรือขยายความจนเป็นเรื่องเป็นราว เพียงเพราะหวังสร้างเรทติ้ง
สื่อกระแสหลักมีหน้าที่มากกว่าแค่การกระจายข่าว แต่มีความรับผิดชอบในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารและทำให้คนในสังคมรู้เท่าทัน สามารถแยกแยะความจริงจากเรื่องโกหกได้
อีกไม่นานนักบ้านเมืองเราก็คงจะกลับไปสู่สภาวะการเมืองปกติอีกครั้ง ซึ่งหมายความว่าการปล่อยข่าว การให้ร้าย และการสร้างดราม่าทางการเมือง ก็จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งเช่นกัน
บทบาทของโซเชียลมีเดียในการสร้างกระแส และปลุกอารมณ์ทางการเมืองของคนในสังคม ก็จะกลับมาเป็นเรื่องท้าทายอีกครั้ง และคราวนี้มันอาจจะน่ากลัวกว่าในอดีต เพราะมันอาจจะเป็น 'โรคระบาด' ที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมา
มีคำถามแน่นอนว่าแล้วบทบาทของสื่อกระแสหลักของบ้านเราจะอยู่ที่ไหนในโลกการสื่อสารที่เต็มไปด้วยเสียงอื้ออึงและความสับสน
สื่อกระแสหลักยังจะเป็นส่วนหนึ่งของเสียงอื้ออึงต่อไป และเป็นพาหะแพร่กระจาย 'โรคระบาด' นี้ หรือจะเป็นเสียงของเหตุผลที่คนในสังคมยังพึ่งพาได้
ที่มา: เนชั่นสุดสัปดาห์
#หยุดโกหกบนอินเตอร์เน็ต
















