เจ้าแม่นาคีมีจริงหรือไม่?
เจ้าแม่นาคีมีจริงหรือไม่?
วัดแก้วกู่ หรือ ศาลาแก้วกู่ จ.หนองคาย
สุดยอดศิลปะน่าไปศึกษาเรียนรู้ น่าพาครอบครัวเที่ยวมากๆเลยครับ จ.หนองคาย มีศิลปะอันสวยงามพร้อมให้คุณมาค้นหา
หลายๆ ครั้งที่ศรัทธาความเชื่อทางศาสนาได้ผลักดันให้มนุษย์เรากระทำ – สร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ ตัวอย่างเช่น “พระถังซำจั๋ง” ที่เดินทางไปไกลหลายร้อยหลายพันกิโลเมตรเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกจากประเทศอินเดียกลับสู่ประเทศจีนจนมีผู้นำเรื่องราวดังกล่าวมาแต่งเป็นนวนิยายชื่อดังเรื่อง “ไซอิ๋ว” , “วิหารพาธิน็อน (Parthenon)” ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงามเพื่อแสดงถึงความบูชาต่อเหล่าทวยเทพ, “พีระมิด (Pyramid)” ในประเทศอียิปต์ที่ใช้บรรจุพระศพของพระมหากษัตริย์ด้วยความเชื่อว่า สักวันหนึ่งวิญญาณของพระองค์จะหวนคืนสู่ร่างกายซึ่งได้ทำการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี , ฯลฯ
ในประเทศไทยเองก็มีบุคคลมากมายและมีสถานที่หลากหลายแห่งที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการกระทำ – การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาด้วยศรัทธาอันแรงกล้าต่อศาสนาและความเชื่อของตน “ศาลาแก้วกู่” อ.เมือง จ.หนองคาย ก็ถือได้ว่าเป็นศาสนสถานอีกแห่งหนึ่งซึ่งถูกสร้างขึ้นมาด้วยแรงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว
“ศาลาแก้วกู่” หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดแขก” คือ สวนประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่ มีพื้นที่หลายสิบไร่ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพุทธมามกะสมาคมจังหวัดหนองคาย สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของ “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” เมื่อราวปี พ.ศ. 2521 ตามความเชื่อว่าหลักคำสอนของทุกๆ ศาสนาสามารถนำมาผสมผสานกันได้ ( “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” เป็นนักปฏิบัติธรรมแต่เสียชีวิตไปแล้วราวๆ สิบปีกว่า ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมได้ลองสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่จำหน่ายบัตรเข้าชมศาลาแก้วกู่แล้วเข้าใจว่า พ่อปู่น่าจะบวชเป็นพราหมณ์นุ่งขาวห่มขาว ปัจจุบันร่างของพ่อปู่บุญเหลือถูกเก็บรักษาเอาไว้บนชั้น 3 ของศาลาแก้วกู่ในสภาพที่ไม่เน่าเปื่อย นักท่องเที่ยวสามารถแวะขึ้นไปสักการะร่างของพ่อปู่ได้ทุกวันตั้งแต่เวลาประมาณ 7.00 – 17.00น.)
งานประติมากรรมปูนปั้นซึ่งตั้งอยู่ในสวนโดยรอบอาณาบริเวณของศาลาแก้วกู่นั้น ส่วนมากจะเป็นงานประติมากรรมที่บอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ตามตำนานความเชื่อทางพุทธศาสนา พราหมณ์ ฮินดู และคริสต์ แต่ก็มีงานประติมากรรมบางส่วนซึ่งได้จำลองเอาเหตุการณ์จากวรรณคดี สุภาษิตโบราณ หรือนิทานพื้นบ้าน นำมาจัดแสดงไว้เช่นกัน (ตัวอย่างงานประติมากรรมปูนปั้นในบริเวณของศาลาแก้วกู่ เช่น พระพุทธรูปปางนาคปรก , พระโพธิสัตว์ , พระยาจิตราช , พระพิฆเนศ , พระขันธกุมาร , เจ้าแม่กาลี , รามเกียรติ์ เป็นต้น)
งานประติมากรรมเหล่านี้จะมีคำอธิบาย “ภาษาไทยอีสาน” และ “ภาษาไทยภาคกลาง” บอกเล่าถึงเรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องกับชิ้นงานนั้นๆ สลักเอาไว้บริเวณส่วนฐานเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้อ่านได้ศึกษาทำความเข้าใจด้วยครับ