สานต่อที่พ่อทำ เรื่องเล่าของ พล.ท.นพ.เชิดชัย เจียมไชยศรี อดีตแพทย์ที่มีโอกาสได้ตามเสด็จฯในถิ่นทุรกันดาร
โครงการหลวงไม่ได้สร้างแค่เงินและงาน แต่สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ชาวเขาด้วย ดังจะเห็นได้จากเรื่องเล่าของ พล.ท.นพ.เชิดชัย เจียมไชยศรี อดีตแพทย์ที่มีโอกาสได้ตามเสด็จฯในถิ่นทุรกันดาร
วันหนึ่งในเวลาเย็นใกล้ค่ำ เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งของในหลวงกำลังบินผ่านยอดเขาเล็กๆ แห่งหนึ่งในพื้นที่ห่างไกลในเชียงใหม่ ในหลวงทอดพระเนตรเห็นชาวเขากำลังขุดหลุมอยู่ ซึ่งทรงสังเกตว่าผิดปกติ เพราะการขุดหลุมตามปกติไม่ต้องมีคนมุง จึงรับสั่งให้นักบินลงจอด หลังจากพูดคุยจึงได้ความว่า มีชาวเขาคนหนึ่งป่วยหนักกำลังจะตายแล้ว เขาเลยช่วยกันขุดหลุมเตรียมฝังล่วงหน้า หมอที่ตามเสด็จฯ จึงกราบบังคมทูลว่า คนป่วยเป็นผู้หญิงมีไข้สูง มีภาวะขาดน้ำรุนแรง กำลังจะนำมาซึ่งภาวะเลือดเป็นกรดและส่งผลให้ไตวาย
ช่วงเวลาตอนนั้นถือเป็นนาทีแห่งความเป็นความตาย ในหลวงไม่รอช้ามีรับสั่งให้นำคนป่วยขึ้น ฮ.พระที่นั่งเพื่อนำส่งโรงพยาบาลสวนดอก โดยที่พระองค์จะทรงรออยู่ที่ยอดเขาแห่งนั้นจนกว่า ฮ.จะกลับมารับ แม้เป็นเวลากลางคืน และการเดินทางด้วย ฮ. จะยิ่งอันตราย เพราะในสมัยนั้นพื้นที่บริเวณนั้นการก่อการร้ายชุกชุม
ตะวันลับขอบฟ้ามาพร้อมอากาศหนาว ในหลวงยังคงทรงงานอยู่ที่ยอดเขาโดยทรงถามปัญหาความเป็นอยู่ของชาวเขา หน่วยแพทย์ที่ตามเสด็จฯ ไปก็เอายาไปแจกจ่าย กว่า ฮ. จะกลับมารับก็เป็นเวลาค่ำมากแล้ว
ปี 2513 บนดอยที่ห่างไกลแพทย์และชุกชุมด้วยผู้ก่อการร้าย ในหลวงทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์พัฒนาขึ้น ออกทำงานวันจันทร์-อังคาร สัปดาห์เว้นสัปดาห์ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหารอากาศ มีแพทย์จากกรุงเทพฯ และแพทย์อาสาสมัครจากพื้นที่ภาคเหนือรวมทั้งผู้หญิงในวังและพยาบาลในพื้นที่คอยเป็นลูกมือ
เรียบเรียงจาก
ภาพยนตร์สั้นเรื่องไกลหมอ โดย มูลนิธิรามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์, นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 964 พฤศจิกายน 2559 และหนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง โดย ม.จ.ภีศเดช รัชนี
แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/fulfillingfatherslegacy/?pnref=story