ผังเมืองไทย 258 ผัง หมดอายุไป 1/3 ราชการมัวทำไรอยู่
เป็นเรื่องที่น่าพิศวงมากที่ไทยมีกฎหมายผังเมืองมาตั้งแต่ปี 2495 แต่จนบัดนี้วางผังไปได้แค่ 258 ผัง แถม 1/3 หมดอายุไปเสียแล้ว ทางราชการเลยแก้ลำด้วยการแก้กฎหมายใหม่ว่าต่อไปนี้ผังเมืองไม่มีการหมดอายุ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) กล่าวว่า ตั้งแต่มีกฎหมายผังเมืองฉบับแรกเมื่อปี 2495 หรือ 64 ปีก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีผังเมืองเกิดขึ้น 258 ผัง หรือเฉลี่ยเกิดขึ้นประมาณ 4 ผังเท่านั้นเอง การผังเมืองของไทยค่อนข้างอ่อนแอ อาจเป็นเพราะติด "ตอ" เจ้าของที่ดินที่มีอำนาจทางการเมือง เช่น นักการเมือง ข้าราชการประจำรายใหญ่ที่มีอำนาจนอกระบบหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้เงินกับการวางผังเมืองตั้งแต่มีหน่วยงานนี้มา อาจเป็นเงินนับพันนับหมื่นล้านแล้ว แต่ได้งานมาแค่นี้เอง เป็นเรื่องที่น่าห่วงใยมาก
ที่สำคัญผังเมืองที่ประกาศใช้แล้วนั้น หมดอายุไปถึง 83 ผังหรือ 32% หรือหนึ่งในสาม โดยบางผัง หมดอายุไป 13 ปีแล้วก็ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ที่หมดอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปแล้วมี 7 ผัง ที่หมดอายุเกิน 5 ปีมีถึง 43 ผัง เป็นที่ทราบกันดีว่าการจัดทำผังเมือง เป็นไปด้วยความล่าช้า และมักมีเสียงบ่นเป็นประจำว่า วางผังได้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เป็นการวางผังเมืองแบบ "Top-Down" หรือบนลงล่าง ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
การใช้ผังเมืองที่มีข้อบกพร่องอยู่มากมายมาหลายปี ที่ควรจะรีบแก้ไข ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ได้รับการเยียวยาตามเวลาที่สมควรหรือไม่ ประชาชนและเมืองต่าง ๆ จะเสียประโยชน์จากความล้าหลังของการผังเมืองไทย ประเทศไทยจึงติดกับดักของตนเอง ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ จะสังเกตได้ว่าในใจกลางเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทยกลับไม่มีการพัฒนาเพราะคิดเห็นแต่การอนุรักษ์แบบ "ไร้ราก" ปล่อยให้เมืองขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในเขตชานเมือง โดยอ้างว่าเป็นการกระจายความเจริญ แต่แท้จริงแล้วเป็นการสร้างปัญหาให้กับเมืองมากกว่า
ตัวอย่างที่ชัดเจนของการไม่มีส่วนร่วมก็คือ กรณีคำสั่งศาลให้รื้อโรงแรมดิเอทัส (http://bit.ly/1PsV5mn) ที่ก่อสร้างในซอยร่วมฤดี ที่มีความของถนนไม่ถึง 10 เมตร กรณีนี้ยังสะท้อนถึงการผังเมืองที่ขาดประสิทธิภาพ ท้องที่ซอยร่วมฤดีหรือตลอดแนวถนนสุขุมวิท และถนนพหลโยธินช่วงต้น อาจถือเป็น “บีเวอรี่ฮิลล์” (แหล่งที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้สูง) ของประเทศไทยเมื่อเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา หากการผังเมืองมีความเข้มแข็งย่อมพึงสงวนพื้นที่เหล่านี้ให้อยู่ในสภาพเดิม โดยไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมากลับมีการก่อสร้างเกิดขึ้นมากมาย สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยในท้องที่เหล่านี้จนถึงขั้นฟ้องร้องเช่นในกรณีนี้
อย่างไรก็ตามโดยที่มีการก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันจนกลายเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว การจะพยายามจำกัดเช่นการร่างผังเมืองฉบับใหม่ ย่อมกลับกลายเป็นรอนสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินรายอื่น ๆ และทำให้โอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองมีความจำกัดลง หรือมีราคาสูงขึ้น ส่งผลเสียต่อประชาชนในอีกแง่หนึ่ง ทำให้เมืองต้องแผ่ออกไปสู่รอบนอก ทำลายพื้นที่เกษตรกรรม และทำให้สาธารณูปโภคต้องขยายออกไปไม่สิ้นสุด นี่จึงเป็นปัญหาการผังเมืองที่ขาดประสิทธิภาพ
ดร.โสภณ เคยเรื่อง "ผังเมืองหมดอายุ: อนาธิปไตยในการใช้ที่ดิน" ตั้งแต่ปี 1 กุมภาพันธ์ 2554 (http://bit.ly/1VYZoVx) เรื่อยมา จนในที่สุดได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 กันยายน 2558 ว่าผังเมืองที่มีกำหนดหมดอายุหลังวันดังกล่าว ไม่มีวันหมดอายุอีกต่อไป การแก้ไขก็คงเป็นไปตาม "อัธยาศัย" ของทางราชการ (โดยไม่ต้องรีบร้อนตามกรอบเวลา)!?!
แนวทางที่สำคัญหนึ่งของการผังเมืองก็คือ ควรให้ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้วางผัง ไม่ใช่ให้รัฐจากส่วนกลาง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปวางให้เป็นองค์รวม โดยขาดการรับฟังและปฏิบัติตามความเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง หน่วยราชการส่วนกลางหรือ อปท. จะวางแผนก็ควรวางแผนในกรณีผังล่วงหน้า เช่น การสร้างเมืองบริวาร หรือการพัฒนาศูนย์ธุรกิจใจกลางเมือง เป็นต้น