ยุง: พระมหาวุฒิชัย สอนด้วยความไม่รู้จริง
AREA แถลงฉบับนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ต่อความเข้าใจผิดของพระมหาวุฒิชัย
ยุง: พระมหาวุฒิชัย สอนด้วยความไม่รู้จริง
ได้มีโอกาสฟังการสนทนาธรรมของนายเท่ง กับ พระมหาวุฒิชัย เห็นมหายกตัวอย่างที่ผิดความจริง เลยขอทักท้วงเพื่อความรู้ของสาธารณะสักหน่อย
ในคลิปธรรมะที่นาย "เท่ง เถิดเทิง" สนทนาธรรมกับพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (http://bit.ly/2fUK4wY) มีตอนหนึ่งตั้งแต่ช่วงเวลา 8 นาที 22 วินาที มหาพูดถึงการฆ่าสัตว์โดยใช้ตัวอย่างยุงที่ตนมักยกมาสอนเสมอว่า "ในระหว่างนั่งสมาธิ เกิดเผลอตบยุงตาย หากยุงตัวนั้นเป็นหัวหน้าครอบครัว บินออกมาหาเลือดเพื่อให้ลูกเมียที่รออยู่ที่บ้าน แต่กลับถูกตบตายอย่างน่าอนาถ คิดอย่างนี้จะเห็นได้ว่าชีวิตยุงตัวเล็ก ๆ นั้นยิ่งใหญ่มาก ลูกเขาล่ะ เมียเขาล่ะ"
สิ่งที่มหาพูดข้างต้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับธรรมชาติของยุง วงจรชีวิตของยุงนั้น ไม่ได้มีครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกแบบสัตว์ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักกัน เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป จึงไม่มีปรากฏการณ์ที่ยุงตัวพ่อ หรือยุงตัวเมียออกไปหาอาหาร (เลือดคนหรือสัตว์) มาป้อนให้ลูกเมียกิน
ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ถึงวงจรชีวิตของยุง (http://bit.ly/1PiYvaS) ว่ามีอยู่4 ระยะ คือระยะที่เป็นไข่ ระยะที่เป็นลูกน้ำที่เรามักช้อนมาเลี้ยงปลาสวยงาม ระยะเป็นตัวโม่ง และระยะที่เป็นยุงบินไปบินมาที่ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่เราอาจเรียกว่ายุงตัวแก่
ส่วนการผสมพันธุ์ของยุงนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอากาศ ยุงตัวเมียส่วนใหญ่ผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวโดยที่เชื้ออสุจิจากตัวผู้จะถูกกักเก็บในถุงเก็บน้ำเชื้อ ซึ่งสามารถใช้ไปได้ตลอดชีวิตของมัน ส่วนยุงตัวผู้สามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง ดังนั้นยุงตัวที่ออกไปหาเลือดจึงเป็นยุงตัวเมียเพื่อนำเอาโปรตีนและแร่ธาตุไปใช้สำหรับการเจริญเติบโตของไข่ในรังไข่
แต่ก็มียุงบางชนิดที่ไม่จำเป็นต้องกินเลือดก็สามารถสร้างไข่ในรังไข่ได้ และเมื่อไข่สุกเต็มที่ยุงตัวเมียจะหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการวางไข่ ส่วนยุงตัวผู้ตลอดอายุขัยจะกินอาหารจากแหล่งน้ำหวานของดอกไม้หรือพืชที่ผลิตน้ำตาลในธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับยุงบางชนิดที่ตัวเมียไม่กัดดูดเลือดคนหรือสัตว์เลย
ข้อเท็จจริงเรื่องยุงตัวเล็ก ๆ นี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นประเด็นเล็ก ๆ แต่ชี้ว่ามหาไม่เข้าใจธรรมชาติของยุง เลยยกตัวอย่างที่ผิดความจริง เยาวชนหรือใครฟังเข้า อาจจำเอาไปเป็นความรู้ผิด ๆ นักเทศน์ที่ดีจึงควรศึกษาความรู้ให้ดี แต่นี่มหากลับเทศน์สอนแบบนี้มาอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ตนเองก็ไม่ฉุกคิดเลยสักครั้ง จำนวนผู้ฟังที่เข้าไปผิดไปคงมีเป็นอันมากแล้ว จึงควรมาทำความเข้าใจเสียใหม่ นักเทศน์หรือผู้สอนจึงควรใส่ใจกับรายละเอียดและความถูกต้องตามความเป็นจริง หาไม่จะทำให้สิ่งที่พูด ขาดความน่าเชื่อถือได้
ในกรณีนี้ สิ่งที่มหาพึงสอนแก่ผู้มาปฏิบัติธรรมก็คือ การเจริญสติให้ดี ไม่เผลอไปตบยุงตาย หากถูกกัดก็พึงกำหนดสติรู้ตัวทั่วพร้อม จะได้ไล่ไปด้วยวิธีอื่นโดยไม่เผลอไปตบ หรือในบางคน บางกรณี การตบยุงอาจไม่เพราะความเผลอ แต่เป็นโทสะของเราเอง เราก็ควรศึกษาเพื่อหาทางลด ละ เลิกโทสะกันอย่างไร จึงจะบำเพ็ญเพียรถือศีลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่างหาก
โปรดสังวร
"มหาครับ ยุงนะ ไม่ใช่นก”