เหตุใดที่ไม่ควรดื่มน้ำรวดเดียวระหว่างมื้ออาหาร
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารกล่าวมานานหลายปีแล้วว่าการดื่มน้ำแก้วใหญ่รวดเดียวก่อนหรือในระหว่างมื้ออาหารจะทำให้คุณรับประทานอาหารได้น้อยลงและเป็นเหตุให้น้ำหนักลดลงตามไปด้วย ก็ฟังดูมีเหตุผลนะ! การดื่มน้ำปริมาณมากจะทำให้คุณอิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารน้อยลง ทว่าสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลข้างเคียงต่อความสามารถในการย่อยและดูดซึมสารอาหารซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดีแน่..จริงไหม?
โรบิน ยูคิลิส ผู้เขียนหนังสือ Go With Your Gut ซึ่งเกี่ยวกับการย่อยอาหาร แนะนำว่าเราไม่ควรดื่มน้ำก่อนมื้ออาหารประมาณครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงหลังมื้ออาหาร หากจำเป็นจริงๆก็ควรแค่จิบน้ำเท่านั้น มิฉะนั้นคุณอาจทำให้กรดไฮโดรคลอริกในกระเพาะอาหารซึ่งจำเป็นในการย่อยอาหารเจือจางลงไป ตอนแรกฉันรู้สึกว่าแนวคิดนี้ไร้สาระมากเนื่องจากฉันเป็นคนที่ชอบดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารทุกคืน ด้วยเหตุนี้ฉันจึงมีอาการท้องอืดบ่อยๆ
อาลี มิลเลอร์ นักโภชนาการกล่าวว่า “ประเด็นนี้มีข้อมูลผิดๆค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามพฤติกรรมดังกล่าวก็ส่งผลเสียมากกว่าผลดีเนื่องจากการรับประทานของเหลวมากเกินไปในระหว่างมื้ออาหารอาจทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย หรือแม้กระทั่งทำให้ระบบย่อยและดูดซึมสารอาหารผิดปกติ” มิลเลอร์กล่าวว่ากระเพาะอาหารจะรักษาระดับความเป็นกรดในการวัดค่า pH ที่ 1-2 ซึ่งจะช่วยสลายโปรตีน กระตุ้นการปล่อยเอ็นไซม์ย่อยอาหาร ดูดซึมวิตามิน เช่น วิตามินบี 12 และเปลี่ยนอาหารให้กลายเป็นสารเหลวข้นเหมือนสารละลายซึ่งทำให้ย่อยได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อคุณดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหาร กระบวนการทั้งหมดจะช้าลงจนทำให้ท้องอืดและการย่อยอาหารก็แย่ลงด้วย ดังนั้นคุณควรดื่มน้ำเมื่อไหร่? สำหรับการย่อยที่ดีต่อสุขภาพเราควรจำกัดไว้ที่น้ำ 8 ออนซ์ (250 มิลลิลิตร) ต่อมื้ออาหารและเพิ่มปริมาณได้เล็กน้อยเพื่อช่วยกลืนเท่านั้น
นอกเหนือจากเรื่องของเหลวเรายังสามารถทำอย่างอื่นเพื่อจัดการกับระบบย่อยอาหารของตัวเอง เช่น เคี้ยวให้มากขึ้น รับประทานอาหารในภาวะที่ผ่อนคลาย และเพิ่มอาหารที่มีรสขม เช่น ผักกาดเขียวปลี และกรดต่างๆ เช่น น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ลลงไปในอาหาร มิลเลอร์กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำดีและเอ็นไซม์ทำให้การย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารมีประสิทธิภาพถึงขีดสุด”
Blogger : Stephanie Eckelkamp
Source : eatclean.com