ความเป็นมาของน้ำแข็ง ในสยามประเทศ
เอกสารบันทึก ราว พ.ศ.2400 ตรงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเรือกลไฟชื่อเจ้าพระยาเดินเมล์รับส่งสินค้าระหว่างสิงคโปร์กับกรุงเทพฯ ใช้เวลา 15 วัน ในบรรดาสินค้าจากสิงคโปร์ยามนั้นมีของแปลกอย่างหนึ่งก็คือ น้ำแข็ง มันถูกบรรจุหีบกลบด้วยขี้เลื่อยส่งเข้ามาถวาย จากนั้นก็แพร่หลายเข้าไปในหมู่เจ้านาย และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ โดยผู้ที่สั่งน้ำแข็งเข้าเมืองสยามในยุคนั้นคือ พระภาษีสมบัติฯ (ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพิสนธ์สมบัติบริบูรณ์ )
ต่อมา พ.ศ.2448 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระยาภักดีนรเศรษฐ ก็ได้ดำเนินกิจการโรงน้ำแข็งขึ้นบริเวณสะพานเหล็กล่าง ถนนเจริญกรุงชื่อว่า "น้ำแข็งสยาม" นับแต่นั้นเป็นต้นมา น้ำแข็งก็ได้แพร่ขยายไปสู่หัวเมืองใหญ่ๆ รอบนอกกรุงเทพฯ แต่ทว่าน้ำแข็งในยุคแรกๆ นั้น ยังไม่สะอาด เหตุเพราะว่าใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองมาทำ
ถ้าจะให้ใสดีหน่อยก็จะใช้น้ำบาดาล แต่ไม่มีการกรองฆ่าเชื้อโรคแต่ประการใด เพราะต้นทุนสูงไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย