16 เรื่องราวน่ารู้กรุงเทพในอดีต-ปัจจุบัน (พร้อมภาพ)
"ถนนราชดำริ"
ถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ใน พ.ศ.2445 การสร้างถนนราชดำรินี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริให้มีการกำหนดขนาดของถนนที่จะสร้างในรัชสมัยของพระองค์ โดยคำนึงถึงความสำคัญของถนนในอนาคตว่าเมื่อธุรกิจก้าวหน้าขึ้น จำนวนประชาชนที่เพิ่มขึ้น จะเกิดการเดินทางด้วยถนนและจะทำให้ถนนคับแคบไป
"ถนนพหลโยธิน"
ภาพเด็กสาว 3 คนเมื่อปี 2513 ใส่ผ้าถุงยืนขายพวงมาลัย กลางถนนพหลโยธิน บริเวณสนามเป้า..ใกล้ๆกับอนุสาวรีย์ชัย กับเด็กผู้ชายที่ยืนขายพวงมาลัยในปัจจุบัน ถึงวันเวลาจะเปลี่ยนแต่สภาพสังคมเศรษฐกิจในเมืองกลับสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของเด็กในเมืองหลวงที่ต้องรับภาระหน้าที่หลักของครอบครัว
"ร้านลิตเติ้ลโฮมเบเกอรี่"
ร้านลิตเติ้ลโฮมเบเกอรี่ สาขาทองหล่อ ปี 2512 เมนูขึ้นชื่ออย่างแพนเค้ก เค้กมะพร้าว ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ แกงเขียวหวานโรตี ลิตเติ้ล โฮม จุดเริ่มต้นขึ้นที่บ้านไม้โบราณ ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งบ้านพักอาศัยและร้านทองของ หลวงสุวรรณมณีกิจ ช่างทองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณทวดของคุณอภิชาต หวั่งหลี จนปรับมาเป็นร้านเบเกอรี่ในปี 2494 โดยเริ่มจากฝีมือปลายจวักของสะใภ้คนเก่งชาวฟิลิปปินส์ นับว่าร้านอาหารคู่กทม.ที่เปิดบริการความอร่อยมากว่า 60 ปีมาจนปัจจุบัน
“ปากคลองตลาด”
ทำไมปากคลองตลาดต้องขายดอกไม้?
เดิมทีนั้นปากคลองตลาดไม่ได้เป็นตลาดค้าส่งดอกไม้งามสะพรั่งดังเช่นทุกวันนี้ หากแต่ตลาดนี้เป็นตลาดขนาดใหญ่ เน้นการขายปลาที่ส่งตรงมาจากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ขนเข่งผ่านมาทางแม่น้ำเจ้าพระยามาสู่ “ปากคลองตลาด” แห่งนี้
“ปากคลองตลาด” ได้ชื่อว่าเป็นตลาดเก่าแก่ บนเกาะรัตนโกสินทร์ที่มีประวัติมาช้านาน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดฯ ให้ขุดคลองหลายสายมาตั้งแต่เริ่มสถาปนากรุงเทพฯ พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ขุดคลองเล็กๆ สายหนึ่งที่ข้างวัดบูรณศิริอมาตยารามขึ้น ซึ่งคลองเล็กนี้เองที่ก่อให้เกิดชุมชนริมน้ำขนาดใหญ่ ที่สมัยก่อนเรียกว่า “คลองตลาด” อีกทั้งในย่านที่ไม่ไกลกันนี้ก็มีคลองขุดที่ฝั่งบางกอกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2315 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสิน เรียกว่า"คลองใน" ซึ่งคลองทั้ง 2 แห่งนี้ ได้กลายมาเป็นตลาดสดแหล่งเดียวกันและยังคงเน้นการค้าปลาเป็นหลัก มาจนถึงแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดฯ เรียกตลาดนี้ว่า "ตะพานปลา" จนมาถึงระยะหนึ่งก็มีการย้ายตลาดค้าปลาไปยังตำบลวัวลำพอง หรือหัวลำโพงแทน ตลาดนี้จึงซบเซาลงจนต้องแปรสภาพเป็นตลาดสดที่ค้าสินค้าประเภทผัก ผลไม้ และดอกไม้สด อย่างเช่นทุกวันนี้
(ภาพซ้ายบน : คุณยายอาศัยและค้าขายอยู่ที่ปากคลองตลาดมากว่า 40 ปี)
(ภาพด้านล่าง : รถรางในอดีต บริเวณหน้าโรงหนังเอมไพร์ ปากคลองตลาด ด้านหลังมีรถเมล์ขาวนายเลิศ)
"ประตูน้ำ"
สาเหตุที่เรียกประตูน้ำ นั้นมาจากประตูกั้นน้ำในคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นคลองที่รัชกาลที่ 5 ทรงให้ขุดขึ้น เพื่อเชื่อมต่อกับคลองมหานาค คลองผดุงกรุงเกษม และคลองอื่นๆ จึงจำเป็นต้องมีประตูกั้นน้ำเพื่อให้ระดับน้ำเหมาะสมแก่การใช้งาน
จนกระทั่งมีการสร้างถนนเส้นใหม่ตัดผ่าน เรียกถนนเส้นนี้ว่า เพชรบุรีตัดใหม่
(ภาพซ้าย - ย่านประตูน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2516 ภาพขวา - ย่านประตูน้ำในปัจจุบัน)
"ห้างไนติงเกล"
รู้ไหม? ห้างสรรพสินค้าที่แรกในกทม.คือห้างไนติงเกล หรือชื่อเต็ม ไนติงเกล-โอลิมปิก เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีอายุยาวนานที่สุด ตั้งอยู่ที่บริเวณแยก พาหุรัด เริ่มเปิดกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 และปัจจุบันยังคงเปิดดำเนินกิจการอยู่
"มาบุญครอง"
วิวัฒนาการในอดีตสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ย้อนอดีตไปเมื่อสองร้อยปีก่อน บริเวณนี้เป็นทุ่งนา การเดินทางสัญจรด้วยวิธีการคมนาคมทางน้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 เสด็จทอดพระเนตรบริเวณนี้และทรงเห็นว่ามีบัวพันธุ์ไทยขึ้นตามหนองคลองบึงจำนวนมาก จึงมีพระราชประสงค์จัดทำเป็นสระบัวขึ้นไว้สำหรับเป็นที่ประทับพักผ่อน ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอารามหลวงขึ้นและพระราชทานนามว่า“วัดปทุมวนาราม”ซึ่งมีความหมายว่า “ตำบลปทุมวัน”
ปัจจุบันสี่แยกปทุมวันได้กลายเป็นแหล่งธุรกิจที่เติบโตของกรุงเทพฯ และเป็นศูนย์รวมการประกอบธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ และ ห้างมาบุญครองยังมีความเชื่อว่าเป็นทำเลสุดยอดฮวงจุ้ยอีกด้วย
"สยามพารากอน"
ศูนย์กลางการค้าเมืองกรุง..
เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ที่ต่อมาได้ถูกทุบและก่อสร้างใหม่เป็นสยามพารากอน ห้ามสรระสินค้าที่มีตัวอาคารสูง 8 ชั้น อีกทั้งยังมีลิฟต์แก้วที่ใช้กระจกทั้งหมดเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
"รถโดยสารประจำทาง ... รถเมล์"
เมื่อนึกถึงกรุงเทพฯ สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดถึงและมองเห็นทุกวันนั่นก็คือ รถโดยสารประจำทาง เคยสงสัยไหมว่า รถเมล์มาจากไหน?
รถโดยสารประจำทางที่มีครั้งแรกนั้น เคลื่อนที่โดยใช้กำลังม้าลากจูง ไม่ได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเหมือนในปัจจุบัน จนกระทั่ง พระยาภักดี นรเศรษฐ (นายเลิศ เศรษฐบุตร) ได้ริเริ่มกิจการรถเมล์เมื่อราวปี พ.ศ. 2450 โดยให้บริการเส้นทางการเดินรถจากสะพานยศเส (กษัตริย์ศึก) ไปจนถึงประตูน้ำสระปทุม แต่เนื่องจากใช้ม้าลากทำให้ล่าช้า ไม่รวดเร็วทันใจ อีกทั้งยังไม่สามารถให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้เพียงพอ การประกอบอาชีพการเดินรถนั้นจึงได้มีการพัฒนาและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี (พ.ศ. 2475) ได้เกิดการลงทุนระหว่างชาวจีน รัฐวิสาหกิจและราชการ และเกิดเป็นขสมก.ให้เราได้เห็นในปัจจุบันนี่เอง
"ศาลาแดง"
เพราะอะไร ทำไมต้องศาลาแดง?
แต่เดิมบริเวณย่านศาลาแดงนั้น เคยเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ที่ไม่มีชื่อเรียก จนราว พ.ศ 2436 ชาวเดนมาร์กกลุ่มหนึ่งได้ขอพระราชทานสัมปทานสร้างรถไฟ สายสมุทรปราการ หรือ เรียกว่าสายปากน้ำ ซึ่งแล่นผ่านบริเวณทุ่งนาแห่งนี้ เมื่อมีรถไฟผ่าน ก็ต้องสร้างสถานีรถไฟ เพื่อเป็นศาลาสำหรับให้ผู้โดยสารนั่งรอรถไฟ โดยสถานีรถไฟแห่งนี้มีหลังคาศาลาเป็นสีแดง มองเห็นสะดุดตา เป็นจุดเด่นอยู่กลางทุ่ง คนทั่วไปจึงเรียกสถานีนั้นตามจุดเด่นของสีแดงของหลังคา จึงเป็นที่มาของคำเรียกว่า “ศาลาแดง”
(จากภาพ : บริเวณสี่แยกศาลาแดงในอดีต - ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของอีกหนึ่งสถานที่สำคัญ คือ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกันกับสวนลุมพินี ตรงข้ามกับโรงแรมดุสิตธานีในปัจจุบัน)
“สยามสแควร์ แหล่งรวมวัยรุ่นทุกยุคสมัย”
เดิมทีใช้ชื่อ ปทุมวันสแควร์ เพราะตั้งอยู่ในอำเภอปทุมวัน จนกระทั่ง กอบชัย ซอโสตถิกุล เจ้าของโครงการในขณะนั้นมองว่าชื่อ ปทุมวันสแควร์ เล็กไปเพราะเป็นแค่ชื่ออำเภอ จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อของประเทศน่าจะดีกว่า จึงเปลี่ยนใช้ชื่อว่า "สยามสแควร์" เป็นต้นมา.
(จากภาพ : บริเวณสยามสแควร์ ซอย 1 ร้านอาหารบางร้านอาทิเช่น ร้านหูฉลามสกาล่ายังคงเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน รวมถึงร้านมิสเตอร์ โดนัท สาขาแรกของประเทศไทย ก็ตั้งอยู่ในบริเวณสยามสแควร์ซอย 1 และยังคงให้บริการจนถึงปัจจุบัน)
“ทุ่งบางกะปิ ... ตำนานรักขวัญเรียม”
ถ้าพูดถึงบางกะปิแล้วหลายคนคงนึกถึง "กะปิ น้ำปลา" อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ที่จริงแล้ว ชื่อ "บางกะปิ" นั้น มาจากคำในภาษามลายูว่า "กัปปิยะ หรือ กะปิเยาะห์" ซึ่งหมายถึง "หมวกที่ใส่เพื่อทำละหมาดของบุรุษที่นับถือศาสนาอิสลาม" เพราะอดีตพื้นที่ในบริเวณนี้มีชาวมุสลิมมาอาศัยอยู่ เป็นจำนวนมาก คนทั่วไปจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "บางกัปปิยะ หรือ บางกะปิเยาะห์" ซึ่งหมายถึงย่านที่อยู่ของคนสวมหมวกกะปิเยาะห์ หรือ ย่านที่อยู่ของชาวมุสลิม จาก "บางกะปิเยาะห์" ก็ได้เรียกเพี้ยนให้สั้นลงเป็น "บางกะปิ" ดังเช่นปัจจุบัน
(จากภาพ : เมื่อปี 2524 ก่อนจะมีเดอมอลล์บางกะปิ และตะวันนาในวันนี้ แต่ก่อนนั้นเคยเป็นทุ่งนา ส่วนด่านขวาเป็นตึกแถวของแฮปปี้แลนด์ และถนนลาดพร้าวยังโล่งโปร่ง ไม่หนาแน่นเหมือนในวันนี้)
เสาชิงช้า ....สะดือกรุงเทพฯ"
ในยุคนี้หากพูดถึงใจกลางกรุงเทพฯ หลายๆคนคงจะนึกถึงสยามสแควร์ สุขุมวิท หรือสีลม ที่เป็นแหล่งธุรกิจ แหล่งค้าขาย แหล่งรวมแฟชั่น ความทันสมัย ศูนย์รวมความเจริญอีกมากมาย แต่หากเป็นในอดีต ใจกลางกรุงเทพฯ นั้นอยู่ในย่านเสาชิงช้า เพราะที่นี่ถือเป็น “สะดือเมือง” หรือจุดศูนย์กลางของพระนครที่ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1
จากภาพ
ซ้าย : พิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธี”ตรียัมปวาย ตรีปวาย”ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเมื่อครั้งอดีต
ขวา : เสาชิงช้าที่เห็นกันในปัจจุบันนั้นเป็นเสาต้นใหม่ ที่ได้มีการจัดพิธีสมโภขน์เสาชิงช้าใหม่ไปเมื่อวันที่ 11-13 กันยายน 2550 โดยตัวไม้เป็นไม้สักทองมาจากเมืองแพร่)
“ศาลาเฉลิมกรุง” ฮอลลีวูดเมืองไทย
ในยุคที่ภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟู ศาลาเฉลิมกรุง คือศูนย์กลางของวงการบันเทิงอย่างแท้จริง เรียกว่าเป็นฮอลลีวูดเมืองไทยก็ว่าได้
ศาลาเฉลิมกรุงเป็นศูนย์รวมของแหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เป็นศูนย์รวมของผู้คนในวงการภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่ผู้สร้าง ผู้กำกับ ดารา ตัวประกอบ ทีมงาน นักพากย์ นักร้อง ช่างเขียนโปสเตอร์ ฯลฯ และเป็นสถาบันในการผลิตบุคลากรทางด้านการภาพยนตร์และละครของไทย ศาลาเฉลิมกรุงเป็นเหมือนประกาศนียบัตรรับรองความสำเร็จของบุคคลในสายอาชีพนี้ ตลอดไปจนถึงบริษัทฉายหนังต่างๆ ที่มีกิจการอยู่ในละแวกด้านหลังศาลาเฉลิมกรุง
นอกเหนือจากผู้คนในวงการบันเทิงแล้ว ศาลาเฉลิมกรุงเป็นโรงมหรสพแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ อีกทั้งยังมีการจัดฉายภาพยนตร์ชั้นดี โดยเฉพาะภาพยนตร์ต่างชาติเสียงในฟิล์ม โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงในยุคแรกเริ่มจึงเป็นที่ชุมนุมของคนที่มีการศึกษาดี มีความรู้ภาษาต่างประเทศและผู้ที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ
ปัจจุบัน ศาลาเฉลิมกรุง ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ แต่ไม่ได้ฉายภาพยนตร์เหมือนโรงภาพยนตร์ทั่วไป เนื่องจากได้รับการยกระดับให้เป็นโรงมหรสพแห่งชาติ จัดฉายภาพยนตร์และเปิดการแสดงมหรสพสำคัญ ๆ ในโอกาสต่าง ๆเท่านั้น
"แฮปปี้แลนด์ .... สวนสนุกแห่งแรกของประเทศไทย"
ตลาดที่อยู่ตรงข้ามกับเดอะมอลล์บางกะปิ จุดที่รถเมล์สาย 8 หมดระยะ รวมถึงเป็นจุดบริการรถตู้โดยสารในปัจจุบัน เคยสงสัยไหม ว่าทำไมถึงเรียกว่าแฮปปี้แลนด์?
แฮปปี้แลนด์ เป็นสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย เปิดดำเนินการเมื่อปี 2516
สวนสนุกแฮปปี้แลนด์สมัยรุ่งเรืองและได้รับความนิยม ประกอบไปด้วยเครื่องเล่นหลักๆ คือ ชิงช้าสวรรค์ รถไฟเหาะ เรือหรรษา ปาเป้า ม้าหมุน ชิงช้า กระดานหก รถบั๊ม และบ้านผีสิงขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าทันสมัยอย่างยิ่ง
...นานๆ เข้าเครื่องเล่นส่วนใหญ่ก็เก่าและชำรุดไปตามกาลเวลา ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนคนเล่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ประสบอุบัติเหตุ และบางรายถึงกับเสียชีวิต จนภายหลังมีสารพัดข่าวลือรวมทั้งเรื่องเด็กหาย ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้ามาใช้บริการ จึงต้องปิดกิจการ และรื้อถอนออกไปเมื่อปี 2522
ที่ตั้งของอดีตสวนสนุกแฮปปี้แลนด์คือตรงที่เป็นตลาดสดแฮปปี้แลนด์ในปัจจุบัน
"แท็กซี่...มาจากไหน? ใครริเริ่ม?"
แต่ก่อน ชาวพระนครเรียกรถแท็กซี่ว่า " รถไมล์ "พระยาเทพหัสดิน ณ อยุธยา (ผาด) เป็นผู้เริ่มกำหนด แท็กซี่ ครั้งแรกในเมืองไทย โดยนำเอารถยี่ห้อออสตินขนาดเล็ก ออกวิ่งรับจ้าง โดยติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า ข้างหลังของตัวรถซึ่งคนขับรถในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกทหารอาสาค่าโดยสารคิดเป็นไมล์ โดยตกไมล์ละ 15 สตางค์ ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบราคากับค่าโดยสารในปัจจุบัน มีอยู่เพียง 14 คันและเนื่องจากขาดทุนจึงเลิกกิจการ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี2490 มีผู้นำรถยนต์นั่งมาให้บริการในลักษณะรถแท็กซี่ ซึ่งได้รับความนิยม จนมีการจัดตั้งเป็นบริษัทเดินรถแท็กซี่ขึ้นมาคนกรุงเทพฯ สมัยนั้นเรียกว่าแท็กซี่ว่า "เรโนลต์" ซึ่งเป็นจุดเริ่มความสำเร็จของการเดินรถแท็กซี่ เพราะเป็นที่นิยมของคนทั่วไป เนื่องจาก คนนิยมนั่ง สะดวก รวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบ ซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น
ซ้ำ-เคยอ่านแล้ว ขออภัยมา ณ ที่นี้ (อย่าด่าเค้าน๊า)