หลักฐานใหม่ ร.5 ครองราชย์ นานถึง 43 ปี
กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยเผยหลักฐานจดหมายเหตุ ร.5 ทรงครองราชย์ 43 ปี ไม่ใช่ 42 ปีตามที่คนทั่วไปเข้าใจ เหตุวิธีนับเลขแตกต่างกัน แต่ต้องยึดถือเอกสารเก่าที่เขียนไว้ชัดเจน เตรียมเสนอที่ประชุมให้เร่งแก้ไขด่วน
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม รศ.วุฒิชัย มูลศิลป์ กรรมการในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กระทรวงวัฒนธรรม และภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบหลักฐานจากจดหมายเหตุสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พบว่า พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลา 43 ปี ไม่ใช่ 42 ปีตามที่คนทั่วไปเข้าใจ โดยยกตัวอย่างจากเอกสารประชุมกฎหมายประจำศก ระบุตัวเลข 43 ไว้เหนือคำว่า "ศก 129" หรือรัตนโกสินทร์ 129 (ร.ศ.129) หมายถึงปีที่ครองราชย์เป็นปีที่ 43 ในรัชกาล
กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยกล่าวว่า นอกเหนือจากในเอกสารประชุมกฎหมายประจำศกแล้ว ในข่าวการเสด็จสวรรคตก็ยังพบหลักฐานระบุชัดเจนว่าพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษา 58 พรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติ 43 ปี แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็น 42 ปีเท่านั้น เพราะใช้วิธีนับจำนวนเลขแบบคณิตศาสตร์ ไม่ได้นับแบบธรรมเนียมประเพณีโบราณ พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 จนถึงวันเสด็จสวรรคต 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 โดยนับปีที่ครองราชย์ตั้งแต่วันแรกของการเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปีที่ 1 จากนั้นเมื่อเสด็จสวรรคตที่ผ่านวันครบรอบการครองราชย์ปีที่ 42 มาแล้ว ดังนั้นต้องนับว่าพระองค์ทรงครองราชย์ได้ 43 ปีจึงจะถูกต้อง (ใช้นับปี พ.ศ.ที่ครองราชย์)
"เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการเสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 5 ผมอยากให้คนทั่วไปและคนในวงการศึกษาได้ปรับเปลี่ยนความเข้าใจประวัติศาสตร์เรื่องนี้ให้ถูกต้อง เพราะเมื่อดูหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ก็ยังเขียนผิด เพราะคนสมัยก่อนกับสมัยนี้มีวิธีนับเลขไม่เหมือนกัน เราควรจะยึดหลักฐานไว้ให้ถูกต้อง เมื่อตรวจสอบเอกสารจดหมายเหตุระบุตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2453 ถือเป็นการเริ่มปีใหม่ และถือว่าพระองค์ครองราชย์ 43 ปี" รศ.วุฒิชัยกล่าว
นักประวัติศาสตร์รายนี้กล่าวอีกว่า จะมีการนำเรื่องนี้เสนอให้คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยพิจารณาปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยนัดประชุมกันภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เพื่อพิจารณาตรวจสอบเอกสารทางประวัติศาสตร์และชำระเรียบเรียงประวัติศาสตร์ไทยสมัยต่างๆ รวม 10 ชุด เช่น คณะอนุกรรมการพิจารณาต้นฉบับจดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 กำลังตรวจสอบชำระพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 และคณะอนุกรรมการพิจารณาต้นฉบับจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ซึ่งขณะนี้ทางกรมศิลปากรเตรียมจัดพิมพ์เพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้นำไปศึกษาและทำความเข้าใจได้ถูกต้อง
"ยังมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้หรือเข้าใจถูกต้อง ส่วนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในสถานศึกษาต้องแก้ไขโดยเน้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเปิดกว้าง ครูอาจารย์ต้องให้นักเรียนพยายามค้นคว้าเพิ่มเติม เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ได้มีแต่เพียงเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในอดีตเท่านั้น แต่เราควรคิดต่อว่า เพราะอะไรถึงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อมาในสมัยหลังได้อย่างไร" รศ.วุฒิชัยกล่าว