ชา 6 ชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
สาวๆคนไหนชอบดื่มชากันบ้างคะ? (ผู้เขียนขอยกมือด้วยว่าเป็นคนชอบดื่มน้ำชามากๆอีกคน) นอกจากรสชาติของน้ำชาที่เราหลงไหลกันแล้ว คุณผู้อ่านทราบหรือไม่คะว่าชายังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย (ชาในที่นี้ คือ ชาที่ชงใหม่ๆ ไม่เติมน้ำตาล ไม่ใช่น้ำชาสำเร็จรูปที่เติมน้ำตาลและแต่งรสชาติให้หวานมาขายบรรจุขวดพร้อมดื่มนะคะ) วันนี้ทางชุมชนผู้หญิงสุขภาพดีจึงมีเรื่องราวของชาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาฝากคุณผู้อ่านกันค่ะ
1. ชาดำ (Black tea)
ชาดำเป็นชาที่แพร่หลายมากที่สุดชนิดหนึ่ง เกิดจากการเอาใบชาสายพันธุ์ Camellia sinensis มาผ่านกระบวนการบ่มชา อบแห้ง และบดใบชา ชาชนิดนี้จะมีรสชาติขมเล็กน้อย และมีปริมาณคาเฟอีนมากที่สุดในบรรดาชาด้วยกัน (40 มิลลิกรัมต่อถ้วย) แต่ก็ยังน้อยกว่าในกาแฟค่ะ
ชาดำนั้นจะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น Theflavins, Thearubigins เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดอีกด้วย มีการศึกษาพบว่า คนที่ดื่มชาดำประมาณ 3 ถ้วยต่อวัน จะมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันลดลงถึง 21%
2. ชาเขียว (Green tea)
ชาเขียวนั้นจะมีกลิ่นที่หอมนุ่มนวลกว่ากลิ่นของชาดำ โดยจะมีปริมาณคาเฟอีนที่น้อยกว่าชาดำ คือ 25 มิลลิกรัมต่อชา 1 ถ้วย ชาเขียวนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก เช่น สาร Catechins ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งและโรคหัวใจ มีการศึกษาพบว่าการดื่มชาเขียววันละ 1 ถ้วยจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ประมาณ 10% ค่ะ
3. ชาอูหลง (Oolong tea)
ชาอูหลงนั้นผลิตจากใบชาชนิดเดียวกับชาดำ แต่ผ่านกระบวนการบ่มใบชาที่สั้นกว่า ทำให้ได้รสชาติที่ดีกว่า ชาอูหลง 1 ถ้วยจะมีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 30 มิลลิกรัม หลายคนเชื่อว่าชาชนิดนี้ช่วยในการลดน้ำหนัก เพราะสารในชาอูหลงนั้นจะช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยไขมันในกลุ่มไตรกลีเซอไรด์ มีการศึกษาหนึ่งพบว่าผู้หญิงที่ดื่มชาอูหลงจะมีอัตรการเผาผลาญพลังงานได้เร็วกว่าผู้หญิงที่ดื่มน้ำเปล่าเล็กน้อย
4. ชาขาว (White tea)
ชาขาวได้จากการเก็บใบชาตั้งแต่ยอดชายังอายุน้อยๆ ชาชนิดนี้จะมีกลิ่นอ่อนกว่าชาชนิดอื่นและมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่า คือ ประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อถ้วย พบว่าชาที่ชงจากใบชาใส่กาจะมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาที่ชงจากชาที่อยู่ในถุงชาค่ะ
ประโยชน์ของชาขาวนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งและโรคหัวใจเหมือนชาชนิดอื่นๆแล้ว พบว่าชาขาวอาจจะมีประโยชน์ช่วยป้องกันโรคเบาหวานอีกด้วย เพราะพบว่าผู้ที่ดื่มชาขาวเป็นประจำ จะมี Glucose tolerance ดีขึ้น (ความทนต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลกลูโคสในเลือด หรือพูดง่ายๆก็คือ ร่างกายสามารถปรับตัวให้มีการหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้นั่นเอง) และยังช่วยลดคอเลสเตอรอลได้อีกด้วยค่ะ
5. ชาอโรม่า/ชาแต่งกลิ่น (Aromatic tea, Flavored tea)
ชาอโรม่าก็คือ ชาที่นำผลิตภัณฑ์ที่ให้กลิ่นหอม เช่น ลาเวนเดอร์ อบเชย(ชินนามอน) เปลือกส้ม มาผสมกับใบชาต่างๆอาจจะเป็นชาดำ ชาขาว หรือชาเขียวก็ได้ ชาชนิดนี้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระคล้ายกับในชาชนิดอื่นๆ และชาอโรม่าบางชนิดที่ผสมผลไม้บางชนิด เช่นชาบลูเบอร์รี่ ก็อาจจะยิ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นได้
แต่ผลิตภัณฑ์ชาอโรม่าหรือชาแต่งกลิ่นนี้ ไม่แนะนำให้ทานแบบที่ชงสำเร็จบรรจุขวดมาขายนะคะ เพราะชาเหล่านี้มักจะใส่น้ำตาลในปริมาณมาก (น้ำตาลเยอะๆคงไม่ดีต่อสุขภาพแน่ๆ) และยังมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่าแบบชงเองถึง 20 เท่าด้วยค่ะ
6. ชาสมุนไพร (Herbal tea)
ชาสมุนไพรนั้นจริงๆแล้วไม่ใช่ชา งงกันหรือไม่ค่ะ เนื่องจากชาสมุนไพรนั้นทำจากผลไม้ ดอกไม้ และสมุนไพรตากแห้ง ไม่ได้มีส่วนผสมที่เป็นใบชาเลย (แต่เราก็ยังเรียกว่าชา เพราะวิธีการชงนั้นเหมือนกับการชงชาทั่วๆไปนั่นเอง) ชาชนิดนี้ไม่มีคาเฟอีน (เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าไม่มีส่วนประกอบของใบชาอยู่เลย) แต่ไม่แนะนำให้ดื่มชาสมุนไพรยี่ห้อที่อ้างสรรพคุณว่าช่วยลดน้ำหนักนะคะ เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะเจอชาที่ผสมยาระบายที่อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ค่ะ
ประโยชน์ของชาสมุนไพรนั้น ยังมีงานศึกษาวิจัยไม่มากนัก แต่ก็มีอยู่บ้างที่รายงานว่า การดื่มชาสมุนไพรจะช่วยทำให้ความดันเลือดลดลงในผู้ป่วยที่มีปัญหาความดันเลือดสูง ชาคาร์โมไมล์นั้นเชื่อกันว่าจะช่วยทำให้หลับสบายขึ้น และชาเปปเปอร์มินท์จะช่วยให้สบายท้องค่ะ
เคล็ดลับการชงชาให้อร่อยและได้คุณค่าจากชาที่สุด
หลายคนอาจจะคิดว่า ชงชาไม่เห็นจะยากอะไร แค่เอาใบชาใส่แล้วเอาน้ำร้อนเติมลงไป ซักพักก็ใช้ได้แล้ว แต่จริงๆไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป โดยเฉพาะการชงชาจากใบชา ไม่ใช่ชาที่อยู่ในถุงชงสำเร็จรูป จริงๆแล้วจะมีขั้นตอนการชงชาที่ทำให้ได้รสชาติที่ดีเยี่ยมที่สุด (ตอนผู้เขียนไปเที่ยวเมืองจีน โดนทัวร์ต้อนไปร้านขายใบชา ถึงได้รู้ว่าวิธีการชงชาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร) เราจึงมีเคล็ดลับการชงชามาฝากคุณผู้อ่านเป็นการแถมท้ายด้วยค่ะ
- ปริมาณชาที่จะใช้ จะขึ้นกับรูปร่าง ลักษณะและคุณภาพของใบชา โดยมากจะใส่ประมาณ 25-30% ของความจุกาน้ำชา แต่ถ้าใครไม่ชอบรสชาเข้มข้นอาจจะลดปริมาณชาให้น้อยลงได้ค่ะ
- อุณหภูมิน้ำ น้ำจะชงชาเป็นน้ำร้อนแต่ไม่ใช่น้ำเดือดอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเสมอไป ชาแต่ละชนิดจะใช้น้ำที่อุณหภูมิที่ชงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรูปร่างและชนิดของชา เช่น ชาที่มีใบกลมแน่น จะใช้น้ำที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียสขึ้นไป ชาที่มีใบเรียวเล็กหรือชาที่ยอดใบอ่อนเยอะอย่างชาขาว จะใช้น้ำที่อุณหภูมิ 80-90 องศาเซลเซียส ส่วนชาเขียวมักจะชงที่น้ำอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสลงไปเล็กน้อย
- กาน้ำชา กาน้ำชาที่จะทำให้ได้รสชาติของชาดีที่สุดคือ กาดินเผา หรือกาเซรามิค
- วิธีการชงชานั้น จะแนะนำให้เอาน้ำร้อนเทใส่กาชาไว้ และเทออก เพื่ออุ่นกาชาก่อน หลังจากนั้นจึงตักใบชาใส่ลงไปตามที่ต้องการ (โดยมาก 25-30% ของความจุกาชา) แล้วจึงเทน้ำร้อนลงไปประมาณครึ่งกา แล้วเทน้ำออกใน 5 วินาที (ขั้นนี้เป็นการอุ่นใบชา ไม่ต้องเสียดายน้ำนี้นะคะ) หลังจากนั้นจึงเทน้ำร้อนลงไปจนเต็มกา และปิดฝากาไว้ เทน้ำร้อนไว้ที่ฝากาเล็กน้อยด้วย (เพื่อเป็นการกักความหอมของชาไว้ในการไม่ให้ระเหยออกมาหมด) รอประมาณ 40-60 วินาที จึงรินชามาดื่มค่ะ
- ชา 1 กานั้น สามารถเติมน้ำเพื่อชงซ้ำได้ประมาณ 4-6 ครั้ง หรือจนกว่าความหอมของชาจะหมดไป และแต่ละครั้งควรเพิ่มระยะเวลาในการรอน้ำชาหลังจากเติมน้ำครั้งละ 10-15 วินาทีด้วยค่ะ
- การชงชาแต่ละครั้ง ควรรินน้ำชาให้หมดกาเสียก่อนจึงค่อยเติมน้ำร้อนลงในกาใหม่ ถ้าไม่รินน้ำชาเก่าออกให้หมด ชาจะเสียรสชาติ อาจมีรสขมหรือฝาดเพิ่มขึ้น และยังอาจทำให้ท้องผูกได้ด้วย
- ใบชาที่ชงเสร็จแล้ว อย่ารีบนำไปทิ้งนะคะ เราสามารถเอาใบชาที่ชงแล้วไปตากแห้งและนำมายัดหมอนที่นอนแทนนุ่น จะช่วยให้หลับสบายขึ้น หรือนำใบชาเหล่านี้ไปประกอบอาหารเมนูใหม่ๆเพื่อทานได้ด้วยค่ะ
ที่มา:
- http://www.realsimple.com/health/nutrition-diet/healthy-eating/types-of-tea-00100000068566/index.html
- http://www.theptarin.com/health/150605182853.pdf
- http://www.janyatea.com/detail/tea_method.html
- http://hakkapeople.com/node/162
ซ้ำขออภัยค่ะ
รูปประกอบ : อินเตอร์เน็ต