เหตุใดในหลวงจึงไม่โปรดเสวยปลานิล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดเสวยปลานิล ทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยไม่รับสั่งอะไรเลย จนวันหนึ่งมีผู้กราบบังคมทูลถามพระองค์ว่า เพราะเหตุใดจึงไม่โปรดเสวยปลานิล ท่านทรงมีรับสั่งว่า “ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”
ท่านเลี้ยงปลานิลเหมือนลูกมีความเป็นมาอย่างไร ลองอ่านดูนะครับ
ปลานิลสามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ทวีปแอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบในประเทศซูดาน, ยูกันดา และทะเลสาบแทนกันยีกา
ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อภายในสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งโครงการในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
ผลการทดลองปรากฏว่าปลานิลที่ทรงโปรดเกล้าให้ทดลองเลี้ยงได้เจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อว่า ปลานิล (โดยมีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica) และพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้กับกรมประมงจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร และปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากปลานิลมีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็ก ๆ มีขนาดลำตัวใหญ่ ความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร แพร่ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี
ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงและแพร่ขยายพันธุ์ปลานิลในบ่อสวนจิตรลดาต่อไป ในทางวิชาการเรียกสายพันธุ์ปลานิลดังกล่าวว่า ปลานิลจิตรลดา ซึ่งยังคงเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้ที่ประเทศไทยได้รับทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ
ก็ด้วยเหตุเช่นนี้ครับ ในหลวงท่านจึงไม่ทรงโปรดที่จะเสวยปลานิล เพราะลูกหลานปลานิลที่อยู่ในประเทศไทยก็ถือกำเนิดจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มากจากสวนจิตรลดาที่ท่านทรงเลี่้ยงไว้ตั้งแต่เมื่อ 48 ปีที่ผ่านมานั่นเอง ก็เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่นำมาฝากเพื่อนๆ กันนะครับ แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก http://www.fisheries.go.th/it-network/knowledge/type%20of%20fish/typeoffish.htm
ขอบคุณแหล่งข้อมูล