เปิดตำนาน 'อุบะสึเทะ' ข้อบังคับสุดอำมหิต 'นำคนชราไปทิ้งในป่าลึก' สะท้อนด้านมืดของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ด้านมืดของสังคมหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะเป็นสังคมไทย หรือสังคมต่างประเทศที่มักพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็คงหนีไทม่พ้น “ปัญหาการทอดทิ้งคนชรา” หรือ “ปัญหาผู้สูงอายุไร้การเหลียวแลจากลูกหลาน” สถานบ้านพักพิงคนชรา มักจะเป็นจุดหมายปลายทางของพวกเขา ต่างคนต่างมาพักพิงด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน บ้างก็ไม่มีครอบครัว บ้างก็ถูกลูกหลานนำมาทิ้งเพียงเพราะเป็นคนแก่ที่เอาแต่ใจ หรือบางคนเต็มใจที่จะมา พักพิงที่บ้านพักคนชราเองเพียงเพราะมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน
แต่รู้ไหมว่า ปัญหาการทอดทิ้งคนชรานั้นมีตั้งหลายร้อยปีแล้ว ย้อนกลับไปในสมัยเอโดะ มีหลักฐานทางกวีและตำนานต่างๆนานา เกี่ยวกับการทอดทิ้งคนชราของครอบครัวชาวญี่ปุ่น ที่สะท้อนว่า ด้านมืดของสังคมนั้นไม่ได้เพิ่งมามี ตอนที่ยุคเทคโนโลยี การศึกษา และการแข่งขันในสังคมสูงเหมือนทุกวันนี้ แต่ปัญหาทุกอย่างมันต้องมีเหตุผลของมัน เหตุผลของ“การทอดทิ้งคนชรา” ของญี่ปุ่นเพราะอะไร ลองอ่านดู
ในสมัยเอโดะ ประเทศญี่ปุ่นมีการปกครองด้วยระบบขุนนาง ทำให้เหล่าเจ้าเมืองและซามูไรมีอำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชน จนเกิดความยากลำบากและต้องเชื่อฟังเหล่าขุนนาง อย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อความแห้งแล้ง ความอดอยากมาผจญ เหล่าขุนนางได้ออกคำสั่งให้ครอบครัวใดที่มีผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ให้นำเหล่าผู้สูงอายุนั้นไปปล่อยในป่าลึก หรือสถานที่รกร้างที่ห่างไกลจากเมือง เหล่าผู้สูงอายุที่ความจำเริ่มเลอะเลือนและโรยรา ถูกทิ้งให้อดน้ำ อดอาหารกลางป่าลึกอย่างน่าเวทนา เพียงเพราะพวกเขาชราวัย ไม่สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้
การนำคนชราไปทิ้งไว้กลางป่า เรียกว่า “Ubasute” ที่แปลว่า “ทิ้งคนแก่” มีบทกวีและตำนานที่เป็นหลักฐานกล่าวถึงกฎการทิ้งคนชราในป่าเอาไว้ว่า “ชายคนหนึ่งได้แบกมารดาชราขึ้นไปทิ้งบนเขา ระหว่างทางมารดาได้หักกิ่งไม้ไว้ตามรายทาง แล้วบอกกับบุตรชายว่าแม่ได้หักกิ่งไม้ไว้ตามทางแล้ว บุตรชายจะได้กลับบ้านถูก” แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เป็นแม่ เพราะความรักลูก จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ลูกลำบากและต้องมีชีวิตที่ดีต่อไป แม้รู้ว่าตนจะต้องถูกทิ้งให้ตายกลางป่าลึกอย่างน่าเวทนาก็ตาม
มีบางครอบครัวก็เกิดความละอายที่ต้องทิ้งบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัว เพียงเพราะกฎจากผู้ปกครอง หลังจากที่ทิ้งคนชราบางครอบครัวก็ทนไม่ไหวถึงกับต้องหนีไปอยู่ที่ป่าอันไกลโพ้นแล้วฆ่าตัวตายเพราะทนต่อการกระทำอันน่าละอายของตัวเองไม่ได้ จนกลายเป็นที่มาของ “ป่าฆ่าตัวตาย” นั่นเอง