คำถาม - คำตอบ กุ้งเครย์ฟิช : กุ้งเครย์ฟิช คืออะไร ?
กุ้งเครย์ฟิช เป็นสัตว์น้ำ ในตระกูล ครัสเตเชียล ชนิดหนึ่ง ลักษณะภายนอก โดยรวมๆ มีก้ามที่ใหญ่ มีเปลือกหนา มีรูปพรรณสัณฐานที่ใหญ่ แตกต่างกันไป มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, โอเชียเนียและบริเวณใกล้เคียง เช่น ในพื้นที่ แถบ อีเรียนจายา ประเทศอินโดนีเซีย และ ในพื้นที่เอเชียตะวันออก หลากหลายประเทศ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ใหญ่ ๆ คือ Astacoidea ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป สามารถแบ่งเป็นวงศ์ย่อยได้อีก 2 วงศ์คือ Astacidae และ Cambaridae โดยรวมแล้วเครย์ฟิชในวงศ์นี้ มีรูปร่างใหญ่ ไม่มีกรี มีลักษณะเด่นคือ ก้ามมีหนาม ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร และวงศ์ใหญ่ Parastacoidea ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคโอเชียเนียและอีเรียน จายา เครย์ฟิชในวงศ์นี้ก้ามจะไม่มีหนาม และลักษณะของก้ามจะป่องออกต่างไปจากวงศ์ Astacoidea แต่มีที่หนีบสั้นและเล็กกว่า ( แต่หนีบได้เจ็บมากๆครับ เพราะมันลงล็อค เข้าเนื้อ เข้าหนัง ถึงเลือด ถึงเนื้อได้อย่างดิบๆ ดีแท้หนอ )
ในส่วนของการจำแนกเพศนั้น ก็มีความแตกต่างกันมาก ในแต่ละวงศ์ โดยที่กุ้งเครย์ฟิชในวงศ์ Astacoidea นั้น กุ้งเครย์ฟิชตัวผู้ จะมีอวัยวะคล้ายตะขออยู่บริเวณขาเดินคู่ที่ 2 และ 3 ใช้สำหรับเกาะเกี่ยวตัวเมียในการผสมพันธุ์ และจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า ปาปิลเล บริเวณโคนขาคู่สุดท้าย ส่วนตัวเมียจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า แอนนูลลัส เวนทราลิส ลักษณะเป็นแผ่นวงรีสีขาว ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร บริเวณขาเดินคู่ที่ 3 นอกจากนี้แล้วในตัวผู้ขาว่ายน้ำคู่แรกและคู่ที่ 2 จะถูกพัฒนาเป็นแขนเล็ก ๆ เรียกว่า เพทาสมา สำหรับผ่านน้ำเชื้อไปยังตัวเมียอีกด้วย ซึ่งลักษณะเหล่านี้ สามารถตรวจสอบ และ แยกแยะได้เร็วกว่า กุ้งในสกุล Parastacoidea ครับ ซึ่งอาจจะต้องให้กุ้งโตขึ้นซักประมาณหนึ่งก่อน ถึงจะพอแยกเพศได้สะดวกขึ้น โดยไม่เมื่อยสายตามากเกินไป และมีความถูกต้องเที่ยงตรงมากขึ้นครับ ในวงศ์ Parastacoidea นั้น ตัวผู้จะมีอวัยวะเป็นรูปวงรีบริเวณโคนขาคู่ที่ 3 ซึ่งตัวเมียจะไม่มีครับ แต่ในวงศ์นี้นั้น บางทีอาจจะพบกุ้งที่มีลักษณะของอวัยวะเพศทั้งของตัวผู้ และ ตัวเมียได้บ้างเหมือนกันครับ โดยเฉพาะในกุ้งที่เลี้ยงจากในฟาร์ม ที่มีการ Inbreed กันเองมาเป็นเวลานานๆ
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์นั้น มีการอนุกรมวิธานเครย์ฟิชไปแล้วกว่า 500 ชนิด ซึ่งกว่าครึ่งนั้นเป็นเครย์ฟิชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ แต่โดยรวมแล้ว ก็ยังมีอีกมากมายหลายชนิดที่ยังไม่ได้รับการอนุกรมวิธาน โดยนักวิทยาศาสตร์ กุ้งเครย์ฟิช นั้น เป็นสัตว์จำพวกเดียวกันกับสัตว์ที่อยู่ในไฟลั่ม อาโทรพอด (Phylum Arthropoda) ซึ่งในกลุ่มของไฟลั่ม อาโทรพอดนี้ จะเป็นสัตว์อย่างพวก แมลง (Insecta), แมงมุม (Arachnida), ตะขาบและกิ้งกือ (Myriapoda) ซึ่งสัตว์ในเครือของไฟลั่ม อาโทรพอด เช่นกันครับ ดังนั้นเมื่อเป็นสัตว์ในไฟลั่มเดียวกัน จึงมีเรื่องบางอย่างที่คล้ายๆกัน เช่น พวกนี้ จะมีการลอกคราบ เพื่อการเจริญเติบโต และ สัตว์ในไฟลั่มนี้ก็จะแพ้สารเคมีคล้ายๆกันหมดครับ กุ้งเครย์ฟิชนั้นมีเปลือกที่แข็งแรง ซึ่งมีพื้นฐานส่วนประกอบที่สร้างมาจากแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) ซึ่งเปลือกเหล่านี้ ใช้เพื่อปกคลุมลำตัว และป้องกันอันตรายต่างๆ เนื่องจากกุ้งเครย์ฟิชนั้น มีร่างกายเนื้อในที่บอบบางมากๆนั่นเองครับ ( แต่อร่อยนะ ตรงส่วนนี้น่ะ อิอิอิ ) โดยส่วน เกราะเปลือกแข็งนี้ จะเรียกกันว่า คิวทิเคิล (Cuticle) แปลว่า หนังกำพร้า ผิวนอก เปลือกนอก นั่นเองครับ ซึ่งในส่วนนี้ ถ้ากุ้งเครย์ฟิชเพิ่งผ่านการลอกคราบใหม่ๆ เปลือกกุ้งก็จะยังนิ่มอยู่เช่นกันครับ จนกว่ากุ้งจะดูดซับแร่ธาตุต่างๆในน้ำมาเสริมให้เปลือกแข็งขึ้นในภายหลัง จนใช้ในการป้องกันตัวได้ตามปกตินั่นเอง
ร่างกายของกุ้งเครย์ฟิชนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.ส่วนหัว 2.ส่วนกลาง (หรือ Thorax) คือส่วนที่มีขาสำหรับเดิน และ 3.ส่วนท้อง คือส่วนที่มีเนื้อสำหรับรับประทาน นั่นเองครับ แต่เนื่องจากส่วนหัวและส่วนกลางจะประสานกันอยู่ เรียกว่า Cephalothorax หลายๆคน จึงอาจจะมองได้ว่า กุ้งเครย์ฟิชนั้น มีแค่สองส่วน คือแค่ส่วนหัว กับ ตัวแค่นั้นเอง เนื้อก็มีอยู่แค่เท่านั้น จะกินให้อิ่ม ก็ต้องลวกกันทีเป็นกิโลๆ (ฮา)
เปลือก (Carapace) ของกุ้งเครย์ฟิชนั้น ทำหน้าที่เป็นเสมือนเกราะคลุมลำตัว ส่วนหัวและส่วนกลาง ชุดเกราะนี้ ซึ่งเปลือกนั้นมี สองหน้าที่หลักคือ
1. ปกป้องอวัยวะภายใน ในส่วนที่บอบบางอย่างเช่น เหงือกหายใจ ที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มขนนกที่อยู่บริเวณปาก และด้านข้างๆของส่วนหัว
2. ทำหน้าที่สำคัญในระบบหายใจ คือเป็นทางผ่านของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านช่องเหงือกนั่นเอง สำหรับในประเทศไทยนั้น แต่เดิมไม่มีกุ้งในลักษณะเครย์ฟิช ซึ่งกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่สุดที่พบในประเทศไทย คือ กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) ซึ่งในลักษณะกุ้งก้ามกรามนี้ ไม่จัดว่าเป็นเครย์ฟิช แต่ปัจจุบัน อาจจะค้นพบกุ้งเครย์ฟิชได้ ในบางพื้นที่ เช่นเขื่อนต่างๆ ซึ่งเกิดจากการมีผู้นำลงไปปล่อยเอาไว้นั่นเอง และในแหล่งน้ำที่สะอาดในประเทศไทย กุ้งเครย์ฟิช ก็สามารถขยายปริมาณเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
กุ้งเครย์ฟิช มีขามากมายหลายคู่ ซึ่งจำนวนขาต่างๆเหล่านั้น ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองหน้าที่คือขาเดิน ( หรือที่เรียกกันว่า Walking dead เอ๊ย !! ไม่ใช่ เรียกว่าWalking legs หรือ อีกคำศัพท์หนึ่งก็คือ Paraeopods ) และ ในส่วนของขาว่ายน้ำ (Swimmerets หรือ Pleopods) อย่างไรก็ตาม การว่ายน้ำของกุ้งเครย์ฟิชนั้น ดูเหมือนจะใช้เสริม ในลักษณะการพุ่งหรือดีดตัวของกุ้งเอง ในระยะทางสั้นๆ มากกว่า ไม่เหมือนกับญาติๆ ของมัน เช่น กุ้งในตระกูลกุ้งก้ามยาวต่างๆ ครับ ที่มีลักษณะการว่ายน้ำ คล้ายกับปลามากเลยทีเดียว
ในส่วนของ ขาเดิน นั้น กุ้งเครย์ฟิช จะมีขาเดินทั้งหมด 5 คู่ โดยขาเดินคู่แรกสุดจะพัฒนาเป็นก้าม (Claw หรือ Cheliped) ที่แข็งแรงใหญ่โต และในส่วนของ ขาว่ายน้ำนั้นจะมีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ มีไว้สำหรับโบกสะบัดพัดพาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อหายใจ รวมทั้งโบกพัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำ เช่น แพลงค์ตอน และจุลชีพน้อยๆ เข้าไปที่ลำตัวเพื่อเป็นอาหาร และสำหรับกุ้งตัวเมียนั้น อวัยวะส่วนนี้ ยังใช้ขาว่ายน้ำเป็นที่อุ้มไข่ด้วยครับ
สำหรับการผสมพันธุ์นั้น กุ้งเครย์ฟิชตัวผู้ จะเข้าประกบตัวเมียจากด้านหลัง และพลิกท้องตัวเมียให้หงายขึ้นแล้ว กุ้งตัวผู้ก็จะเข้าประกบโดยใช้อวัยวะที่คล้ายกับตะขอนั้น จับตัวเมียในลักษณะท้องชนท้อง หันหัวไปในทางเดียวกัน จากนั้นกุ้งตัวผู้จะทำการส่งผ่านถุงน้ำเชื้อไปปะติดไว้กับท้องของตัวเมีย ซึ่งพฤติกรรมนี้สำหรับกุ้งแต่ละวงศ์ จะกินเวลาแตกต่างกัน โดยที่กุ้งเครย์ฟิชในวงศ์ Astacoidea จะใช้เวลานานราว 10 นาที หรือมากกว่า ( จากประสบการณ์ของผู้เขียน ยืนยันว่าบางครั้ง มีผู้มาสอบถามว่ากุ้งจะผสมพันธุ์ติดไหม เพราะพบว่า กุ้งจับตัวเมียผสมกัน กินเวลาเป็นชั่วโมงๆ ซึ่งนานกว่าเกณฑ์ปกติมาก ) ขณะที่ในสกุล Cherax ในวงศ์ Parastacidae จะใช้เวลาน้อยกว่ามาก โดยจะกินเวลาราว 1-3 นาที เท่านั้น หลังจากนั้นตัวเมียที่มีการพัฒนาไข่เรียบร้อยแล้วภายในตัว ก็จะขับไข่ออกมาเพื่อผสมกับน้ำเชื้อของตัวผู้ที่เก็บกักไว้ และเมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิจากน้ำเชื้อแล้ว ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ( ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม , ความสมบูรณ์ของไข่ และ อุณหภูมิ ) โดยตัวเมียจะอุ้มไข่ไว้ในช่องท้อง ไข่มีลักษณะวงกลมสีดำคล้ายเมล็ดพริกไทยดำ ในการผสมพันธุ์แต่ละครั้งจะได้ลูกกุ้งแตกต่างกันไปตามความสมบูรณ์เพศของพ่อแม่พันธุ์กุ้ง , ขนาด และ สายพันธุ์ครับ ลูกกุ้งเครย์ฟิชในวัยเล็กจะยังอาศัยอยู่กับแม่ โดยกินเศษอาหารที่แม่กินเหลือ และหาอาหารเล็กๆทั่วไปกินเป็นหลัก และเมื่อลูกกุ้งโตขึ้นถึงขนาดประมาณหนึ่งแล้ว จึงค่อยแยกจากแม่กุ้งไป
เรียบเรียง : กษิดิศ วรรณุรักษ์
**********************************************************
อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ กุ้งเครย์ฟิชได้ที่
http://www.dhonburicrayfish.com/article