วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้ ต้องอ่าน!!
รู้หรือไม่ว่า ควันไฟจากเหตุการณ์เพลิงไหม้นั้น สามารถคร่าชิวิตคุณได้ เพราะภายในเวลา 1 วินาที ควันไฟสามารถลอยสูงขึ้นไปได้ถึง 3 เมตร และภายใน 1 นาที ควันไฟสามารถลอยขึ้นไปได้สูงเท่ากับตึก 60 ชั้น ดังนั้น ทันทีที่เกิดเพลิงไหม้ ควันไฟจะปกคลุมอยู่รอบๆ ตัวคุณอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณสำลักควันไฟตายก่อนที่เปลวเพลิงจะคืบคลานมาถึงตัว จะเห็นได้จากสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของเหยื่อซานติก้ามาจากการสำลักควันไฟเนื่องจากหนีออกจากร้านไม่ทัน เบียดเสียดแย่งกันออกทางประตูจนถึงขั้นหกล้มและเหยียบกันตาย ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของตัวคุณเอง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยได้ให้ข้อแนะนำว่า การออกไปอยู่ในอาคารปิดทึบ ไม่ว่าจะเป็นผับ บาร์ หรือห้างสรรพสินค้า สิ่งที่พึงกระทำเป็นอันดับต้นๆ คือการมองหาทางหนีไว้อย่างน้อย 2 ทาง เช่น สังเกตตำแหน่งบันไดหลักและบันไดหนีไฟ ประตู หน้าต่าง เส้นทางหนีไฟ และทางออกจากตัวอาคาร และจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ทางออกนั้นไม่ได้ปิดล็อกหรือมีสิ่งกีดขวาง สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยจริง
นอกจากนี้ ต้องสังเกตอุปกรณ์ช่วยชีวิตและอุปกรณ์เตือนภัยว่ามีอยู่หรือไม่ เป็นแบบใด อยู่ที่ไหน จำนวนและใช้อย่างไร ได้แก่ เครื่องดักจับควัน (Smoke Detectors) เครื่องดักจับความร้อน (Heat Detectors) อุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ (Sprinkler) อุปกรณ์แจ้งเหตุฉุกเฉิน (Fire/Emergency Alarm) และเครื่องดับเพลิง (Fire Extinguisher)
วิธีการช่วยเหลือตนเองเบื้องต้น เมื่อประสบเหตุเพลิงไหม้
1. ต้องควบคุมสติให้ได้ อย่าตื่นกลัวจนทำอะไรไม่ถูก แล้วเปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้(ถ้ามี) และหากได้ยินสัญญาณเตือนไฟไหม้ ให้รีบออกจากตัวอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าเพลิงไหม้ที่ใด
2. หากเพลิงมีขนาดเล็ก พอที่จะดับเองได้ ให้ใช้ถังดับเพลิง เพื่อดับไฟ หากไม่มีอุปกรณ์ หรือไม่สามารถดับเพลิงเองได้ ให้รีบแจ้งตำรวจดับเพลิง โทร. 199 จากนั้นรีบออกจากตัวอาคารทันที และปิดประตู-หน้าต่างห้องที่เกิดเพลิงไหม้ให้สนิทที่สุดทันที (ถ้าทำได้) เพื่อให้เกิดภาวะอับอากาศ วิธีนี้จะช่วยให้เพลิงไหม้ช้าลง ทำให้ง่ายต่อการดับเพลิง แต่ต้องแน่ใจว่าไม่มีใครติดอยู่ข้างใน แล้วรีบวิ่งหนีออกมา
3. หากอยู่ในอาคารที่มีเพลิงไหม้ ก่อนจะเปิดประตูต้องแตะลูกบิดก่อน โดยนั่งชันเข่าให้มั่นคงหลังประตู แล้วใช้หลังมือแตะที่ลูกบิดประตู ถ้ามีความร้อนสูงแสดงว่ามีเพลิงไหม้อยู่ในห้อง หรือบริเวณใกล้ๆ ดังนั้น อย่าเปิดประตูโดยเด็ดขาด แต่หากลูกบิดไม่ร้อน ให้ค่อยๆ บิดออกช้าๆ โดยใช้ไหล่คอยหนุนประตูไว้ หากทำได้ควรหาผ้าชุบน้ำปิดจมูก หรือผ้าห่มชุบน้ำชุ่มๆ ไว้ด้วย
4. หากต้องเผชิญกับควันไฟที่ปกคลุม ให้ใช้วิธีคลานต่ำๆ และหนีไปยังทางออกฉุกเฉิน เพราะอากาศที่พอหายใจได้จะอยู่ด้านล่างเหนือพื้นห้องไม่เกิน 1 ฟุต เนื่องจากผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุเพลิงไหม้ประมาณร้อยละ 90 เป็นผลมาจากสำลักควันไฟ เพราะมีทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไอร้อน ทำให้ขาดออกซิเจน ควรเตรียมหน้ากากหนีไฟฉุกเฉิน (Emergency smoke mask) ไว้จะปลอดภัยกว่า หรืออาจใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ตักอากาศ แล้วคลุมศีรษะหนีฝ่าควันออกมา เพราะการคลานต่ำจะไม่สามารถทำได้จากชั้นบนลงชั้นล่างที่มีควัน
5. อย่าใช้ลิฟต์และบันไดเลื่อนขณะเกิดเพลิงไหม้ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะหยุดการทำงานเนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้า ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น
6. หากติดอยู่ในวงล้อมของไฟ ให้โทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิงว่าท่านอยู่ที่ตำแหน่งใดของเพลิงไหม้ แล้วหาทางช่วยเหลือตัวเองโดยปิดประตูให้สนิท หาผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันเข้าได้ เช่น ใต้ประตูหรือช่องลมต่างๆ ปิดพัดลมและเครื่องปรับอากาศ แล้วเปิดหน้าต่างส่งสัญญาณด้วยการใช้ไฟฉายหรือผ้าโบก และตะโกนขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ เพื่อให้คนนอกอาคารรู้ตำแหน่งที่แน่นอน
7. หากมีไฟลามติดตัว อย่าเพิ่งวิ่ง เพราะยิ่งวิ่ง... ไฟจะยิ่งลุกลาม ให้หยุดนิ่ง และล้มตัวลงนอนกับพื้นทันที หลังจากนั้นให้ใช้มือปิดหน้า กลิ้งตัวทับเสื้อผ้าที่ติดไฟจนดับ
8.อถ้าหนีออกมาได้แล้ว ไม่ควรกลับเข้าไปในอาคารอีก หากยังมีคนอื่นติดอยู่ภายในอาคาร ให้แจ้งเจ้าหน้าที่อับเพลิงทราบ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่
การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บจากไฟไหม้เบื้องต้น
1. ใช้น้ำสะอาด ราด รด หรือแช่ผู้บาดเจ็บจากไฟลวก เพื่อลดความเจ็บปวดของบาดแผล หยุดการทำลายจากความร้อน
2. หากผู้บาดเจ็บสวมแหวน นาฬิกา กำไล ให้รีบถอดออก เพราะไม่นานบริเวณที่ถูกความร้อนจะเกิดอาการบวม
3. ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผล ถ้าหาไม่ได้ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอนหรือผ้าปูที่นอนพันบาดแผลไว้ และรีบนำส่งโรงพยาบาล
สิ่งที่ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า
1. บันไดหนีไฟ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เมื่อเกิดเพลิงไหม้จะช่วยให้เราออกจากสถานที่เกิดเหตุได้ พวกอาคารสูงๆ นั้นก็ต้องมีบันไดหนีไฟไว้ด้วย แต่ถ้ามีบันไดแล้วใช้ไม่เป็นก็ไม่ดีแน่ค่ะ นี่คือข้อแนะนำในการใช้บันไดหนีไฟค่ะ
- ควรมีการตรวจสอบสภาพของบันไดหนีไฟให้พร้อมใช้งานได้อยู่ตลอดเวลา
- ควรซักซ้อมความเข้าใจในการใช้บันไดหนีไฟ
- หากมีลูกกรงเหล็กดัด ต้องทำกลอนประตูที่เปิดออกได้ง่าย ไม่ควรคล้องกุญแจเด็ดขาด
2. อุปกรณ์ดับเพลิง ควรมีไว้ประจำบ้าน ประจำชั้นต่างๆ ของตึก และต้องเรียนรู้การใช้เครื่องดับเพลิงด้วย
3. วัตถุไวไฟ ควรเก็บให้มิดชิด หากไม่จำเป็นจริงๆ ควรเก็บไว้นอกที่พักจะดีกว่าค่ะ
4. อุปกรณ์ไฟฟ้า ต้องรักษาให้อยู่ในสภาพดี ควรมีการตรวจสอบอยู่เสมอ หากพบว่าชำรุดต้องรีบแก้ไข ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันทีเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่ว ซึ่งเป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้
5. อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้ เพราะลิฟท์จะเป็นช่องทางให้ควัน ความร้อนและเปลวไฟผ่าน และยิ่งถ้ากระแสไฟถูกตัดขาด รับรองว่าติดอยู่ในลิฟท์ตายแน่นอน
6. อย่าหวงข้าวของต่างๆ อย่าคิดว่ามีเวลาเหลือพอที่จะกอบโกยข้าวของออกมา ควรรีบหนีไฟออกมาก่อนดีกว่า เงินทองของนอกกาย ไม่ตายก็หาเอาใหม่ได้