รู้ยัง!! “สาธุ” และ “อนุโมทนา” คืออะไร ? ใช้อย่างไร?
ความหมายของคำว่า “สาธุ”
ข้อมูลส่วนใหญ่เรียบเรียงมาจาก...พระธรรมเทศนา
พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)
เจ้าอาวาสวัดโสมนัส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
สาธุ มาจากรากศัพท์ว่า สาธฺ (หรือ สธฺ) ในความหมายว่า สำเร็จ
และประกอบด้วย รู ปัจจัย (สาธฺ + รู = สาธุ)
ส่วนในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ได้จำแนกการใช้คำว่า สาธุ ไว้ ๖ นัย กล่าวคือ
(๑) สุนทระ หมายถึง ดีงาม
(๒) ทัฬหิกัมมะ เป็นการย้ำอีกครั้ง เพื่อให้การกระทำนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น
(๓) อายาจนะ เป็นคำอ้อนวอนหรือเรียกร้อง เมื่อเริ่มต้นจะพูดอย่างอื่นต่อไป
(๔) สัมปฏิจฉนะ เป็นการรับคำหรือยอมรับคำพูดของผู้อื่น
(๕) สัชชนะ หมายถึง คนดี
(๖) สัมปหังสา เป็นคำแสดงความยินดีหรือพอใจ
ก่อนจะอธิบายธรรม ขออธิบายคำว่า “สาธุ” ให้ฟังสักหน่อย พวกเราได้ยินแต่ว่า สาธุ ๆ แต่ไม่รู้แปลว่าอะไร สาธุในภาษาไทยมีความหมายอย่างน้อย ๕ อย่าง
(๑) สาธุ หมายถึง อนุโมทนา คือแสดงความยินดี ตกลง เห็นด้วย เช่น เวลาเราเห็นด้วยกับใคร ตกลงโอเค เราก็บอกว่า สาธุ เห็นด้วย ๆ สมมุติว่าเราลงสมัครรับเลือกตั้ง เห็นคะแนนเสียง เราก็บอก สาธุ ไม่ต้องปรบมือกราว ๆ เพราะการปรบมือเป็นของฝรั่งเขา ของไทยคือ สาธุ เห็นด้วยเหมาะสมแล้ว หรืออาจารย์รู้ว่าลูกศิษย์กราบสวย อาจารย์ก็บอก สาธุ ดีแล้วอนุโมทนายินดีด้วย
(๒) สาธุ หมายถึง ยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือให้สำเร็จประโยชน์ เช่น ได้ยินคำว่า มัตตัญยุตตา สทา สาธุความรู้จักประมาณให้สำเร็จประโยชน์เสมอ
(๓) สาธุ หมายถึง ขอให้สมพรปากกับคำอวยพรที่ท่านให้ อย่างเช่น อันนะภาระ ในครั้งสมัยพุทธกาลเป็นคนยากจนเข็ญใจ เมื่อมีโอกาสทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงได้อธิฐานว่า คำว่าจนอย่าได้มีและจงได้รู้ธรรมอย่างท่าน พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้พรว่า
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ
สังกัปปาจันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถา
แปลว่า ขออิฏฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้วจงสำเร็จโดยฉับพลัน
ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดี ฯ
จึงรับว่า สาธุ ขอให้สมพรปากท่าน
(๔) สาธุ หมายถึง ขอโอกาส อันนี้เป็นสำนวนของพระ อย่างสมมุติว่าจะอาราธนาศีลก็จะขึ้นว่า สาธุ สาธุ มะยัง ภันเต เคยได้ยินบ้างไหม เหมือนกับว่าคนเป็นครูบาอาจารย์จะทำอะไรก็ขอโอกาสพระเถระเสียก่อน เช่น จะเปิดหน้าต่างก็ขอโอกาสท่านอาจารย์ครับผมจะเปิดหน้าต่าง ทำอะไรต้องบอกผู้ใหญ่เสียหน่อย ไม่ใช้ทำพรวด ๆ ไปขาดความเคารพ การทำขอโอกาสอย่างนี้ท่านเรียกว่าสาธุภาษาบาลี ภาษาไทยว่าขอโอกาส
(๕) สาธุ หมายถึง แสดงความต้อนรับ แสดงความยินดีไชโยโห่ร้องกราบไหว้ ยกตัวอย่าง เวลาสมเด็จพระสังฆราชหรือท่านก็ตามเสด็จไปต่างประเทศ เช่น ประเทศเนปาล เขานิยมเวลามาต้อนรับ เขาจะร้องสาธุตลอดทางที่มาต้อนรับ สาธุตัวนี้ก็คือขอยินดีต้อนรับ
ความหมายของคำว่า “อนุโมทนา”
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต)
เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
และหนังสือศาสนพิธี เล่ม ๒ ฉบับมาตรฐาน
โดยคณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง กรุงเทพมหานคร
มีคำอยู่คำหนึ่งที่ชาวพุทธพูดกันจนติดปาก คำนั้นก็คือ “อนุโมทนา” ความหมายของอนุโมทนาคืออะไร และเมื่อไหร่ที่ควรใช้คำนี้ คำตอบก็คือ...ในหนังสือ ‘คำวัด’ โดยพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต) วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร ได้อธิบายความหมายของคำนี้ไว้ว่า
อนุโมทนา หมายถึง การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ การอนุโมทนานั้นอาจทำได้ด้วยการพูด เขียนหนังสือ หรือแสดงกิริยาก็ได้ เช่น เมื่อได้ยินเสียงย่ำฆ้องกลองที่วัดในตอนเย็น แสดงว่าพระท่านทำวัตรเย็นจบ ก็ยกมือขึ้นประนมไหว้ เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วก็ยกมือขึ้นสาธุ เป็นการอนุโมทนาบุญของเขาด้วย
เรียกการพูดแสดงความยินดีในความดีของผู้อื่นว่า “อนุโมทนากถา”
เรียกหนังสือรับรองการบริจาคที่วัดออกให้แก่ผู้บริจาคทรัพย์ทำบุญว่า “อนุโมทนาบัตร หรือใบอนุโมทนา”
เรียกบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาตามตัวอย่างข้างต้นว่า “อนุโมทนามัยบุญ”
และการที่ภิกษุกล่าว สัมโมทนียกถา อันแปลว่า ถ้อยคำอันเป็นที่บันเทิงใจ ใช้เรียกการที่ภิกษุพูดแสดงความขอบคุณหรือกล่าวถึงประโยชน์และอานิสงส์ของความดี ของบุญกุศล ที่ทายกทายิกาได้ทำ เช่น ถวายอาหาร สร้างกุฏิ สร้างหอระฆัง เป็นต้น ไว้ในบวรพระพุทธศาสนา บางทีเรียกว่า อนุโมทนากถา
ส่วนในหนังสือศาสนพิธี เล่ม ๒ ฉบับมาตรฐาน โดยคณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
ธรรมเนียมของพระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับถวายปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นภัตตาหาร หรือทานวัตถุใด ๆ ก็ตามจากทายกทายิกา จะต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้น ไม่ว่าจะได้รับรูปเดียวหรือหลายรูปก็ตาม ต้องอนุโมทนาทุกครั้ง จะละเว้นเสียมิได้ถือว่าผิดพระพุทธานุญาต ต่างแต่ว่าอนุโมทนาต่อหน้าหรือลับหลังเท่านั้น
ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ฉะนั้น การอนุโมทนาทานจึงเป็นประเพณีมานานในหมู่สงฆ์ การประกอบพิธีอนุโมทนาลับหลังทายกทายิกามีวิธีเดียว คือ การบิณฑบาตที่ต้องออกรับในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วไปไม่จำกัด กรณีเช่นนี้ไม่ต้องอนุโมทนาต่อหน้าขณะที่รับบิณฑบาต แต่กลับมาถึงวัดฉันอาหารเรียบร้อยแล้ว จึงอนุโมทนา หรือยกไปอนุโมทนาในช่วงทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นก็ได้ ส่วนพิธีอย่างอื่นนอกจากนี้ควรจะอนุโมทนาต่อหน้าเสมอไป จึงจะสมควร
พิธีอนุโมทนาแบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ได้ ๒ หัวข้อคือ
๑. สามัญอนุโมทนา คือ การอนุโมทนาที่นิยมใช้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป ไม่จำกัดงานหนึ่งงานใด ก็คงใช้คำอนุโมทนาแบบเดียวกัน
๒. วิสามัญอนุโมทนา คือ การอนุโมทนาด้วยบทสวดพิเศษ คือ อนุโมทนาเฉพาะทาน เฉพาะกาล และเฉพาะเรื่อง
สำหรับคำว่า “สาธุ” แปลว่า “ดีแล้ว ชอบแล้ว” ดังนั้น การเปล่งวาจาว่าสาธุ ก็เพื่อแสดงความเห็นชอบด้วยชื่นชม หรือยกย่องสรรเสริญ เพื่ออนุโมทนาในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำนั่นเอง
ในพระไตรปิฎก ได้พูดเรื่อง ผลบุญของการอนุโมทนา ที่ทำให้ไปเกิดในวิหารวิมานว่า
ท่านพระอนุรุทธเถระได้ถามนางเทพธิดาตนหนึ่งว่า เหตุใดมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่เหมือนดาวประกายพฤกษ์ มีเสียงอันเป็นทิพย์น่าฟัง รื่นรมย์ใจ มีกลิ่นทิพย์อันหอมหวนยวนใจ เสียงของเครื่องประดับผมก็ดังเสียงไพเราะดุจเสียงดนตรี แม้พวงมาลัยบนศีรษะก็มีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบานใจ หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร ?
นางเทพธิดาตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นสหายของดิฉัน อยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันเห็นมหาวิหารนั้นแล้วมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา ก็วิมานอันเป็นที่รักนี้อันดิฉันได้แล้วเพราะการอนุโมทนาด้วยจิตบริสุทธิ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น วิมานนี้เป็นวิมานอัศจรรย์น่าดูน่าชม โดยรอบสูง ๑๖ โยชน์ เลื่อนลอยไปในอากาศ ได้ตามความปรารถนาของดิฉัน ดิฉันมีปราสาทเป็นที่อยู่อาศัย อันบุญกรรมจัดแจงเนรมิตให้เป็นส่วน ๆ งามรุ่งโรจน์ตลอดร้อยโยชน์โดยรอบทิศ...วิมานอันมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ น่าอัศจรรย์ น่าดูน่าชมเช่นนี้ เกิดแต่ดิฉันเพราะกุศลกรรมทั้งหลาย ควรทำบุญโดยแท้
สรุปแล้วการอนุโมทนาเป็นสิ่งดี แต่สิ่งที่ดีกว่าก็คือการลงมือทำความดีสร้างบุญกุศลนั้น ๆ ด้วยตนเอง