คิดสักนิด..แกล้งให้เด็กกลัวไม่ใช่เรื่องขำ!! มีผลต่อพัฒนาการ อย่ามองว่าเป็นเรื่องน่ารัก ...
คิดสักนิด..แกล้งให้เด็กกลัวไม่ใช่เรื่องขำ!! มีผลต่อพัฒนาการ อย่ามองว่าเป็นเรื่องน่ารัก ...
วันนี้เราอยากจะนำเสนอข้อมูลความรู้ให้ผู้อ่านได้ทราบและทำความเข้าใจที่ถูกต้อง เนื่องจากช่วงนี้มีการแชร์คลิปกันในโลกโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นคลิปเหตุการณ์ที่คุณแม่รายหนึ่งแกล้งทำตะปูตำนิ้วหลอกลูกชาย เพื่อต้องการดูว่าลูกเป็นห่วงแม่หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าเด็กชายตกใจ ร้องไห้ กลัวว่าแม่จะเป็นอะไร และพยายามช่วยเหลือแม่
จากกรณีที่มีคลิปวิดีโอหนึ่ง เผยให้เห็นภาพที่คุณแม่แกล้งลูกว่าโดนตะปูตำจนเลือดไหล จนเด็กที่เป็นลูกร้องลั่นเพราะกลัวที่แม่เจ็บ โดยที่ผู้เป็นแม่เพียงต้องการจะทดสอบว่าลูกจะเป็นห่วงแม่แค่ไหน หลายคนอาจมองเด็กว่าน่ารักน่าชัง รักแม่มาก แต่ทางด้านของ พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ “หมอมินบานเย็น” แอดมินเฟซบุ๊คเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” กล่าวถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาจากเหตุการณ์นี้ว่า อาจสร้างปมในใจของเด็กไปจนตลอดชีวิตเลยก็ได้
อ่านรายละเอียดจากหมอมินบานเย็นได้ตามด้านล่างค่ะ
____________________
#อย่าคิดว่าความกลัวของเด็กเป็นเรื่องตลก
แม้ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน
แต่ก็ใช่ว่าผู้ใหญ่ทุกคนจะเข้าใจเด็ก
โดยเฉพาะเมื่อความกลัวของเด็กกลายเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ใช้แกล้งหยอกเย้าเด็กด้วยความสนุกสนาน
ความกลัวมีความหมายเสมอ ไม่มีใครชอบความรู้สึกกลัวหรอก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
ยิ่งเมื่อความกลัวเกิดขึ้นกับเด็กเล็กๆ ที่การพัฒนาทางความคิดยังไม่ดีเหมือนเด็กโต การแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ยังไม่ถูกต้องตามความจริง ความกลัวก็ยิ่งบั่นทอนความรู้สึก และส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวหากความกลัวนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ตามทฤษฎีของ Piaget พูดถึงเด็กในวัย 2-7 ปีว่าเป็นช่วง Preoperational stage ซึ่งเด็กจะมีลักษณะความคิดที่มีจินตนาการ(fantasy) มาก
ความมีจินตนาการของเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการที่ยังแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการไม่ได้ เด็กเล็กๆจึงมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล
ความกลัวของเด็กนั้น แม้จะดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่แต่มันก็มีความหมายและควรให้ความสำคัญ
เด็กบางคนกลัวว่าเวลานั่งโถส้วมจะถูกดูดลงไปในโถ
เด็กบางคนคิดว่าใบกล้วยนอกหน้าต่างตอนกลางคืนเป็นมังกรยักษ์ในนิทาน
เวลาที่ผู้ใหญ่หลอกอะไรเด็ก ขู่ให้กลัว เด็กก็มักจะปักใจเชื่อจริงๆ เช่น มีแม่คนหนึ่งขู่เด็กว่าถ้าเป็นเด็กดื้อเดี๋ยวแม่จะหนีออกจากบ้าน ตั้งแต่นั้น เด็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะกลัวว่าแม่จะหนีจากเขาไป
ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือสวัสดิภาพของตัวเองกับคนที่เขารัก เช่น พ่อแม่ เด็กจะกลัวมากขึ้นเป็นหลายเท่า บางครั้งความกลัวก็ทำให้เด็กๆฝันร้าย นอนไม่หลับ
แม้จะไม่มีเหตุผลนัก แต่ความกลัวของเด็กก็มีอยู่จริง และมันอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กบางคนจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่เช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เป็นโรคกลัวที่แคบ เมื่อย้อนประวัติไปในวัยเด็กก็พบว่า ตอนเล็กๆ ถูกพ่อแม่ขังไว้ในห้องเก็บของมืดๆแคบๆอยู่หลายชั่วโมง
ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าการแกล้งเด็กเป็นเรื่องสนุกขำขัน แล้วก็ให้เหตุผลแบบตื้นเขินว่า “ก็เขายังเด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก”
ผู้ใหญ่หลายคนรักและเอ็นดูเด็ก แต่ผู้ใหญ่น้อยคนที่มีความละเอียดอ่อนกับความคิดความรู้สึกของเด็ก
บางคนอาจจะบอกว่า ตอนที่เป็นเด็กไม่เห็นคิดอะไรมากมายอย่างที่หมอพูดเลย ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะเด็กแต่ละคนต่างกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าตอนคุณยังเป็นเด็ก ไม่กลัวอะไรแบบนี้ เด็กคนอื่นก็ต้องไม่กลัวเหมือนคุณ
ความกลัวถ้าเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางใจ มีผลกระทบกับความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งหมอเชื่อว่า ไม่มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กคนไหนตั้งใจอยากให้เด็กเป็นแบบนั้น
หยุดแกล้งให้เด็กกลัว จนทำให้กลายเป็นความทรงจำที่ฝังใจเลย โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่เด็กรักและเชื่อใจ
#หมอมินบานเย็น
"การทำให้เด็กกลัวจนร้องไห้ ไม่ใช่เรื่องขำ และมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเกิดความกลัวฝังใจ"
ตามทฤษฎีของ "Piaget" พูดถึงเด็กในวัย 2-7 ปีว่าเป็นช่วง Preoperational stage ซึ่งเด็กจะมีลักษณะความคิดที่มีจินตนาการ(fantasy)มาก ความมีจินตนาการของเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการที่ยังแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการไม่ได้ เด็กเล็กๆจึงมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล
ความกลัวของเด็กนั้น แม้จะดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่แต่มันก็มีความหมายและควรให้ความสำคัญ เวลาที่ผู้ใหญ่หลอกอะไรเด็ก ขู่ให้กลัว เด็กก็มักจะปักใจเชื่อจริงๆ แม้จะไม่มีเหตุผลนัก แต่ความกลัวของเด็กก็มีอยู่จริง และมันอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กบางคนจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่
ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ขำ และเป็นเรื่องจริงจังที่ผู้ใหญ่ทุกท่านควรซีเรียสและให้ความสำคัญกับมันนะคะ
ข้อมูลและรูปภาพจากเฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา