หนุ่มทโมนเที่ยวทมิฬ บทที่ 6
ลิงค์บทที่ 5 https://board.postjung.com/990534.html
“หนุ่มทโมนเที่ยวทมิฬ ฟินสุดๆกับอินเดียใต้”
เรื่อง/ภาพ โดย เดชา เวชชพิพัฒน์
บทที่ 6
ลงจาก Krishnagiri แล้ว ผมข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม เดินตรงไปเล็กน้อยก็เจอทางแยกเข้า Rajagiri เดินขึ้นเขาลูกที่สองโดยทันทีแบบนี้ไม่ได้ตั้งใจโชว์อึดโชว์ถึกอะไรนะครับ ใจจริงน่ะอยากหาร้านแอร์เย็นๆ นั่งพักสักหนึ่งชั่วโมง กินกาแฟร้อนสักถ้วย กินพิซซาสักถาด แต่แถวนั้นไม่มีเลยสักร้าน ใกล้สุดคือเดินกลับไปแถวๆ สถานีรถประจำทาง แต่ว่าเดินไปแล้วคงไม่เดินมาอีก นั่งรถกลับไปนอนที่ห้องพัก
เดินเข้าไปได้ครึ่งซอยก็เจอวัดอยู่ซ้ายมือ สร้างถวายแก่พระศิวะ
เดินต่อจึงเห็นกำแพงและทางเข้าป้อมราชาคีรี กำแพงนี้ทำให้ตระหนักว่า ป้อมชินจี มีกำแพงเชื่อมต่อภูเขาทั้งสามลูก Krishnagiri อยู่ทิศเหนือ Rajagiri อยู่ทิศตะวันตก และ Chandrayandurg อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าภูเขาแต่ละลูกมีป้องปราการเป็นของตนเอง แต่การเชื่อมด้วยกำแพงทำให้เกิดพื้นที่รูปสามเหลี่ยมขนาด 11 ตารางกิโลเมตร ด้านทิศเหนือถึงทิศใต้ยาวเกือบสองกิโลเมตร กำแพงดังกล่าวมีทั้งที่เป็นแนวหินตีนภูเขาและสร้างขึ้น ส่วนแรกนั้นทอดยาวเป็นแนวตามธรรมชาติ ส่วนที่สองซึ่งเป็นฝีมือมนุษย์นั้นมีความหนาถึง 20 เมตร ภายในพื้นที่นี้มีสิ่งก่อสร้างงดงามมากมาย นอกจากวัดพระศิวะที่ผมแสดงภาพถ่ายให้ดูแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ งดงาม และเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตของคนจำนวนไม่น้อย พื้นที่สามเหลี่ยมแห่งป้อมชินจีนี้จึงอาจเคยเป็นทั้งเมือง หมู่บ้าน หรือค่ายทหาร สมแล้วที่อังกฤษยกให้เป็น “กรุงทรอยแห่งตะวันออก” ที่เคยมีชีวิตชีวาเต็มไปด้วยผู้คน ร้านค้า โดยเฉพาะร้านอาหาร
แต่กรุงทรอยใน พ.ศ. นี้ไม่มีแม้แต่ร้านขายโรตี ร้านบาเยียทอด หรืออาบังขายถั่วตัก มีแต่ร้านขายน้ำอัดลมกับขนมซองประเภทกรุบๆ กรอบๆ อยู่ร้านเดียว ด้วยเหตุนี้ มื้อเที่ยงของผมจึงมีแค่น้ำส้มแฟนต้าหนึ่งขวดกับขนมหนึ่งห่อ
มื้อเที่ยงของผม
นั่งพักอยู่ดีๆ ก็มีเด็กขอให้ถ่ายรูป ... จัดให้ครับ
มุมมองจากทางเข้า ที่นี่มีเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษาเยอะ
ขวามือคือ Kalyana Mahal ... คำว่า Mahal แปลว่าพระราชวัง เหมือน ทัชมาฮาล หรือ ฮาวามาฮาล ในราชสถาน Mahal นี้สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์ ราชินี สุลต่าน นายทหารระดับสูง และบุคคลสำคัญ เป็นสถาปัตยกรรมผสมแบบ Indo-Islamic มีเจ็ดชั้น แต่ละชั้นมีห้องพักหลายห้อง ชั้นล่างสุดมีอ่างน้ำแบบขั้นบันไดให้ผู้อาศัยลงไปแช่คลายร้อน หรูหราสะดวกสบายไม่แพ้โรงแรมห้าดาว
ระเบียงที่อยู่ด้านหลัง Kalyana Mahal
มุมมองจากด้านใน
อีกมุมหนึ่ง เห็น Krishnagiri อยู่ซ้ายมือ ... ใกล้ๆ Kalyana Mahal มีอ่างเก็บน้ำชื่อ Elephant Tank มีขนาด 58 x 40 เมตร ลึก 15 เมตร ระเบียงรอบอ่างหรือสระนี้มีเสาหินถึง 134 ต้น ชื่อ “อ่างช้าง” หรือ “สระไอยรา” ไม่ได้ตั้งเล่นๆนะครับ แต่เป็นสระที่ให้ช้างลงได้จริงๆ โดยทำทางขึ้นลงสำหรับช้างโดยเฉพาะที่มุมฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังสร้างอย่างงดงามวิจิตรบรรจง จนทำให้สันนิษฐานว่านอกจากให้ช้างลงเล่นน้ำแล้ว กษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ก็ลงเล่นน้ำที่สระนี้ด้วย
ขึ้นจากอ่างเก็บน้ำเจอยุ้งหรือฉางขนาดใหญ่
เป็นยุ้งหรือฉางที่สวยที่สุดที่ผมเคยเห็นมา (ป้ายด้านหน้าบอกว่าเป็น Gymnasium หรือ โรงยิม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าผิด ที่ถูกคือ Granary ยุ้ง ฉาง)
สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้คือท้องพระโรง
เอาละครับ ดูสิ่งก่อสร้างบริเวณตีนเขากันแล้ว เรามาเริ่มขึ้นเขากัน
ทางขึ้นเขา Rajagiri Fort
ดูขนาดหินแต่ละก้อนสิครับ
ลั่นทม หรือ ลีลาวดี เห็นแล้วนึกถึงเขาวังที่เพชรบุรี
ดูจากภาพถ่ายอาจไม่เห็นว่าหินแต่ละก้อนใหญ่พอๆ กับโต๊ะทำงาน
มีคนขอให้ถ่ายรูปอีกแล้ว จัดให้ครับ ว่าแต่มาเที่ยวเหรอ นี่ชุดเดินเขาเหรอ นึกว่ามาสัมมนา
ขึ้นไปอีกหน่อยก็มองเห็นวัด Vengatramana ที่ผมจะไปเที่ยวชมหลังลงจากเขา
เจอหน้าผาแบบนี้ต้องรีบเดิน เผื่อดวงซอยหินหลุดลงมาทับตาย
แต่เจอวัดสวยแล้วไม่กลัวตาย หยุดถ่ายรูปสักช็อต สงสัยใช้หินที่หลุดจากหน้าผามาแกะ สีเหมือนกันเปี๊ยบ
มุมหนึ่งจากบนเขามองเห็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
หลังกำแพงคือด้านบนสุด ใกล้ถึงแล้วๆ
วัดบนยอดเขา
สันนิษฐานว่าเป็นหอส่งสัญญาณ
รูปสุดท้ายก่อนเดินลง
ลงจากภูเขาแล้วผมเดินชมต่ออีกเล็กน้อย พิจารณาร่องรอยความเจริญของที่นี่แล้วเดาว่าเป็นอะไร อันนี้ผมคิดว่าเป็นโรงเก็บม้า
อันนี้ผมคิดว่าเป็นที่พักนายทหาร
อันนี้ผมคิดว่าเป็นที่พักทหารเกณฑ์
ขึ้นเขาไปสองลูกแล้ว ปรากฏว่าเรี่ยวแรงยังพอมี จึงเดินไปเที่ยวชมวัดเก่าชื่อ Vengatramana ที่สันนิษฐานว่าสร้างโดย Muthialu Nayaka ช่วงปี พ.ศ. 2083 - 2093
โคปุรัม แห่งวัด Vengatramana
วัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องการแกะสลักหิน
ระเบียงในวัด
มุมหนึ่งของโคปุรัม
ออกจากวัดแล้วผมไปเดินเที่ยวต่อที่ส่วนหนึ่งของภูเขา Chandrayandurg ซึ่งเป็นแค่เนินเขา ด้านหลังมีเทวาลัยแตกต่างจากหลายที่ กล่าวคือข้างในสร้างเป็นรูปครึ่งวงกลม ส่วนบนเนินเขามีวัดเก่า มีบ่อน้ำ และจุดชมวิวเมืองชินจี จากนั้นผมจึงเดินไปที่สถานีรถประจำทาง ไปถึงก็ไม่มีแรงยืน นั่งแหมะลงกับพื้นๆ ข้างคุณยายคนหนึ่ง แต่พอรถมาปุ๊บมีแรงวิ่งขึ้นปั๊บเพราะต้องแย่งที่นั่งกับชาวอินเดีย ปรากฏว่าได้ครับ จึงนั่งยาวไปถึงตัวเมืองติรุวัณณมไล