สงคราม!ครูเสดครั้งที่ 2 ตอนที่ 3
สงครามครูเสดครั้งที่ 2 (1147–1149)
ลัทธิศักดินา ที่พวกครูเสดนำมาใช้ในเอเชียน้อย นี้ได้ระบาดในหมู่พวกมุสลิมเช่นกัน พวกมุสลิมชนชาติต่าง ๆ ในตะวันออกกลางต่างก็แก่งแย่งถืออำนาจกัน แตกออกเป็นหลายนคร
อิมาดุดดีน ซังกี (Imaduddin Zangi) ผู้เป็นบุตรคนหนึ่งของ อัก สุนกูร อัลฮาญิบ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองฮะลับ หรืองอเลปโป (ภาษาละติน: Aleppo) ภายใต้อาณาจักรของ มะลิกซาห์ใน ค.ศ. 1127 ได้เป็นอะตาเบก (เจ้านคร) แห่งโมสุล และต่อมา 1128 ก็ได้รวบรวมอเลปโปเข้าอยู่ใต้อำนาจของตน โดยเข้าข้างกษัตริย์แห่งสัลญูก ซึ่งกำลังแย่งชิงเขตแดนต่าง ๆ ของอาณาจักรอับบาสียะหฺ ในปี ค.ศ. 1135 เขาพยายามตีนครดามัสคัส เมื่อรวบรวมให้อยู่ใต้อำนาจ แต่ก็ไม่สำเร็จ ระหว่างทางที่ถอยทัพกลับไปอเลปโป ก็ได้เข้าตีนครฮิมสฺ เพื่อยึดมาเป็นของตน แต่ตีไม่สำเร็จ สองปีต่อมา ซังกีย้อนกลับมาตีนครฮิมสฺอีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน ทางนครดามัสคัสเมื่อกลัวว่าซังกีจะยกทัพมาประชิตเมืองอีกครั้ง ก็ได้ผูกสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรเยรูซาเลมของพวกครูเสด
ซังกียกทัพไปตีพวกครูเสด จนเกิดปะทะกันที่บารีน ฟูล์ก เจ้าราชอาณาจักรเยรูซาเลมพ่ายแพ้ พากองทัพที่รอดตายหนีออกจากนครเยรูซาเลม ซังกีได้ผูกสัมพันธไมตรีกับนครดามัสคัส เมื่อเห็นว่าตนไม่มีความสามารถที่จะเอาชนะได้ ประกอบกับได้ข่าวว่า จักรพรรดิยอห์น คอมเนนุส (John Comnenus) ได้ยึดเอานครอันติออก ที่พวกครูเสดปกครองอยู่นั้น เข้ามาอยู่ในอาณาจักรไบแซนไทน์ และได้ส่งกองทัพมาประชิตเมืองอเลปโปของตน
พวกครูเสดที่ส่งมาโดยจักรพรรดิยอห์น คอมเนนุส (John Comnenus) พวกนี้ยึดเมืองบุซาอะ (Buzaa) ได้ฆ่าพวกผู้ชายทั้งหมดแล้วกวาดต้อนผู้หญิงและเด็กไปเป็นทาส
แม้ซังกีจะวางแผนการเพื่อยึดนครดามัสคัสอีกในเวลาต่อมา ถึงขั้นกับสมรสกับนางซุมุรรุด มารดาเจ้านคร ด้วยการยกเมืองฮิมสฺเป็นสินสอด และต่อมาเจ้านครก็ถูกลอบสังหาร ซังกีก็ไม่อาจจะยึดเอานครดามัสคัสเป็นของตนได้ เวลาต่อมา นครดามัสคัสก็กลับไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพวกครูเสดอีกครั้ง และได้ร่วมกันโจมตีกองทัพของซังกีที่บานิยาส
ซังกีได้ยกทัพเข้าตีนครเอเดสสาที่อยู่ภายใต้พวกครูเสดแตกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1114 จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสดครั้งที่ 2
ซังงีถูกทาสรับใช้ของตน ซึ่งเป็นชาวแฟรงก์ ลอบสังหารเมื่อวันที่ 5 เราะบีอุษษานีย์ 541 ตรงกับวันที่ 14 กันยายน 1146 ซังงีมีบุตร 4 คน ล้วนเป็นคนมีความสามารถทั้งสิ้น ในระหว่างความยุ่งยากนี้พวกคริสต์ในเมืองเอเดสสา คิดกบฏฆ่าทหารมุสลิมที่รักษาเมืองและได้รับความช่วยเหลือจากพวกแฟรงก์ ภายใต้การนำของโยสเซลิน (Joscellin) ยึดเมืองเอเดสสาได้ แต่บุตรสองคนของซังงี ชื่อ นูรุดดีน มะฮฺมูด (ฝรั่งเรียก Noradius) ตีเมืองเอเดสสากลับคืนมาได้ พวกที่ก่อกบฏและทหารแฟรงก์ถูกฆ่า พวกอาร์มิเนียนที่เป็นต้นคิดกบฏถูกเนรเทศ และนูรุดดีนสั่งให้รื้อกำแพงเมือง ผู้คนต่างหนีออกจากเมืองจนเมืองเอเดสสากลายเป็นเมืองร้าง
การสูญเสียเมืองเอเดสสาเป็นครั้งที่ 2 นี้ ได้ก่อให้เกิดการโฆษณาขนานใหญ่ในยุโรป นักบุญเซ็นต์เบอร์นาร์ด (Bernard Clairvaux) ซึ่งฉลาดในการพูดและได้ฉายาว่า ปีเตอร์นักพรตคนที่สอง ได้เที่ยวเทศนาปลุกใจนักรบ ให้ร่วมกันป้องกันสถานกำเนิดแห่งศาสนาคริสต์ เหตุนี้ทำให้พวกคริสเตียนตกใจกลัวยิ่งนักว่า พวกสัลญูกตุรกีจะยกทัพมาตียุโรป และตนจะไม่ได้เป็นเจ้าของศาสนสถานในปาเลสไตน์อีก การปลุกใจครั้งนี้ไม่เร้าใจแต่เพียงขุนนาง อัศวินและสามัญชน ซึ่งเป็นส่วนในสงครามครูเสดครั้งแรกเท่านั้น พวกกษัตริย์ต่าง ๆ ก็พลอยนิยมไปด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสได้ถือเอาสงครามครูเสดเป็นเครื่องเบี่ยงบ่ายการกระทำอันโหดร้าย ต่อพลเมืองบางพวกที่เป็นกบฏต่อพระองค์ กษัตริย์คอนราดที่ 3 แห่งเยอรมันเข้าร่วมทัพด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1147 ข้างพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส มีพระมเหสีร่วมไปในกองทัพด้วย ชื่ออิเลนอร์ (Eleanor of Guienne มเหสีคนนี้ต่อมาไปสมรสกับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 ของอังกฤษ) การที่ราชินีเข้าร่วมกองทัพด้วยทำให้ผู้หญิงฝรั่งเศสอีกจำนวนมากอาสาเข้ากองทัพครูเสด ซึ่งคราวนั้นมีพลประมาณ 900,000 คน พวกฝรั่งเศสได้กระทำชู้กับหญิงในกองทัพอย่างเปิดเผย กองทัพของสองกษัตริย์ได้รับการต่อต้านและเสียหายอย่างหนัก
ส่วนหนึ่งกองทัพของกษัตริย์คอนราดถูกทำลายที่เมืองลาซิกียะหฺ (ภาษาละติน: Laodicea หรือ Latakia) ส่วนกองทัพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ที่ยกมาทางทะเลก็ถูกโจมตียับเยินโดยเฉพาะที่เมืองก็อดมูส (Babadagh ปัจจุบันในตุรกี ภาษาละติน: Cadmus) อย่างไรก็ตามเนื่องจากพวกครูเสดมีกำลังพลมาก จึงเหลือรอดมาถึงเมืองอันติออก ซึ่งเวลานั้นพวกขุนนางและอัศวินจำนวนมากพักอยู่ในเมืองอันติออก ซึ่งเวลานั้นเรย์มอง ผู้เป็นลุงของราชินีอีเลนอร์ เป็นผู้ปกครองเวลานั้นพวกขุนนางและอัศวินจำนวนมากพักอยู่ในเมืองอันติออกเช่น เคาน์เตสแห่งดูลูส (Countess of blois) เคาน์เตสแห่งรูสสี (Countess of Roussi) ดัชเชสแห่งบุยยอง (Duchess of Bouillon), Sybille แห่งฟแลนเดอร์ส และสตรีของผู้สูงศักดิ์อื่น ๆ อีก แต่จอมราชินีของพวกเขา คือมเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 เมื่อพักผ่อนและสนุกสนานกับพวกผู้หญิงเพียงพอแล้ว พวกครูเสดก็ยกทัพเข้าล้อมเมืองดามัสคัส แต่ไม่สำเร็จ เพราะนูรุดดีน และสัยฟุดดีน อัลฆอซี บุตรทั้งสองของซังกี ได้ยกทัพมาช่วย ทั้งกษัตริย์คอนราดแห่งเยอรมนีและพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสได้เลิกทัพกลับยุโรป พวกครูเสดต้องล่าทัพกลับบ้านเมืองด้วยความผิดหวังและสูญเสียอย่างหนัก
ส่วนพวกครูเสดที่มาจากพวกยุโรปเหนือ ก็ได้เคลื่อนทัพจนถึงโปรตุเกส แล้วได้ร่วมมือกับกษัตริย์อัลฟอนโซ เพื่อโจมตีนครลิสบอน และขับไล่พวกมุสลิมออกจากนครนี้ในปี 1147
กองทัพครูเสดจากเยอรมันได้เข้าไปโจมตีพวกสลาฟที่อยู่รอบอาณาเขตอาณาจักรเยอรมัน
จขกท.ยาวหน่อยนะคับยาวมากแต่คือความจิงไม่ใช่แต่งขึ้นมาอย่างมโน
รอติดตามสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนสุดท้ายแล้วนะคับแฮร่ๆ
รูปภาพ:กูเกิล