เบื้องหลังเบื้องลึกโครตๆสงครามโลกครั้งที่1
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาติมหาอำนาจยุโรปไม่มีปัญหากับการรักษาไว้ซึ่งสมดุลของอำนาจทั่วทวีปยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองและทหารอันซับซ้อนทั่วทั้งทวีปจนถึง ค.ศ. 1900[6] พันธมิตรเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1815 ด้วยพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างรัสเซีย รัสเซียและออสเตรีย จากนั้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1873 นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออตโต ฟอน บิสมาร์ก เจรจาตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิระหว่างพระมหากษัตริย์ของออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและเยอรมนี ความตกลงดังกล่าวล้มเหลวเพราะออสเตรีย-ฮังการีและรัสเซียไม่สามารถตกลงกันได้ในนโยบายเหนือคาบสมุทรบอลข่าน ทิ้งให้เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีจัดตั้งพันธมิตรกันสองประเทศใน ค.ศ. 1879 เรียกว่า ทวิพันธมิตรซึ่งถูกมองว่าเป็นวิธีการตอบโต้อิทธิพลของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่านเมื่อจักรวรรดิออตโตมันอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง[6] ใน ค.ศ. 1882 พันธมิตรนี้ขยายรวมไปถึงอิตาลีและเกิดเป็นไตรพันธมิตร[18]
หลัง ค.ศ. 1870 ความขัดแย้งในยุโรปเบี่ยงเบนไปส่วนใหญ่ผ่านเครือข่ายสนธิสัญญาที่มีการวางแผนไว้อย่างระมัดระวังระหว่างจักรวรรดิเยอรมันกับประเทศที่เหลือในยุโรปด้วยฝีมือของนายกรัฐมนตรีบิสมาร์ค เขาเน้นการทำงานเพื่อยึดรัสเซียให้อยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนีเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามสองแนวรบกับฝรั่งเศสและรัสเซีย เมื่อจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเยอรมนี (ไกเซอร์) พันธมิตรของบิสมาร์คค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลง เช่น จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทรงปฏิเสธจะต่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีกับรัสเซียใน ค.ศ. 1890 อีกสองปีต่อมา มีการลงนามจัดตั้งพันธมิตรฝรั่งเศส-รัสเซียเพื่อตอบโต้อำนาจของไตรพันธมิตร ใน ค.ศ. 1904 สหราชอาณาจักรประทับตราเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ซึ่งเรียกว่า ความตกลงฉันทไมตรี และใน ค.ศ. 1907 สหราชอาณาจักรและรัสเซียลงนามในอนุสัญญาอังกฤษ-รัสเซีย ระบบนี้ประสานความตกลงทวิภาคีและก่อตั้งไตรภาคี[6]
อำนาจทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตขึ้นอย่างมากหลังการรวมชาติและการสถาปนาจักรวรรดิใน ค.ศ. 1870 นับตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา รัฐบาลของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ได้ใช้ฐานนี้ในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมันขนานใหญ่ จัดตั้งขึ้นโดยพลเรือเอกอัลเฟรด ฟอน ทีร์พิทซ์ แข่งขันกับกองทัพเรืออังกฤษเพื่อชิงความเป็นเจ้านาวิกโลก[19] ผลที่ตามมาคือ ทั้งสองชาติต่างพยายามแข่งขันผลิตเรือรบขนาดใหญ่ระหว่างกัน ด้วยการปล่อยเอชเอ็มเอส ดรีดนอท ใน ค.ศ. 1906 จักรวรรดิอังกฤษได้ขยายความได้เปรียบเหนือเยอรมนีคู่แข่งอย่างสำคัญ[19] การแข่งขันอาวุธระหว่างอังกฤษและเยอรมนีได้ลุกลามไปยังส่วนที่เหลือของยุโรปในที่สุด โดยประเทศมหาอำนาจทั้งหมดทุ่มเทฐานอุตสาหกรรมของตนในการผลิตยุทโธปกรณ์และอาวุธที่จำเป็นสำหรับความขัดแย้งทั่วทวีปยุโรป[20] ระหว่าง ค.ศ. 1908 และ 1913 ค่าใช้จ่ายด้านการทหารของประเทศในยุโรปเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซนต์[21]
ออสเตรีย-ฮังการีจุดชนวนเร่งให้เกิดวิกฤตการณ์บอสเนีย ค.ศ. 1908-1909 โดยการผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งเป็นอดีตดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างเป็นทางการ หลังได้ยึดครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1878 สร้างความโกรธแค้นแก่ราชอาณาจักรเซอร์เบียและประเทศผู้ให้การสนับสนุน คือ จักรวรรดิรัสเซียซึ่งมีแนวคิดรวมชาติสลาฟ[22] การดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองของรัสเซียในภูมิภาคบั่นทอนเสถียรภาพของสันติภาพควบคู่ไปกับความแตกร้าวที่เกิดขึ้นแล้วในสิ่งที่เป็นที่รู้จักกันว่า "ถังดินปืนแห่งยุโรป"[22]
ใน ค.ศ. 1912 และ 1913 สงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่งสู้รบกันระหว่างสันนิบาตบอลข่านและจักรวรรดิออตโตมันที่เสื่อมอำนาจลงสนธิสัญญาลอนดอนอันเป็นผลของสงครามได้ลดขนาดของจักรวรรดิออตโตมันไปอีก สถาปนาอัลเบเนียเป็นรัฐเอกราช ขณะที่เพิ่มดินแดนให้แก่บัลแกเรีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกรและกรีซ เมื่อบัลแกเรียโจมตีเซอร์เบียและกรีซเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1913 บัลแกเรียก็เสียมาซิโดเนียส่วนใหญ่ให้แก่เซอร์เบียและกรีซ และเสียเซาเทิร์นดอบรูจาให้แก่โรมาเนียในสงครามบอลข่านครั้งที่สองนาน 33 วัน ซึ่งยิ่งบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาคขึ้นไปอีก[23]
วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 กัฟรีโล ปรินซีป นักศึกษาชาวบอสเนียเซิร์บและสมาชิกบอสเนียหนุ่ม ลอบปลงพระชนม์รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย ในซาราเยโวบอสเนีย[24] อันเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินกลยุทธ์ทางการทูตระหว่างออสเตรีย-ฮังการี เยอรมนี รัสเซีย ฝรั่งเศสและอังกฤษ เรียกว่าวิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม โดยต้องการยุติการเข้าแทรกแซงของเซอร์เบียในบอสเนีย ออสเตรีย-ฮังการีจึงยื่นคำขาดเดือนกรกฎาคมแก่เซอร์เบีย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสิบประการซึ่งมีเจตนาทำให้ยอมรับไม่ได้ และเจตนาจุดชนวนสงครามกับเซอร์เบีย[25]เมื่อเซอร์เบียยอมตกลงในข้อเรียกร้องเพียงแปดจากสิบข้อ ออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914
จักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งไม่ต้องการปล่อยให้ออสเตรีย-ฮังการีกำจัดอิทธิพลของตนในบอลข่าน และเพื่อให้การสนับสนุนชาวเซิร์บที่อยู่ในความคุ้มครองเป็นเวลานานแล้ว จึงออกคำสั่งระดมพลบางส่วนในวันต่อมา[18]เมื่อจักรวรรดิเยอรมันเริ่มระดมพลเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ฝรั่งเศส ซึ่งโกรธแค้นจากการยึดครองอัลซาซ-ลอแรนของเยอรมนีระหว่างสงครามฝรั่งเศส-รัสเซีย จึงสั่งระดมพลเช่นกันเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เยอรมนีประกาศสงครามต่อรัสเซียในวันเดียวกัน[26] สหราชอาณาจักรประกาศสงครามต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 หลัง "คำตอบซึ่งน่าพอใจ" ต่อคำขาดของอังกฤษที่เรียกร้องให้เคารพความเป็นกลางของเบลเยียม[27]