โรคอ้วนกับปัญหาของฮอร์โมนสี่ตัว
ดร.วินัย ดะห์ลัน
รู้ๆกันอยู่ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วนคือกินมาก ออกกำลังกายน้อย อย่างไรก็ตาม คนหลายคนกินมากแต่ไม่อ้วนขณะที่มีบางคนกินน้อยกลับอ้วน เหตุที่เป็นอย่างนั้นเป็นผลมาจากเมแทบอลิซึมในร่างกายต่างกัน มีฮอร์โมนอย่างน้อยสี่ตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ลองไปดูกันว่าฮอร์โมนอะไรบ้าง
ฮอร์โมนสี่ตัวที่ทำหน้าที่บัญชาการในเรื่องการกินการอด ได้แก่ อินสุลิน (insulin) สร้างจากตับอ่อน ฮอร์โมนตัวนี้ไม่มีหน้าที่สั่งการสมองแต่เข้าไปบัญชาการโดยตรงที่เซลล์ต่างๆทำให้เซลล์ดึงน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปสร้างพลังงาน หากมีพลังงานเหลือ อินสุลินก็สั่งให้ไปเก็บเป็นไขมัน
ฮอร์โมนที่ทำงานกับสมองมีอยู่สามตัวคือเล็พติน (leptin) สร้างจากเซลล์ไขมันในร่างกายแล้ววิ่งไปยังสมองขอให้สมองสั่งการให้ร่างกายหยุดกินจึงเรียกว่าฮอร์โมนอิ่ม อีกตัวหนึ่งคือกรีลิน (ghrelin) ตัวนี้สร้างที่กระเพาะอาหาร หลั่งออกมาแล้วจึงวิ่งไปสมองเพื่อขอให้สั่งการร่างกายว่าควรกินได้แล้วจึงเรียกกันว่าฮอร์โมนหิว ตัวสุดท้ายสร้างขึ้นจากสมองมีชื่อเรียกว่าโอเร็กซิน (orexin) เป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อการกิน หากไม่ได้กิน สมองจะหลั่งฮอร์โมนตัวนี้ออกมาเพื่อดูแลด้านเมแทบอลิซึม เริ่มกินเมื่อไหร่ ฮอร์โมนโอเร็กซินก็ลดลง
คนอ้วนจำนวนมากอ้วนเพราะชนิดของคาร์โบไฮเดรตที่มีผลทำให้สมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยน ดังเช่น หากบริโภคน้ำตาลกลูโคสหรือไซรัปฟรุคโตสหรือแป้งมากๆ เมื่อเกิดโรคอ้วนแล้ว ยังเกิดภาวะดื้อต่ออินสุลินอีกต่างหาก กรณีที่บริโภคน้ำตาลฟรุคโตสมากๆ ฟรุคโตสเข้าไปรบกวนสมองกระทั่งเกิดภาวะดื้อต่อเล็พติน ส่งผลให้ฮอร์โมนอิ่มทำงานไม่ได้ ในขณะที่ฮอร์โมนหิวทำงานเป็นปกติ เกิดอาการกินทั้งๆที่ไม่หิว
กรณีของฮอร์โมนโอเร็กซิน คนที่มีระดับฮอร์โมนตัวนี้ต่ำจะเกิดปัญหากินมากขึ้น ทั้งยังมีปัญหาง่วงกลางวันชอบงีบหลับบ่อยๆที่เรียกว่า narcolepsy คนที่ชอบนั่งหลับกลางวัน คนที่ยิ่งเครียดก็ยิ่งกิน คนเหล่านี้มักมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโอเร็กซิน หากมีความเข้าใจกลไกการทำงานของฮอร์โมนทั้งสี่ตัว การแก้ปัญหาโรคอ้วนก็ทำได้ไม่ยาก วิธีการง่ายๆคือกินให้น้อยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลทรายและไซรัปฟรุคโตส