ประวัติ พระแก้วมรกต
ประวัติ พระแก้วมรกต (พระพุทธมณีรัตนมหาปฏิมากร) และลำดับการประดิษฐานที่ต่างๆ ขององค์พระแก้วมรกต
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อน(เนไฟรต์) สีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน มีขนาดความกว้าง 19 นิ้ว สูง 28 นิ้ว หลักฐานที่ตรงกันระบุว่าพบครั้งแรก ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดป่าญะ ต. เวียง เมืองเชียงราย (ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว เชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย) และได้มีประวัติการถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ หลายครั้ง จนกระทั่งล่าสุด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) ลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่คนไทยให้ความเคารพบูชาอย่างมากจนถึงปัจจุบัน
ส่วนเรื่องของลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกตว่าถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ อย่างไร ไม่มีใครสามารถชี้ชัดได้ มีเพียงแต่เรื่องราวบอกเล่าคร่าวๆ จากหลักฐานต่างๆ ที่อ้างอิงพบเจอเท่านั้น รวมไปถึงหากจะให้วิเคราะห์ว่า พระแก้วมรกตพระองค์นี้ ควรเป็นของใคร หรือประดิษฐานที่ใด ก็ถือเป็นเรื่องที่เปราะบางมากๆ และขออนุญาตไม่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลด้านล่างนี้เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลความเชื่อที่พบเจอจากแหล่งต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง
ประวัติ พระแก้วมรกต
ตามหลักฐานเท่าที่รวบรวมจากหลากหลายแหล่งข้อมูลยังไม่สามารถระบุได้ว่า พระแก้วมรกตพระองค์นี้ถูกสร้างขึ้นโดยใคร แต่บางแหล่งก็ได้มีการสันนิษฐานที่มาที่ไปต่างๆ จนเล่าสืบทอดกันมาเป็นตำนาน กล่าวว่า พระแก้วมรกตพระองค์นี้ สร้างขึ้นราวปี พุทธศักราช 500 โดยพระนาคเสนเถระ วัดอโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ในแผ่นดินพระเจ้ามิลินท์ (เมนันเดอร์) สมเด็จพระอมรินทราธิราช พร้อมกับพระวิสสุกรรมเทพบุตร ได้นำแก้วโลกาทิพยรัตตนายก อันมีรัตนายกดิลกเฉลิม 1000 ดวง สีเขียวทึบ (หยกอ่อน) นำมาจำหลักเป็นพระพุทธรูปถวายให้พระนาคเสน ถวายพระนามว่า พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต แต่บางตำนานก็ว่า พระนาคเสนเถระ มีดำริจะสร้างพระพุทธรูปด้วยรัตนะ ให้เป็นที่สักการะบูชาของอินทร์ พรหม เทพยดาและมนุษย์ เพื่อให้ธรรมของพระพุทธองค์รุ่งเรืองและมั่นคง ท้าวสักกะเทวราชหรือพระอินทร์ ทราบความคิดของพระเถระ จึงได้จัดหาแก้วอมรโกฏ (แก้วทำโดยเทวดา) สีเขียวมาถวาย และพระวิษณุกรรมได้แปลงร่างเป็นช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสร้างแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูป ปรากฏพระพุทธลักษณะอันงดงามยิ่ง
พระนาคเสนเถระร่วมกับพระอรหันต์ทั้งหลาย และพรหม อินทร์ เทวดา สาธุชน ต่างมีจิตชื่นชมยินดี พากันมาบูชาพระรัตนปฏิมาตลอด 7 คืน 7 วัน พระพุทธรูปอันประเสริฐซึ่งไม่มีชีวิต ก็สำแดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ปรากฎแสงรัศมีแผ่สร้านออกจากองค์พระพุทธรูป
ครั้งนั้น พระนาคเสนเถระใคร่จะส่งเสริมให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง จึงได้อธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ เข้าไปประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกต รวม 7 แห่ง ได้แก่ พระเมาลี (ผมจุก), พระนลาฏ(หน้าผาก), พระอุระ (อก), พระหัตถ์เบื้องขวา (มือขวา), พระหัตถ์เบื้องซ้าย (มือซ้าย), พระชานุเบื้องขวา (เข่าขวา), และพระชานุเบื้องซ้าย (เข่าซ้าย)
ในระหว่างช่วงเวลานั้น เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสนได้พยากรณ์ว่า พระแก้วองค์นี้ จะเสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ในเบญจประเทศ คือ ลังกาทวีป กัมโพชะศรีอโยธยา โยนะวิสัย ปะมะหละวิสัย และ สุวรรณภูมิ ซึ่งต่อมาพระแก้วมรกตได้ตกไปอยู่ที่เมืองลังกา เมืองกัมโพชา เมืองศรีอยุธยา เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพชร และเมืองเชียงราย ตามลำดับ
** แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประวัติช่วงต้นดังกล่าว ก็ถูกท้วงติงว่ามีความขัดแย้งอยู่สูงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าตำนานช่วงต้นนั้นเห็นจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาเนื่องจากไม่สามารถชี้ชัดที่มาที่ไปที่ชัดเจนได้
พุทธศักราช 800 โดยประมาณในแผ่นดินพระเจ้าศิริกิตติกุมาร พระเชษฐราชโอรสในพระเจ้าตักละราช ขึ้นครองราชสมบัติเมืองปาฏลีบุตร (เมืองไชยา) เป็นช่วงที่เมืองปาฏลีบุตรเกิดมหากลียุค ทั้งมีการจลาจลภายในและข้าศึกภายนอก ผู้คนในปาฏลีบุตรที่เคารพนับถือพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต ลงสู่สำเภาแล้วเดินทางลี้ภัยไปยังลังกาทวีป เมื่อถึงลังกาทวีปพระเจ้าแผ่นดินลังกาทวีปในสมัยนั้น(ไม่ได้ระบุพระนาม) ทรงรับรักษาพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตเป็นอย่างดียิ่ง และทรงอุปถัมภ์ค้ำชูชาวปาฏลีบุตรเป็นอย่างดีสมควรตามความดีความชอบ
ปี พ.ศ.1400 กรุงไชยาเกิดอุทกภัย เกิดโรคระบาด จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ( ตามพรลิงค์ ) จนถึงปี พ.ศ.1432 พระเจ้าอนุรุธกษัตริย์พม่าได้ส่งกองเรือสำเภามาทูลขอพระไตรปิฎก พร้อมทั้งพระแก้วมรกต ลงเรือสำเภากลับพม่า เจ้าชายในตระกูลไศเลนทร์วงษ์ โกรธแค้น ได้ฆ่านายท้ายเรือพม่า พร้อมทั้งแล่นเรือกลับด้วยเกรงว่ากษัตริย์ไศเลนทร์วงษ์แห่งเมืองนครศรีธรรมราชจะลงโทษ จึงแล่นเรือเลยไปจนถึงเมืองเขมร ซึ่งมีกษัตริย์ ทรงพระนามพระเจ้า ปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นโอรสของกษัตริย์ไศเลนทร์วงษ์ ซึ่งมารดาเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์เขมรองค์ก่อน ได้ถวายวังให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ชื่อว่า “ นครวัด ”
พุทธศักราช ๑๐๐๐ โดยประมาณในแผ่นดินศรีเกษตรพุกามประเทศ พระมหากษัตริย์ผู้ครองนครขณะนั้นคือพระเจ้าอนุรุทธราชาธิราช(ภาษาบาลี) หรือ มังมหาอโนรธาช่อ(ภาษามอญ) พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระอานุภาพมาก บริบูรณ์ด้วยพลช้างพลม้าและทหารมากมาย แต่พระองค์ก็เป็นกษัตริย์ที่ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง มีพระราชโองการ ให้ส่งพระราชสาส์นและเครื่องมงคลบรรณาการ ไปยังลังกาทวีป เพื่อขอคัดลอกพระไตรปิฎกและขอพระแก้วมรกตกลับมาด้วย แต่เรือที่บรรทุกพระแก้วมรกตถูกพายุพัด พลัดเข้าไปทางอ่าวกัมพูชาแทน พระเจ้านารายณ์ราชสุริยวงศ์ เจ้ากรุงอินทปัตถ์มหานคร แคว้นกัมพูชา สั่งให้อำมาตย์คุมสำเภากลับไปถวายคืนแก่พระเจ้าอนุรุทธ แต่ส่งกลับไปเพียงพระไตรปิฎกเท่านั้น มิได้ส่งพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตไปด้วย
หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่กรุงอินทปัตถ์นานพอสมควร ราวๆ ปีพุทธศักราช ๑๕๙๒ ในแผ่นดินพระเจ้าเสน่ห์ราช เกิดจลาจลรบพุ่งแย่งชิงราชสมบัติ พายุฝนขนาดใหญ่ตกเป็นนิจกาลยาวนานหลายเดือน พระเจ้าเสน่ห์ราชก็สวรรคตด้วยอุทกภัยนั้น พระมหาเถระ(ไม่ปรากฏพระนาม) ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสำเภาหนีไปยังที่ดอน ณ กรุงละโว้ (ลพบุรี) ถวายพระเจ้ากรุงละโว้ เพราะเป็นเครือญาติกับกษัตริย์เขมร
ต่อมาราวปีพุทธศักราช ๑๕๙๒ พระเจ้าอติตะราช (อาทิตยราช) ราชวงศ์อู่ทอง เจ้าครองนครอโยธยา(หมายถึงอโยธยาโบราณ) ทราบเรื่องจึงเสด็จกระบวนพยุหยาตรา ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ในที่ปลอดภัย โดยทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานในพระมหาเวชยันตปราสาท และได้ประดิษฐานในนครอโยธยาอีกหลายรัชสมัย
เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระบรมญาติกับกษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น จึงทูลขอนำพระแก้วมรกตขึ้นไป ประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายรัชสมัย จนประมาณปีพุทธศักราช ๑๙๐๐ ซึ่งปัจจุบันก็คือวัดพระแก้วกำแพงเพชร ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต่อมา เจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าผู้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือสามหัวเมือง คือเชียงราย เชียงแสน และเมืองฝางได้ลี้ภัยจากศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่ ไปอาศัยอยู่กับพระยาญานดิส เจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อจะกลับไปเมืองเชียงราย ก็ได้ทูลขอพระแก้วมรกตต่อพระเจ้ากำแพงเพชร พระเจ้ากำแพงเพชรจึงได้ถวายให้เจ้ามหาพรหม
เมื่อเจ้ามหาพรหมชราภาพลง ด้วยความเป็นห่วงในพระแก้วมรกต จึงได้ทำการพอกปูนจนทึบและลงรักปิดทองเสมือนพระพุทธรูปสามัญทั่วไป แล้วบรรจุเก็บไว้ในเจดีย์วัดป่าญะในเมืองเชียงรายโดยไม่มีใครรู้ จนกระทั่งเกิดอัสนีบาตลงเจดีย์ตามที่ปรากฏในพงศาวดารของล้านนา
บ้างก็ให้เหตุที่ต้องพอกปูนเข้าใจว่าเพื่อซ่อนเนื้อแก้วไว้ไม่ให้ใครรู้ เพราะสมัยนั้น พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่นครเชียงราย พระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ ทำสงครามกับพระเจ้าพรหม เจ้านครเชียงราย เพื่อจะนำพระพุทธสิหิงค์ไปเชียงใหม่ เจ้าครองนครเชียงรายเกรงว่าหากเสียทีในการรบ จะเสียพระแก้วมรกตไปพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ หากจะต้องเสียก็ยอมให้แต่พระพุทธสิหิงค์องค์เดียว จึงหาวิธีอำพรางซ่อนพระแก้วมรกตให้มิดชิด ใครพบก็เห็นเป็นเพียงพระพุทธรูปธรรมดา ไม่ได้ให้ความสนใจ
เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๙ เกิดฟ้าผ่าที่องค์เจดีย์ ชาวเมืองได้เห็นพระพุทธรูปปิดทองปรากฎอยู่ คิดว่าเป็นพระพุทธรูปศิลาทั่วไป จึงได้อัญเชิญไปไว้ในวิหารในวัดแห่งหนึ่ง ต่อมาปูนที่ลงรักปิดทองได้กะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก เห็นเป็นเนื้อแก้วสีเขียว จึงได้แกะปูนออกทั้งองค์ จึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วทึบทั้งองค์ ผู้คนจึงพากันไปนมัสการ พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงจัดกระบวนไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาเชียงใหม่ แต่ช้างที่ใช้อัญเชิญได้หันเหไปทางลำปางถึงสามครั้ง จึงต้องยอมให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ นครลำปางถึง ๓๒ ปี ที่วัดพระแก้ว ยังปรากฎอยู่ถึงปัจจุบันนี้
เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๑ พระเจ้าติโลกราชครองเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ เป็นเวลา ๘๔ ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๔ พระเจ้าไชยเชษฐา โอรสพระเจ้าโพธิสาร ซึ่งเป็นพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระอัยกา ครั้นเมื่อพระเจ้าโพธิสารทิวงคต ทางกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงเชิญพระเจ้าไชยเชษฐา กลับไปเมืองหลวงพระบาง จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๕ และได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง ๑๒ ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๗ ได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย พระแก้วมรกต ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์อีก ๒๑๔ ปี
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในเวลาต่อมา) ได้ยกกองทัพ ไปตีอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ได้เมืองเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมกับพระแก้วขาว และ พระบาง มายังกรุงธนบุรีด้วย โดยได้นำไปประดิษฐานไว้ ณ โรงพระแก้วในบริเวณพระราชวังเดิม จนกระทั่งต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ได้ครองราชย์ที่กรุงรัตนโกสินทร์ ในปีพ.ศ. ๒๓๒๕ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสนาดาขึ้น ในพระบรมมหาราชวัง และได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ จนปัจจุบัน
พระแก้วมรกตนี้ พบในพระสถูปเจดีย์ "วัดป่าญะ" (ปัจจุบันคือ วัดพระแก้ว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) สถูปเจดีย์ถูกฟ้าผ่าพังลง พบพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองทั่วทั้งองค์ ต่อมามินาน ปูนที่ลงรักปิดทองกระเทาะออก เห็นเป็นพระพุทธรูปแก้วสีเขียวงามอยู่ภายใน
ภาพเส้นทางพระแก้วมรกต และจำนวนปีประดิษฐาน
1. ไชยา ( ปาฏลีบุตร ) พ.ศ. 1260 – 1400 รวม 140 ปี
2. นครศรีธรรมราช ( ตามพรลิงค์ ) พ.ศ.1400 – 1432 รวม 32 ปี
3. นครวัด ( เขมร ) พ.ศ. 1432 – 1545 รวม 113 ปี
4. ลพบุรี ( ละโว้ ) พ.ศ. 1545 – 1592 รวม 47 ปี
5. อโยธยา ( อู่ทอง ) พ.ศ. 1592 – 1730 รวม 138 ปี
6. กำแพงเพชร พ.ศ. 1730 – 1900 รวม 170 ปี
7. เชียงราย พ.ศ. 1900 – 2019 รวม 119 ปี
8. ลำปาง พ.ศ. 2019 – 2022 รวม 4 ปี
9. เชียงใหม่ พ.ศ. 2022 – 2095 รวม 73 ปี
10. หลวงพระบาง ( ลาว ) พ.ศ. 2095 – 2107 รวม 12 ปี
11.เวียงจันทน์ ( ลาว ) พ.ศ. 2107 – 2322 รวม 215 ปี
12. ธนบุรี พ.ศ. 2322 – 2327 รวม 5 ปี
13. กรุงเทพฯ พ.ศ. 2327 – ปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย พล.อ.ต. วินิจ หุตะเจริญ
ที่มาและรายละเอียด:
http://www.dhammachak.net/board/viewtopic.php?f=14&t=57
## เครื่องทรง ##
เมื่อคราวที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานในพระอุโบสถนั้น ได้มีพระราชศรัทธาโปรดให้จัดสร้างเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝน ถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นพุทธบูชา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการลที่ ๓ โปรดให้จัดสร้างเครื่องทรงฤดูหนาว
ถวายเป็นพุทธบูชาเพิ่มอีกหนึ่งชุด พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจึงมีเครื่องทรงครบ ๓ ฤดู ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงทั้งสามฤดูทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน
พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์จะทรงประกอบพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในวันเริ่มฤดูเป็นประจำทุกปี กรณีที่ทรงติดพระราชภารกิจอื่นไม่อาจเสด็จด้วยพระองค์เองได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ สำหรับกำหนดเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มีดังนี้
1. ฤดูร้อน กำหนดวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ราวเดือนมีนาคม
2. ฤดูฝน กำหนดวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ราวเดือนกรกฎาคม
3. ฤดูหนาว กำหนดวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ราวเดือนพฤศจิกายน
พระบาง
ส่วนพระบางพระราชทานคืนให้แก่ลาว ซึ่งถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานอยู่ ณ หอพระบาง พิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว จนปัจจุบัน
พระบาง เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรหรือปางห้ามญาติ สูงสองศอกเจ็ดนิ้ว (ประมาณ ๑.๑๔ เมตร) หล่อด้วยสำริด (ทองคำผสม ๙๐ เปอร์เซ็นต์) มีอายุอยู่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตามศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย โดยมีพุทธลักษณะคือ ประทับยืนยกพระหัตถ์ขึ้น นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์บาง พระเศียร และพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง ปั้นพระองค์เล็ก พระโสภีใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม แลเห็นแถบสบง และหน้านาง
พระบางเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง แต่ชาวอีสานมีความเลื่อมใสมากและมักจะจำลองพระบางมาไว้ที่วัดสำคัญ ๆ ของท้องถิ่น เช่น พระบางวัดไตรภูมิ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และพระบางจำลองวัดพระเหลา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นต้น พระบางเป็นพระพุทธรูปที่เคยอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ถึง 2 ครั้ง และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสังคมอีสานอยู่เนือง ๆ
พระบางเดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนเมื่อ พ.ศ. 1902 พระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางเพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทองอันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้น แต่เมื่ออันเชิญพระบางมาได้ถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณแถบเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้จนถึง พ.ศ. 2055 อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุณราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงสามารถนำเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุนราชในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระยศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะนั้น) ได้ยกทัพเข้ายึดครองอาณาจักรล้านช้างไว้ได้ จึงได้อาราธนาพระบาง พร้อมทั้งพระแก้วมรกต ลงมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้พระราชทานพระบางคืนให้แก่ล้านช้างดังเดิม
ปัจจุบันพระบางประดิษฐานอยู่ที่ หอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง
และ ชาวหลวงพระบางจะมีการจัดประเพณีแห่พระบาง และสรงน้ำพระบาง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ ซึ่งตรงวันที่ 13-16 เมษายน ของทุกปี เช่นเดียวกับปีใหม่ไทย โดยปีใหม่ลาวที่หลวงพระบางเป็นงานเทศกาลที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยจะจัดเป็นเวลาสี่วัน
พระแก้วขาว หรือ พระเสตังคมณี
พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปสลักจากแก้วสีขาวใส มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 6 นิ้ว ตำนานกล่าวว่าเป็นศิลปะสกุลช่างละโว้ ปัจจุบันประดิษฐานคู่กับพระศิลา ซึ่งเป็นพระปางปราบช้างนาฬาคีรี ภายในพระวิหารวัดเชียงมั่น ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
****
admin:
*****
## วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย ##
วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์ ใจกลางเมืองเชียงราย วัดนี้เองที่ได้ค้นพบ พระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๗ ในสมัย พระเจ้า สามฝั่งแกน เป็นเจ้าเมือง ครองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่า เจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบ พระพุทธรูปลงรักปิดทอง อยู่ภายในเจดีย์ ต่อมารักกะเทาะออก จึงได้พบว่า เป็นพระพุทธรูป สีเขียวที่สร้างด้วยหยก ซึ่งก็คือ พระแก้วมรกตนั่นเอง ปัจจุบัน
วัดพระแก้ว เชียงราย เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมชาวบ้านเรียกว่า "วัดป่าเยียะ" ซึ่งมีคึวามหมายว่าวัดป่าไผ่ เพราะบริเวณวัดมีไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่ง คล้าย ไผ่สีสุก ไม่มีหนาม ชาวบ้านนิยมนำมาทำหน้าไม้ และค้นธนู ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานของ พระหยก เป็นพระพุทธรูปหยกที่คณะสงฆ์ และพุทธสาสนิกชนชาวเชียงรายร่วมกันสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนีมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ต.ค. พ.ศ. 2533 พระองค์ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปหยกองค์นี้ว่า "พระพุทธรัตนากรนวุติวัสสานุสรณ์มงคล" อันมีความหมายว่าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตนะ และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามสามัญว่า " พระหยกเชียงราย" โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 ก.ย. พ.ศ.2534 และชาวเมืองเชียงรายได้อัญเชิญมาประดิษฐ ณ วัดพระแก้วจนถึงปัจจุบัน
*****
## วัดพระแก้ว จังหวัด กำแพงเพชร ##
วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ใจกลางเมืองของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถานมรดกโลกใน อยู่ติดกับตัวเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน ผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพงเมือง ภายในวัดปรากฎร่องรอยฐานเจดีย์แบบต่างๆ รวม 35 ฐาน วิหารต่างๆ รวม 8 แห่ง และฐานโบสถ์รวม 3 แห่ง ซึ่งแสดงถึงการเป็นวัดใหญ่ที่มีความสำคัญมากมาก่อน บริเวณกลางวัดมีเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่แบบลังกาเป็นเจดีย์ประธาน ที่ฐานโดยรอบทำเป็นซุ้มคูหามีสิงห์ยืนอยู่ภายใน
*****
## วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จ.ลำปาง ##
วัดพระแก้วดอนเต้่าสุชาดาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง บริเวณที่ตั้งวัดเป็นเนินดินสูงขนาดใหญ่ แต่เดิมวัดพระแก้วดอนเต้ากับวัดสุชาดารามเป็นคนละวัด แต่ตั้งอยู่ติดกัน ต่อมาภายหลังได้มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการให้ทั้งสองวัดเป็นวัดเดียวกัน จึงได้มีการรื้อกำแพงกั้นเขตวัดออก
วัดพระแก้วดอนเต้า เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติความเป็นมามากกว่า ๕๐๐ ปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระเจ้าสามฝั่งแกนเจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้จัดขบวนช้างไปรับพระแก้วมรกตจากเชียงราย เพื่อจะอัญเชิญมาประดิษฐานยังนครเชียงใหม่ ครั้นถึงทางแยกเมืองนครลำปาง ช้างก็ตื่นวิ่งเข้าไปในนครลำปาง ในที่สุดพระเจ้าสามฝั่งแกนต้องยินยอมให้พระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้วดอนเต้าเป็นเวลาถึง ๓๒ ปี ต่อจากนั้นจึงอัญเชิญไปประดิษฐานยังเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
วัดสุชาดาราม ตามประวัติกล่าวว่า คือบริเวณที่ตั้งบ้านของนางสุชาดา อุบาสิกาผู้หนึ่งของวัดพระแก้ว ฯ ที่ได้นำแตงโมลูกหนึ่งไปถวายพระเถระที่วัดพระแก้ว ฯ ครั้นผ่าแตงโมลูกนั้นออก ก็พบว่ามีมรกตอยู่ข้างใน พระเถระรูปนั้นจึงจ้างช่างให้นำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป เรียกว่า พระแก้วดอนเต้า ต่อมาได้มีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางในขณะนั้นว่า พระเถระและนางสุชาดาเป็นชู้กัน เจ้าเมืองลำปางจึงให้จับนางสุชาดาไปประหารชีวิต ส่วนพระเถระองค์นั้นทราบข่าวก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหนีไป โดยได้นำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน ส่วนสถานที่ตั้งบ้านของนางสุชาดาก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาในคุณงามความดีของนาง บริจาคเงินสร้างวัดขึ้นชื่อวัดสุชาดาราม
วัดพระแก้วดอนเต้่าสุชาดาราม มีพระเจดีย์ใหญ่ทรงล้านนา มีมณฑปยอดปราสาทแบบพม่าที่ประณีตงดงาม มีพระวิหารทรงล้านนาที่มีรูปทรงงดงาม มีลวดลายแกะสลักไม้ที่บานหน้าต่าง ข้างในมีจิตรกรรมฝาผนังที่มีคุณค่าทางศิลปะ และประวัติศาสตร์ มีพระอุโบสถทรงล้านนาขนาดกะทัดลัด มีสัดส่วนสวยงาม วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐
*****
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลทั้งหมด
- http://www.yenta4.com/
- http://www.dhammathai.org/
- http://www.paiduaykan.com/